กสท.ถกร่างประกาศส่งเสริมสื่อรวมกลุ่มกำกับจริยธรรมกันเอง / เครือบีอีซีโดนสอบทานค่าธรรมเนียม
/จ่อเพิกถอนทุกช่องรายการซีทีเอช ขึ้นบัญชีกรรมการบริษัท
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 4/60 วันจันทร์ที่ 30 ม.ค. 60 มีวาระน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณา(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. … หลังจาก บอร์ด กสท. มีมติให้มีการนำ(ร่าง)ประกาศฉบับนี้ ไปรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งมีสาระสำคัญ 6 หมวด ได้แก่ บททั่วไป การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรับจดแจ้งองค์กร หน้าที่ขององค์กร การจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม การจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมเพื่อกำกับดูแลกันเอง การจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมเพื่อกำกับดูแลกันเอง และการได้รับและการเพิกถอนการสนับสนุน รวมทั้งภาคผนวก มาตรฐานจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพกระจายเสียงและโทรทัศน์
“ร่างประกาศ กสทช. ฉบับนี้ จะสนับสนุนการปฏิรูปจริยธรรมสื่อผ่านกลไกการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อการกำกับดูแลกันเองที่มีจุดยึดโยงกับ กสทช. เป็นการยกระดับการทำหน้าที่ของสื่ออย่างมีเสรีภาพ โดยเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น ทั้งนี้ มีรายละเอียดและเนื้อหาต่างจาก ร่าง พ.ร.บ.สื่อที่นำเสนอโดย สนช. ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อกำลังคัดค้านในวันนี้” สุภิญญา กล่าว
กสท.เตรียมพิจารณา วาระ บ.บีอีซี – มัลติมีเดีย จำกัด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง มาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในการชี้แจงแหล่งที่มารายได้ของช่องดิจิตอล 33 HD จากการประเมินค่าเสียโอกาส(ค่าโฆษณา+ค่าเช่าเวลา)ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากต้องนำสัญญาณโทรทัศน์ช่อง 3 แอนะล็อกมาออกอากาศคู่ขนานช่องดิจิตอล 33 HD
นางสาว สุภิญญา กล่าวว่า กรณีการสอบทานอัตราค่าธรรมเนียมทุกช่องแอนะล็อกเดิมที่ได้สิทธิ์ออกผังคู่ขนานนั้นมีประเด็นมานานแล้ว ที่ผ่านมาพบว่าบางรายแสดงรายได้จากใบอนุญาตช่องแอนะล็อกเดิม ทั้งนี้ ช่องแอนะล็อกได้รับการคุ้มครองไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในเรื่องต้นทุนกับช่องดิจิตอลรายใหม่ ซึ่ง กสทช.ควรมีแนวทางกำหนดสัดส่วนการจ่ายค่าธรรมเนียมช่องคู่ขนาน ระหว่างรายได้ช่องแอนะล็อกและช่องดิจิตอลให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อนำส่งรายได้เข้ารัฐอย่างถูกต้องและการแข่งขันเสรีเป็นธรรมต่อช่องใหม่ด้วย
นอกจากนี้ กสท. เตรียมประชุมวาระ ผลการตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด หลังจากได้ถูกมติเพิกถอนใบอนุญาตโครงข่าย เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 59 เนื่องจากเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม มติ กสท. ที่กำหนดให้จัดส่งแผนดำเนินการเยียวยาผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการยกเลิกกิจการ พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลอื่นๆประกอบการพิจารณา ให้ กสท. ทราบก่อนยุติการให้บริการโครงข่าย จึงส่งผลให้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 8 มาตรา 14 และมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ซึ่งในการประชุม กสท. จะพิจารณาเพื่อให้บันทึกข้อมูลบริษัทและคณะกรรมการบริษัททั้ง 5 คน ว่าเป็นนิติบุคคลและไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ยื่นคำขอรับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พร้อมทั้งควรพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตช่องรายการ นับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 59 ซึ่งประกอบด้วย ช่อง FOX, Star World, STADIUM, National Geographic Paramount Dreamworks กลุ่มช่องข่าวต่างประเทศ อาทิ NHK World TV Channel News Asia France24 Sky News Euro News และช่องอื่นๆรวม 41 ช่อง
วาระอื่นๆ น่าจับตา ได้แก่วาระ แนวทางต่อกรณีผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรทัศน์ กิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ แสดงรายได้จากการประกอบกิจการ เป็นจำนวนเงินศูนย์บาท วาระการพักใช้ใบอนุญาตสำหรับผู้ที่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี วาระการขอขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลขององค์การกระจายเสียงแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ไทยพีบีเอส) และวาระอื่นๆ ติดตามในการประชุมวันจันทร์ นี้……