Summary of yesterday: Coaching workshop on TV content classification for drama series & movies with reps from digital TV channels. Good dialogue to develop standard & mechanism together to promote self-regulation of balancing liberty & responsibility.
สรุปงานย้อนหลังเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จริงๆมี 3 งานแต่ไปร่วมได้ 2 งานคือ เช้าไปเปิดงานของ สำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง (สส.) สนง. กสทช. และ ร่วมแลกเปลี่ยนกับตัวแทนของทุกช่องในประเด็นการแนะแนวหรือ coaching การจัดระดับความเหมาะสมของรายการทีวีในช่องดีจิตอล เพื่อการคุ้มครองเด็ก เยาวชน ตามกติกาจัดเรท
ส่วนช่วงบ่ายไปร่วมงานเปิดตัวรายการทีวีใหม่คือ *เปิดประตูสู่รั้วมหาวิทยาลัย* ที่ผลิตโดยทีมจากวิทยุจุฬาฯ และ สำนักสื่อของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศทางช่อง14 MCOT Family ซึ่งเป็นช่องเด็ก เยาวชน และ ครอบครัวทางดิจิตอลทีวี
สรุปโดยย่องานส่งเสริมการกำกับดูแลตนเองกันเองในเรื่องการจัดเรทละครและภาพยนตร์ของฟรีทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นการประชุมภายในระหว่าง กสทช. และ พนง.ฝ่ายตรวจสอบรายการหรือฝ่ายเซ็นเซอร์ของช่องต่างๆ ดังนี้
เวที coaching แนะแนวทางการจัดเรทละครทีวีรอบนี้ ทาง สนง.ให้ทางช่องเดิม อย่าง 3&7 มาเป็นวิทยากรติวเตอร์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนให้กับช่องใหม่ที่ มากันครบ บรรยากาศสร้างสรรค์ทีเดียว คือเราได้เห็นการพูดคุยกันแบบเปิดใจ แต่ละช่องมีการเสนอแนะและวิจารณ์กันเอง โต้แย้ง ถกเถียง สนับสนุน เสนอแนะแนวทางที่ควรจะเป็น แต่ทุกช่องก็ยินดีทำตามกติกาของ กสทช. และ ต้องการยกระดับการกำกับดูแลตนเองในการคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้นด้วย
ดิฉันได้อยู่ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง โดยใช้รูปแบบการสร้าง dialogue หรือ การสานเสวนาโต๊ะกลม ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายขึ้น และ ผู้ปฏิบัติของแต่ละช่องก็กล้าแลกเปลี่ยนกัน ประเด็นที่ดิฉันเคยจดไว้จากการได้สำรวจรายการทีวีเอง และ ข้อร้องเรียนของผู้บริโภคต่างๆ ได้นำมาตั้งคำถาม และ แลกเปลี่ยนกับแต่ละช่องแบบตรงๆ จึงได้ฟังข้อมูลและมุมมองจากฝ่ายปฏิบัติการจริงของแต่ละช่องที่น่าสนใจไม่น้อย
ช่องใหม่ยอมรับว่ายังมีความไม่ชัดเจนในแนวทางการจัดเรทความเหมาะสมของเนื้อหา และ ต้องการให้ กสทช. ช่วยประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเฉพาะ อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวกับการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มมีนเมาต่างๆ กฎหมายอาหารและยา กฎหมายลิขสิทธิ์ รวมทั้งประกาศต่างๆของ กสทช.เอง
ที่ผ่านมา สนง.กสทช. เคยจัดสัมมนาเรื่องแนวทางกำกับโฆษณาไปครั้งหนึ่งแล้ว จากนี้คงต้องทยอยจัดความรู้ให้ทุกช่องเพิ่มเติม โดยเฉพาะความเข้าใจต่อการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งหน้าคงต้องรอกวนอาจารย์ Kitti Gunpai Nitta Iyd และ Teera Watcharapranee มาช่วยให้ความกระจ่างกับทีวีดิจิตอลช่องใหม่ๆที่ยังสับสนอยู่ค่ะ
