คลื่น 2600 ตามที่เป็นข่าวเหมือนจะเคลียร์ แต่ยังไม่น่าจะเคลียร์

14 ม.ค. 59

My comment on a recent roadmap for spectrum refarming on 2600 MHz & beyond by Govt & NBTC office. Agreed & disagreed. Also an amendment of draft Constitution related to spectrum & media regulations. Likely very disagreed on the fundamental changes for its core principles. More to react then.

….

ความเห็นต่อข่าวการเจรจาเรื่องคลื่น 2600 ตามที่เป็นข่าวเหมือนจะเคลียร์ แต่ยังไม่น่าจะเคลียร์น่ะสิ เรื่องมันซับซ้อนกว่านั้น ฝากทุกฝ่ายดูข้อกฎหมายกันด้วย เว้นแต่จะแก้กฎหมายใหม่หมดจริงๆ ‪#‎คลื่น #2600 (ตามข่าวด้านล่างค่ะ)

เห็นด้วยเรื่องการคืนคลื่นความถี่ 2600 เดิมมาเปิดประมูล LTE แค่การจะเก็บบางส่วนไว้โดยไปทำ Broadcast over LTE (โดยไม่ประมูล?) จะถูกกฎหมายไหม ที่สำคัญเรื่องการต้องชดเชยเงินค่าคืนคลื่นความถี่ให้หน่วยงานรัฐเดิมที่สัญญาการใช้คลื่นเดิม (2600) นั้นหมดลงไปแล้วอีกด้วย มีประเด็นเยอะเลย

ถ้าต้องคืนค่าชดเชยคลื่นความถี่ให้รัฐที่สัญญาการใช้คลื่นเดิมสิ้นสุดลง ต่อไปคงต้องชดเชยกันอีกหลายหน่วยงาน และขัดกฎหมายที่เป็นอยู่แน่ๆ ถ้าจะใช้กุ้งตกปลากะพง ใช้เงินชดเชยเพื่อเอาคลื่นไปประมูลLTEหมื่นล้าน เช่นนั้นก็จ่ายค่าสัมปทานช่อง3/7ล่วงหน้าไปเลย แล้วยุติแอนะล็อก 61 ดีไหม

ถ้าคิดเรื่องการ refarming คลื่นความถี่ที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อทำ spectrum roadmap ก็ควรคิดให้เป็นระบบไปเลยและควรให้ภาคส่วนต่างๆช่วยคิดด้วย เรื่องนี้ สำนักงานเพิ่งเสนอเข้า กสท.เมื่อวันจันทร์ ไม่ทราบว่าบอร์ด กทค. ได้ข้อสรุปไปหรือยัง แต่เมื่อวานตัวแทนรัฐบาลประชุมไปกับประธานและเลขาฯ เรื่องนี้กระทบอุตสาหกรรมโทรทัศน์ด้วย ไม่ได้น้อยใจที่ยังไม่ได้เสนอความเห็นในบอร์ดใหญ่ แต่คิดว่าเรื่องคลื่น2600กระทบอุตสาหกรรม2ฝั่ง ควรรอบด้าน

อย่างน้อยในกระบวนการคิด ตัดสินใจ ควรให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งโทรทัศน์ และ โทรคมนาคมได้แสดงความเห็นด้วย ถึงทิศทางและผลกระทบ #2600 ถ้า สำนักงานกสทช.และรัฐบาลมีธงอะไรเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่พร้อมเสนอให้บอร์ด กสทช.ถก ก็แนะให้ทำสัมมนา focus group ชวนอุตสาหกรรมถกสักครั้ง #2600

นอกจากธุรกิจโทรคมต้องตื่นตัวกับการจะประมูลคลื่น 2600เพื่อทำ LTE แล้ว อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล ควรต้องตระหนักด้วยว่า อสมท.จะทำทีวีบน 4G ตามข่าว

อสมท.เป็น stakeholder หนึ่งในผู้เล่นที่ต้องแข่งขันเสรีเป็นธรรมในอุตสาหกรรมทีวีเหมือนเอกชนรายอื่น ถ้าจะ ‘ใช้คลื่น’ไปทำทีวีเพิ่ม กระทบรายอื่นแน่ ถ้า อสมท.จะขอ’ใช้คลื่น’ 2600 ไปทำกิจการทีวีบอกรับสมาชิก(ไม่ใช่คลื่น)ผ่านLTE ต้องประมูลไหม สรุปจะทำกิจการทีวีแบบ ‘ใช้คลื่น’หรือ’ไม่ใช้คลื่น’ คือถ้าจะใช้คลื่น 2600 ทำทีวีบน4G มันก็คือใช้คลื่นอยู่แล้ว จะไปทำกิจการทีวีไม่ใช้คลื่น ไปได้อย่างไร ‪#‎คหสต. ยังไม่เข้าใจ #2600

ตามกฎหมาย กสทช. แบ่งกิจการทีวีเป็นกิจการที่ ‘ใช้คลื่นความถี่’ กับ ‘ไม่ใช้คลื่นความถี่’ ต่างกันที่อันแรกต้องประมูล และเงื่อนไขอื่นๆ #2600 ปัจจุบันกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่คือ ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และ IPTV แต่ Broadcast over LTE น่าจะเป็นทีวีที่ใช้คลื่นความถี่ไหม วานใครช่วยตอบ ดังนั้นถ้า อสมท. จะคืนคลื่น2600มาให้ประมูล LTE ก็ถูกต้องอยู่แล้ว แต่ถ้่าจะเก็บไว้ขอทำ ‘ทีวีบนLTE’ คำถามคือ แล้วประมูล ‘คลื่น’ ด้วยไหม

