Feb 15, 2016
A summary from Broadcast Panel’s meeting today & my opinion on a current news on politics & religion in Thailand plus with my reflection from ‘Spotlight.’ Then prep for NBTC Panel’s tmr on annual budget for 2016.
วันนี้เขียนยาว เรื่องสรุปมติ กสท. และ คหสต. ประเด็นจากข่าวการเมืองเรื่องศาสนา และ ภาพยนตร์ สปอตไลท์
ขอสรุป มติ กสท. วันจันทร์ที่ผ่านมาก่อน
(15 ก.พ. 59) ดังนี้นะคะ
วาระ4.15 บอร์ด กสท.4:1 เห็นว่ารายการ The Daily Dose ช่อง VoiceTV ขัดประกาศ คสช. ทางช่องเองก็ยอมรับผิดด้วยการลงโทษตนเอง ดิฉันเห็นต่างอีกแล้ว ทางช่อง @Voice_TV ทำจดหมายแจ้งว่าจะหยุดออกอากาศรายการ The Daily Dose 3 วัน และพักการดำเนินรายการของคุณปลื้มใน Voice Insights ไป 1 อาทิตย์ ความเดิมคือ สำนักงาน กสทช.มอนิเตอร์ รายการ The Daily Dose วันที่ 5 ก.พ. 59 แล้วชงเรื่องเข้าอนุกำกับเนื้อหาฯ ว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม ขาดความสมดุล ไม่เป็นกลาง มีการพาดพิงองค์กรอิสระ วิจารณ์ร่าง รธน.ฯลฯ มติ อนุเนื้อหา7:1 เห็นว่า ขัดประกาศ คสช. ก่อนเสนอ กสท.วันนี้
หลังที่อนุเนื้อหาฯเชิญตัวแทนช่อง @Voice_TV มาชี้แจง ทางช่องก็ส่งจดหมายว่าพร้อมที่จะพักรายการนี้ 3 วัน และพักงานคุณปลื้ม ก่อนชงเรื่องเข้า กสท. พอเรื่องเข้า กสท.วันนี้ บอร์ด 4:1 เสียงก็เห็นชอบตามที่อนุเนื้อหาฯและช่อง Voice TVเสนอมาให้ช่องลงโทษตนเองไปตามนั้น (แต่ไม่ได้เพิ่มโทษปรับใด) ส่วนดิฉันก็ตามฟอร์ม ถ้าวิจารณ์การเมืองแบบสุภาพ ยังไม่ล้ำเส้นตามดุลยพินิจ #คหสต.ก็ยังไม่คิดว่าผิดกฏหมาย (แต่ที่ช่องลงโทษตนเองไปก็เข้าใจได้).
สรุป มติวันนี้เราคิดต่างจากเพื่อนอีกแล้ว โดนบอร์ดท่านอื่นแซวว่า เราต้องคิดตรงข้ามเขาประจำเวลาเรื่องแบบนี้มา (คือจากตึงๆกันเป็นขำกันไป เฮ้อ) พูดตรงๆว่า เนื้อหามันไม่ได้แรงไรขนาดนั้น ถ้าวิเคราะห์ข่าวการเมืองแบบนี้ไม่ได้ ช่องอื่นๆก็คงไม่ได้หมด ช่องนี้ก็ระวังจนเรตติ้งอยู่ท้ายสุดละ
คหสต. แปลกใจเหมือนกันที่ทางช่อง VoiceTV ยอมถอยลงโทษตนเองโดยการพักรายการ พักคนจัด นานๆจะเห็นช่องทีวีมีมาตรการลงโทษตนเองแบบนี้ เวลาช่องอื่นๆละเมิดสิทธิมนุษยชนคนเล็กคนน้อย เราไม่ค่อยเห็นสื่อยอมลงโทษตนเองบ้าง แต่พอเป็นการเมืองเรื่องอำนาจ มันก็เกิดขึ้นได้ … เอวัง … สรุป เคสนี้ บอร์ด กสท.เสียงข้างมาก ก็ไม่ได้มีมติปรับช่อง @Voice_TV แต่อย่างใด เป็นการยินยอมพักรายการของทางช่องเอง 3 วัน จบข่าว แต่มีช่องทีวีดาวเทียมเจอปรับฐานขัดมาตรา 37 แทน เพราะใช้คำบรรยายการมีเพศสัมพันธ์ออกโฆษณาออกทีวีโจ๋งครึ่มเกินกว่าเหตุ ยังไม่บอกว่าช่องไหน
อีกทั้งวันนี้มีวาระลงโทษช่องทีวีดาวเทียมโฆษณาผิด อย.เข้าด้วย มีวาระเข้ามาเป็นระยะ แต่ก็ยังปราบไม่หมดสักที ช่องผิดซ้ำซากเตรียมเจอโทษหนักขึ้นเรื่อยๆ วาระเรื่องร้องเรียนรายการ The Lover Machine วงล้อลุ้นรัก ช่อง 33HD มีมติให้แจ้งเตือนไม่ให้ลามกอนาจารและปรับเรทใหม่ให้เหมาะสม
วาระร้องเรียน รายการตื่นมาคุย ช่อง MCOT HD มีโฆษณาแฝง อนุเนื้อหาบอกไม่ขัดมาตรา37 แต่ส่งให้อนุผู้บริโภคพิจารณาเรื่องโฆษณาเอาเปรียบหรือไม่ วาระร้องเรียนละคร เรือนร้อยรัก ช่อง ONE มติให้ไปปรับเรทให้เหมาะสม และปรับเนื้อหาให้ตรงตามเรท ท ทหาร ตามประกาศผังฯ ถ้านำมาออกซ้ำกลางวัน มีมติจากวาระอื่นที่สำคัญอีก แต่ยาว ต้องอธิบายซับซ้อน ขอแปะไว้ก่อนค่ะ อาทิ กรณี Z PayTV / การบังคับ @TrueVisions ที่ยังไม่เรียงช่องเพิ่มเติม
วาระผลการสำรวจช่องเด็ก ที่มีเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายครอบครัว ที่ กสท.ข้างมากให้เก็บไว้เป็นข้อมูลก่อน แต่ ข้างน้อยเห็นว่าควรนำมากำกับเพิ่ม คืนนี้เตรียมประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. นัดพิเศษพรุ่งนี้เรื่องงบประมาณ ปี 2559 ตามวาระดังรูป ไว้มาเล่าต่อวันหลังนะคะ
…..
