Feb 10, 2016
A summary of my work & opinion on the ethics of pay tv & consumers rights in Thailand.
วันนี้มีประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. วาระส่วนใหญ่เป็นเรื่องงานบริหารและเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรเงินกองทุน กทปส. กว่า 1 พันล้านบาท ส่วนวาระเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทีวีดิจิตอลตามข่าว วันนี้บอร์ดใหญ่ กสทช. ไม่ได้มีการพิจารณาแต่อย่างใด และยังไม่มีวาระดังกล่าวเข้า บอร์ดใหญ่ กสทช. จะมีประชุมอีกครั้งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ แต่เป็นนัดพิเศษ วาระหลักคือเรื่องพิจารณางบประมาณ กสทช. ปี 2559 ที่ยังไม่ผ่าน กองทุน กสทช. (กทปส.) จะเปิดให้มีการขอจัดสรรทุนตามกรอบยุทธศาสตร์งานตามแผนแม่บทฯกว่า 1 พันล้าน เร็วๆนี้ องค์กรไหนสนใจรอติดตามข่าวต่อไป กรอบการจัดสรรกองทุน กสทช. คราวนี้ จะเปิดให้ครอบคลุมเรื่องสำคัญ อย่างสื่อชุมชน การส่งเสริมวิชาชีพ ผู้บริโภค การรู้เท่าทันสื่อ และอื่นๆ รวมถึงการจะเปิดให้มีการขอจัดสรรเงินกองทุน กสทช. ในการ *ผลิตรายการทีวีดีๆมีคุณภาพ เช่น *เพื่อเด็กเยาวชน ที่หาดูได้ยากยิ่งในทีวีด้วย
กรอบการจัดสรรเงินกองทุน กสทช.รอบใหม่นี้ มีการ focus งานตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทฯเพื่อพัฒนากิจการสื่อมากขึ้น ไม่ได้เน้นแต่งานวิจัย เมื่อใดที่กรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรเงินกองทุนฯ ที่ผ่านบอร์ด กสทช. วันนี้ เผยแพร่ผ่านเว็บแล้ว จะนำมาเผยแพร่ต่อไปค่ะ
……
สำหรับสมาชิกกล่อง Z pay tv อย่าเพิ่งสิ้นหวังนะคะถ้ายังไม่ได้กล่องชดเชย โทรตามอีกรอบ ถ้าไม่ได้โทรมาที่ 1200 เจ้าหน้าที่ กสทช. รอรับเรื่องให้อยู่ค่ะ สมาชิก Z pay tv ที่มีแพคเกจเติมเงินค้างทางเอกชนยื่นยันว่าจะชดเชยกล่องให้แน่นอน แต่อีก 2 กลุ่มที่ตกค้าง กำลังจี้ให้เขาส่งแผนเยียวยาเพิ่ม ส่วนปัญหาอุปกรณ์ที่ต้องเปลี่ยนจากจานดำเป็นจาน Ku กำลังจะเชิญไทยคมมาขอข้อมูลเพิ่มด้วย เพราะมีข่าวว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งอาจมีการเลิกบริการจานดำ เห็นใจคอบอลโดยเฉพาะบอลอังกฤษ ฤดูกาลหน้าอาจต้องเปลี่ยนผู้ให้บริการอีกรอบหลังการประมูลลิขสิทธิ์ครั้งใหม่ กลไกตลาดบางครั้งก็เจ็บปวดไม่น้อย จะเปลี่ยนสิทธิ์ผู้ให้บริการเข้าใจได้แต่ถ้าผิดสัญญาที่ให้กับสมาชิกหรือผู้บริโภคถือว่าไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบ ถ้าไม่มีการเยียวยาที่เป็นธรรม
ใครที่ทำธุรกิจแบบ “ตีหัว (ผู้บริโภค) เข้าบ้าน” ยากที่จะเจริญรุ่งเรือง bye bye ล่วงหน้า
มีคนเล่าว่าตอนนี้คนหนีไปดูบอลแบบละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น กลายเป็นว่าผู้บริโภคที่เคารพกติกาอาจถูกเอาเปรียบ จ่ายเงินครบแต่ถูกทิ้งอยู่กลางทางได้ มีคนในวงการทีวีดาวเทียมให้ข้อมูลว่าหลายช่องรายการที่เติมเงินดูใน Z pay tv คนไทยจำนวนไม่น้อยหนีไปดูแบบ OTT ผ่านเน็ต ละเมิดลิขสิทธิ์
อุตสาหกรรม PayTV ดาวเทียมควรต้องคิดเหมือนกันว่าลูกค้าที่จ่ายเงินเต็ม แต่ถูกทิ้งอยู่กลางทาง กับคนดูแบบละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไหนเจ็บปวดกว่ากัน มีผู้ที่ให้บริการช่องรายการอินเดียของ CTH เคยมาร้องเรียนเองว่ามีการขายกล่อง android ให้ดูแบบ OTT ผ่านเน็ตโดยละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น ผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้า คือ ดีงาม ที่เอกชนต้องรักษาฐานไว้ไม่ใช่ทิ้งเขาให้อยู่กลางทาง ผลักเขาออกไป ไม่รู้คิดได้อย่างไร ดูทีวีผ่านอินเตอร์เน็ต จริงๆแล้วจะเป็นปัจจัยคุกคาม pay tv มากกว่า free tv ถ้า pay tv ไม่มีจุดเด่นเรื่องของการดูแลลูกค้าให้ดีก็อยู่ยาก การดูแบบละเมิดลิขสิทธิ์ก็เป็นปัญหาที่แก้ยากในสังคมไทย PayTV ก็รู้ถึงความเจ็บปวดนี้ จริงๆก็ควรเข้าใจผู้สมาชิกที่ถูกละเมิดสิทธิ์ว่าเป็นอย่างไร
ความรู้สึกของสมาชิกเพย์ทีวีที่จ่ายเงินแพคเกจล่วงหน้าแล้วดูไม่ได้ คงไม่ต่างจากเอกชนที่ซื้อลิขสิทธิ์มาแต่ถูกละเมิดเช่นกัน ถ้าถูกยกเลิกสิทธิ์ไปดื้อๆ เขาอาจจะโกรธ แล้วเลิกใช้บริการแต่ไปจ่ายแบบละเมิดลิขสิทธิ์ถ้าคุ้มกว่าแทน เอกชนจะทำอย่างไร ถ้าเอกชนนึกถึงใจเขาใจเรากับผู้บริโภคบ้าง ปัญหาก็คงเกิดน้อยกว่านี้ คนทำตามกติกา กลับถูกลิดรอนสิทธิ์ กฏหมายก็เต่าคลาน ทั้งระบบ จะไหวไหม การบังคับใช้กฎหมาย แม้จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนตั้งใจทำงาน พยายามแก้ปัญหา แต่บางครั้งก็สู้กับระบบเต่าคลานและตามน้ำยากแสนสาหัส ราวกับวิ่งชนกำแพง ทำงานในระบบมา 4ปีกว่า ขอนิยามระบบราชการไทยว่าเป็นระบบหูทวนลม เต่าคลาน เข็นครกขึ้นภูเขา วิ่งชนกำแพง พายเรือในอ่าง ใครปฏิรูปได้คงขอกราบ ประสบการณ์ด้านดีๆในระบบราชการก็มีค่ะ ไว้มีโอกาสค่อยมาพูดบ้าง ก่อนจะหมดวาระ แล้วออกไปอยู่นอกระบบราชการอีกรอบ แต่ก็ยังอยู่ในระบบสังคมอยู่ดี…