เปิดความเห็น : กรณีการตรวจสอบพบการออกอากาศรายการ Wake Up News เมื่อวันที่ 15 และ 16 สิงหาคม 2559 ทางช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ช่อง Voice TV มีเนื้อหาไม่เหมาะสม, ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการเพื่อให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่แบบบอกรับสมาชิก ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด จำนวน 3 ช่องรายการ

ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 29/2559 วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม 2559 กสทช.สุภิญญา กลางณรงค์ ได้เปิดเผยความเห็นในการพิจารณาสองวาระ เพื่อบันทึกในรายงานการประชุม กสท. ดังต่อไปนี้

วาระ 4.4 เรื่องผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการเพื่อให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่แบบบอกรับสมาชิก ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด จำนวน 3 ช่องรายการ

วาระ 4.23 เรื่องร้องเรียน กรณีการตรวจสอบพบการออกอากาศรายการ Wake Up News เมื่อวันที่ 15 และ 16 สิงหาคม 2559 ทางช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ช่อง Voice TV มีเนื้อหาไม่เหมาะสม

ดิฉันขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้  เนื่องจากเห็นต่างจากข้อวิเคราะห์ของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการเสียงข้างมากที่เห็นว่า การออกอากาศรายการ Wake Up News เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 และวันที่ 16 สิงหาคม 2559 มีลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และประกาศ คสช.ฉบับที่ 103/2557 อีกทั้งยังเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงลงวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ระหว่างสำนักงาน กสทช. และผู้รับใบอนุญาตช่องรายการ Voice TV โดยมีเหตุผลดังนี้

1.      ดิฉันเห็นว่า การนำเสนอเนื้อหารายการมีลักษณะของการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง ได้แก่
การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผู้อยู่เบื้องหลังการวางระเบิดในหลายจังหวัดภาคใต้ โดยสัมภาษณ์นักวิชาการ และผู้ดำเนินรายการได้แสดงความเห็นและวิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อวิเคราะห์ของอนุกรรมการเสียงข้างมากเห็นว่า ผู้ดำเนินรายการมีเจตนาที่จะนำเสนอเนื้อหารายการด้วยความลำเอียง ไม่เป็นกลาง ขัดต่อหลักการนำเสนอที่ดีของสื่อมวลชนและชี้นำความคิดของประชาชน สำหรับกรณีการนำเสนอข่าว ไผ่ ดาวดิน ผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และได้ทำการอดอาหารประท้วงในเรือนจำ เสียงข้างมากของคณะอนุกรรมการเห็นว่า รายการเลือกโดยนำเสนอข่าวในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนเพียงด้านเดียว ตลอดจนนำเสนอภาพเสียงที่ถือเป็นการนำเสนอที่ลำเอียงโดยขาดมุมมองและข้อเท็จจริงด้านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ได้มีการดำเนินการต่อบุคคลดังกล่าว ดิฉันมีความเห็นว่า กรณีทั้งสองที่นำมาเป็นตัวอย่าง โดยหยิบยกประเด็นเรื่องความลำเอียง ความไม่เป็นกลางในการนำเสนอข่าวนั้น ไม่อาจถือเป็นเหตุผลเข้าข่ายความผิดตามองค์ประกอบของมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ในทางกลับกัน ดิฉันยังเห็นว่า การนำเสนอข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงประกอบกับความคิดเห็นของนักวิชาการ ในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ และหากอนุกรรมการเห็นว่าผู้ดำเนินรายการดังกล่าวมีลักษณะลำเอียง หรือ ไม่เป็นกลาง กรณีนั้น ๆ ควรได้รับการพิจารณาภายใต้กรอบของจรรยาบรรณวิชาชีพ มิใช่การนำเสนอเนื้อหาที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น หาก กสท.เห็นชอบว่า การนำเสนอข่าวสารข้อมูลที่ลำเอียง โดยนำเสนอมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนด้านเดียว และถูกตัดสินว่าเป็นการนำเสนอที่เข้าข่ายผิดกฎหมายแล้ว ย่อมอาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งได้ว่า กรณีการนำเสนอข่าวที่ลำเอียงเข้าข้างรัฐบาลหรือเปิดพื้นที่ในการสัมภาษณ์เฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น จะถือว่าเป็นการนำเสนอที่ลำเอียง ขาดมุมมองของผู้เห็นต่างหรือไม่ ได้เช่นเดียวกัน