#คหสต. ถ้าไม่ประมูล ‘คลื่น’ ก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายใหญ่โตมโหระทึก ถ้าประมูลก็ผ่านเรื่องกฎหมาย แต่ก็ควรให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลตระหนักเรื่องนี้ จุดยืนของดิฉัน(ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมาย) เมื่อสัญญาเดิมหมดรัฐต้องคืนคลื่นอยู่แล้ว ถ้าจะนำไปทำกิจการ ‘ใช้คลื่น’ ใดทางธุรกิจ ก็ต้องประมูลตามกฎหมาย เว้นแต่รัฐบาลจะมีการแก้กฎหมาย กสทช. ขนานใหญ่ตามข่าว ซึ่งสร้างความกังวลมากที่สุด แต่ก็ติดกับดักกับบรรยากาศทางการเมืองจนไม่รู้จะค้านอย่างไรดี รวมไปถึงการจะแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนตัวบท ‘คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะ’ เป็น ‘ทรัพยากรของรัฐ’ เราจะย้อนเวลากลับกันทุกเรื่องหรืออย่างไร

อย่าแก้หลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเรื่องคลื่นความถี่ฯ จนเมื่อดิฉันหมดวาระจาก กสทช.แล้วต้องไปเริ่มทำงานรณรงค์ปฏิรูปนับหนึ่งใหม่อีก ตลกร้ายมาก กว่าจะมี กฎหมาย กสทช.กับการปฏิรูปคลื่นความถี่ ก็ใช้เวลากว่า2ทศวรรษ พอชุดแรกหมดวาระ ก็ให้ชุดต่อไปเขาทำงานต่อ แก้เฉพาะจุดที่จำเป็น ไม่ใช้ย้อนยุค หมดวาระ กสทช.แล้ว คงมีงานทำต่อเลย คือออกไปเป็นเอ็นจีโอผลักดันการปฏิรูปคลื่นความถี่รอบใหม่ เหมือนปี 2540 เป็นต้นมา แล้วกลับมาสมัครอีกรอบตอนอายุ60 คงตลก เหมือนทวนอดีตซ้ำ สังคมไทยเคยผ่านการถกเถียงอย่างตกผลึกมาแล้วช่วงปี 2540 ว่า ‘คลื่นความถี่’ ควรเป็นของใครในตัวบทรัฐธรรมนูญ จะไปเปิดขวดแม่นาคอีกทำไม

ปัญหาคือไม่ใช่กลับไปถกเถียงว่า ‘คลื่นความถี่’ ควรเป็นของใครในตัวบทรัฐธรรมนูญ แต่คือการผลักดันให้ กสทช. ทำให้เป็นจริงตามเจตนารมณ์เดิมมากกว่า เราดูแม่นาค บ้านทรายทอง ร่างรัฐธรรมนูญกันหลายรอบในชีวิตนี้ ขอสักเรื่อง ละคร’คลื่นความถี่นี้เป็นของใคร’ คงไม่ต้องฉายซ้ำเป็นมหากาพย์กันอีก ดิฉันไม่เห็นด้วยที่จะต้องคืนเงินชดเชยให้หน่วยงานรัฐที่สัญญาการใช้คลื่นความถี่เดิมสิ้นสุด เพราะ อำนาจ กสทช. ปัจจุบันให้ขอคืนคลื่นได้อยู่แล้ว แต่ถ้าใครจะแก้กฎหมายให้ชดเชยค่าคลื่นได้จริง(แบบไม่ใช่กลายเป็นสัญญาสัมปทานจำแลงอีกนะ) ก็ต้องคิดแบบรอบคอบ เป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะ “สาธารณะ”

ลองเสนอท้าทายดูเล่นๆว่ากล้าไหม เช่นการชดเชยค่าสัมปทานช่อง3/7 ให้ อสมท./กองทัพบก ล่วงหน้า(ราคาเท่าสัญญาเดิม)แลกยุติปี61 คืนคลื่นมาประมูลLTE ถ้าผนวกเรื่องนี้เข้าไปในแพคเกจการ refarm คลื่นความถี่ เพื่อวางแผนแม่บท spectrum roadmap ใหม่ ดิฉันอาจจะเห็นด้วย เพราะคุ้มค่า ดู วิน-วิน เป้าหมายของดิฉันคือเห็นการยุติทีวีแอนะล็อก(ระบบสัมปทานโทรทัศน์เดิมพร้อมกันในปี2561) นำคลื่นไปจัดสรรใหม่ แต่ยากมาก เพราะ ประโยชน์จากระบบสัมปทานต่างๆนี่ล่ะ ในเมื่อถ้า กสทช.บังคับให้ยุติแอนะล็อกพร้อมกันไม่ได้ (หรือใครอาจไม่อยากบังคับ) ถ้าใช้วิธีสร้าง incentive แบบที่ยกตัวอย่างมา คิดว่าเขาจะยอมไหม อาจไม่ยอมอยู่ดีก็ได้ เพราะคงไม่ค่อยมีใครยอมจะยุติสถานะที่ได้ประโยชน์อยู่ มีแค่อยากคงสถานะ status-quo แบบเดิมที่คุ้นชิน

ในสหรัฐฯ ก็กำลังเลือกใช้วิธีนี้ incentive/reverse auction จ่ายเงินประมูล(ชดเชย)คลื่นทีวีกลับมาทำโทรคมนาคม ถ้าไทยจะทำจริง ควรศึกษาเขาก่อน

….