วันนี้มีข่าวพระเยอะ ตามแล้วชวนปลงเลย ทุกเรื่องมีการเมือง รวมศาสนา ต้องใช้ธรรมะทำความเข้าใจ *อิทัปปัจจยตา* เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี ในทางโลกทุกเรื่องแบบล้วนเป็น performer หรือนักแสดงบทบาทตามความเชื่อและผลประโยชน์ ส่วนทางธรรมเป็นเรื่องของปัจเจกที่จะแสวงหาหนทางดับทุกข์ นักบวชในลัทธินิกายก็เป็น performer ที่มีบทบาทหรือ function หนึ่งในสังคม ไม่ได้เป็นหลักประกันถึงหนทางแห่งธรรมเสมอไป ธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราเป็นที่พึ่งแห่งตน มนุษย์ควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะนับถือความเชื่อศาสนาลัทธินิกาย ตราบที่ไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น จึงไม่มีศาสนาหรือลัทธินิกายใดควรเป็นประจำชาติ สถาบันสงฆ์ก็เป็นหนึ่งในสถาบันสาธารณะ จึงไม่ได้อยู่เหนือการถูกตรวจสอบจากสังคม เมืื่อมีอำนาจทางใดทางหนึ่ง ก็ย่อมต้องถูกตรวจสอบได้เช่นกัน ถ้าดูหนังเรื่อง Spotlight จะบอกเราว่า การตรวจสอบสถาบันศาสนา มีความจำเป็น เรื่องต้องห้ามคือเรื่องที่ต้องตรวจสอบมากสุด มากกว่าตรวจสอบคนคือ ‘ระบบ’
การต่อสู้เพื่อตรวจสอบ ท้าทาย เปลี่ยนแปลง ‘ระบบ’ เหนื่อยเสมอ ในทุกกรณี เหมือนวิ่งชนกำแพง ยิ่งเรื่องละเอียดอ่อนแบบสถาบันศาสนา สังคมต้องใจกว้าง ไม่ว่าพระจะตรวจสอบพระกันเอง (self-regulation) หรือฆราวาสตรวจสอบพระ (social sanction) เป็นเรื่องทำได้และควรทำ ถ้าเราอยากเห็นธรรมาภิบาลสถาบันนั้น
ภาพยนตร์ Spotlight สะท้อนออกมาได้อย่างมีพลังว่า แม้แต่ในประเทศเสรีอย่างสหรัฐ การที่ นสพ.ท้องถิ่นจะเล่นข่าวกระทบศาสนจักรคาธอลิค เป็นเรื่องใหญ่มาก แม้ caption อัพเดทบทสรุปของภาพยนตร์ จะทำให้เราถอนใจว่า สุดท้ายก็ไลฟ์บอย แต่ใช่ว่าการทำงานของทีมสื่อ Boston Globe จะไร้ความหมาย#spotlight
การแก้ปัญหาของ ‘ระบบ’ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เวลา แต่การที่เราได้เริ่มโยนปลาดาวหนึ่งตัวลงทะเล อย่างน้อยก็ได้พยุงชีวิตปลาดาวตัวนั้นไว้ก่อน ความพยายามของทีมข่าว Spotlight แม้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงปัญหาของศาสนจักรแบบถอนรากถอนโคน แต่อย่างน้อยก็ได้ช่วยปกป้องคนที่ตกเป็นเหยื่อและกระตุ้นให้ระบบต้องปรับตัว
สรุป การตรวจสอบซึ่งกันในสถาบันศาสนาเป็นเรื่องดี ใช้ข้อมูลและเหตุผลโต้แย้งกัน สังคมจะได้เรียนรู้ สำคัญคือทุกฝ่ายทำใจร่มๆ เปิดใจกว้างๆเข้าไว้ จากข่าววันนี้ วนมาที่เรื่อง Spotlight เพราะชอบภาพยนตร์ อินในฐานะเป็นนักเรียนสื่อสารมวลชนมาก่อน และชอบ concept ของหนัง ขอให้ได้รางวัลเพิ่ม ภาพยนตร์เด่นชิงออสการ์ปีนี้ ชอบ 4 เรื่อง
1. Bridge of Spies 2. Spotlight 3. The Martian และ 4. The Revenant #ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา
ขอบคุณ Bill of Rights และ First Amendment ในสหรัฐฯ ที่ทำให้เราได้ดูหนังหลายเรื่องดีๆ ที่ในหลายประเทศ สร้างภาพยนตร์แบบนั้นไม่ได้เลย …
15 ก.พ. 2559…