2.      ข้อพิจารณาต่อกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริง ดิฉันมีข้อสังเกตเช่นเดียวกับการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องในครั้งที่ผ่านมา  ตามบันทึกข้อความ ที่ สทช 1003.9/135 วันที่ 11 สิงหาคม 2559 ซึ่งดิฉันเห็นว่า กสท.ควรวางแนวปฏิบัติและบรรทัดฐานในการพิจารณากรณีด้านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเชิญผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาให้ความเห็นประกอบการพิจารณา นอกเหนือจากตัวแทนจากหน่วยงานความมั่นคง แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งที่ผ่านมาในการพิจารณากรณีช่องรายการ Peace TV กสท.ได้มีมติให้เชิญผู้แทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาให้ความเห็นประกอบ ดังนั้นการดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงในกรณีอื่น ๆ จึงควรยึดแนวปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

3.      กรณีที่พิจารณาในวาระนี้พบว่า สำนักงาน กสช.ได้ทำหนังสือขอสอบถามความเห็นเฉพาะไปยังหัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อ ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 และต่อมา ในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 คณะทำงานติดตามสื่อฯ ได้ทำหนังสือตอบกลับโดยมิได้มีการชี้ชัดในรายละเอียดว่า เนื้อหาการออกอากาศในส่วนใดมีลักษณะที่เข้าข่ายว่าเป็นการกระทำอันเป็นการขัดต่อประกาศ คสช. และขาดข้อสนับสนุนที่ชัดเจนในการใช้ดุลพินิจของกสท.  นอกจากนี้ ดิฉันยังเห็นว่า หากที่ประชุมไม่ได้พิจารณาถ้อยคำหรือข้อโต้แย้งของผู้รับอนุญาตที่ถูกกล่าวหา การใช้ดุลพินิจเพื่อมีคำสั่งลงโทษย่อมไม่เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านหรือครบถ้วน ดังนั้นการพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อมีคำสั่งทางปกครองซึ่งกระทบถึงสิทธิของผู้รับอนุญาตในกรณีนี้ จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมิได้พิจารณาข้อโต้แย้งหรือพยานหลักฐานของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด ซึ่งขัดหรือแย้งต่อขั้นตอนในการพิจารณามีคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

4.      ในแง่ของการพิจารณาการกำหนดบทลงโทษ หากมีการกระทำความผิดด้านเนื้อหารายการ ดิฉันเห็นว่า ควรจะต้องเป็นไปตามองค์ประกอบของมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบการกิจการกระจายเสียงฯ และพิจารณาโทษปรับทางปกครองตามลำดับ  ทั้งนี้ ดิฉันมีข้อสังเกตว่า การมีคำสั่งให้พักรายการ Wake up News ของผู้ได้รับอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ Voice TV มิได้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตามข้อ 19 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 กล่าวคือ ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตฯ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือสั่งให้ระงับการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน หรือแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งรวมถึงการสั่งให้ชี้แจงหรือส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งการดำเนินการตามข้อ 19 ของประกาศหลักเกณฑ์เป็นกระบวนการขั้นตอนในชั้นของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามประกาศนี้เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการมิให้ผู้ได้รับอนุญาตกระทำการที่อาจเป็นการฝ่าฝืนได้อย่างรวดเร็ว โดยกำหนดขั้นตอนเกี่ยวกับสิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามข้อ 20 ของประกาศหลักเกณฑ์ฉบับเดียวกัน อย่างไรก็ตามแม้คณะกรรมการอาจเป็นผู้ใช้อำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการในชั้นนี้ได้โดยตรง แต่การอาศัยฐานอำนาจตามข้อ 19 ของประกาศหลักเกณฑ์ เพื่อมีคำสั่งพักรายการอันเป็นขั้นตอนของการเอาผิดหรือการกำหนดโทษผู้รับอนุญาต อาจเป็นกรณีที่ กสท.ใช้อำนาจไม่สอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด”

Download (Comment-NBC-29-591.pdf,PDF, Unknown)