จะได้ไม่เสี่ยงโฆษณาผิดกฎหมายอีก ส่วนในเรื่องการเรทความเหมาะสมของเนื้อหา ทาง กสทช. ก็มีคู่มือทั้งการจัดเรทและคู่มือจริยธรรมการกำกับดูแลกันเองให้แล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นว่าแต่ละช่องตีความและมีมาตรฐานที่ยังต่างกันอยู่ จึงเป็นที่มาต้องจัดโคชชิ่งลักษณะนี้บ่อยครั้งขึ้น
โดยใช้ลักษณะ peer pressure ให้ทุกช่องมาแลกเปลี่ยนกันในการค่ากลางว่า การจัดเรทที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร มีการยกตัวอย่างเคสน่าสนใจ ผลคือ ช่องๆต่างมีแนวทางออกเป็นสองแนวทาง คือกลุ่มช่องที่ค่อนข้างเปิดกว้าง กับ กลุ่มช่องที่ค่อนข้างระมัดระวังเคร่งครัด
ได้ยกตัวอย่างการใช้ภาษาในละครช่อง 3 เรื่องมังกร ตอนแรด ที่อาจารย์ Warat Karuchit เคยร้องเรียนมา เป็นเคสให้ทุกช่องช่องลองถกเถียงกันว่าถ้าเป็นช่องอื่นจะปล่อยผ่านหรือไม่ ผลออกมาเป็นสองแนวทางค่ะ แต่ทางช่อง 3 ก็ได้รับรู้ และดูเหมือนจะส่งสปอตตัวใหม่ออกมาแทนแล้ว การพูดคุยเพื่อกระตุ้นให้มีการกำกับดูแลกันเอง จะช่วยทำให้เรื่องได้รับการดูแลเร็วขึ้นกว่าการใช้กระบวนการทางกฎหมายซึ่งกว่าจะให้ทุกฝ่ายชี้แจงให้รอบคอบแล้วบอร์ด กสท. ตัดสิน ส่วนใหญ่ละครเรื่องนั้นมักจะจบไปแล้ว
วันนี้จึงมีการคุยกันที่จะทำกลไกการสื่อสารระหว่างทีมตรวจสอบเนื้อหาของแต่ละช่อง และ ระหว่าง กสทช. เบื้องต้นแต่ละช่องได้เปิดห้อง Chat ใน Line เพื่อสื่อสารกันเมื่อพบปัญหาการกลั่นกรองเนื้อหา และ ทาง กสทช. ก็จะเปิดช่องทางเช่นเพจ fb หรือห้อง Line เพื่อสื่อสารกับทุกช่องในกรณีมีเรื่องร้องเรียนขึ้นมาก
ส่วนอนุกรรมการฯ และ สำนักคุ้มครองผู้บริโภคฯ ก็จะเสนอบอร์ด กสท. ให้พิจารณาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตพัฒนากลไกการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนตรงในวันจันทร์นี้ด้วย ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ทีวีต้องตื่นตัวในการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ไว้ผ่านมติบอ์ด กสทช.แล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไปค่ะ
ภาพรวมของละครยุคฟรีทีวีดิจิตอล เท่าที่ได้ฟังเมื่อวานก็มีทิศทางที่มีความหวังขึ้น
อาทิ ทางช่อง 3 บอกว่าทางผู้บริหารมีนโยบายให้ ทำแนวละครให้ soft ลง และหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ช่องเป็นช่อง Disneys ลดภาพลักษณ์ของคำว่าละครน้ำเน่า ชิงรักหักสวาท แบบรุนแรงในอดีต
คนดูจึงได้เริ่มเริมเห็นละครแบบเรื่อง กลกิโมโน แอบรักออนไลน์ ที่สร้างภาพลักษณ์ของพระเอกให้อ่อนโยน ละมุนละไม ไม่ตบจูบตลอดเวลา หรือละครอิงประวัติศาสตร์ แต่ไม่สร้างความเกลียดชังประเทศเพื่อนบ้านแบบละคร ข้าบดินทร์ เป็นต้น
เช่นเดียวกับช่อง 7 ที่แม้ยังเน้นละครตลาดแมส กลุ่ม ตจว. แต่นโยบายผู้บริหารช่องก็ให้ทำให้ soft ลง ลด เลี่ยงฉากที่รุนแรง ทางเพศ และ ภาษา และ พยายามจัดเรทให้ตรงกับกติกา กสทช. มากที่สุด
ทั้งช่อง 3 และ 7 สะท้อนว่า หลังจากปรับ tone down ละครให้เบาลง ก็มีแฟนละครกลุ่มหนึ่งก็ขัดใจ โทรมาบ่นว่าดูละครไม่ถึงใจ แต่ภาพรวมก็ได้รับคำชมมากขึ้น
ส่วนช่องใหม่ก็มีความความระมัดระวังมากขึ้นเช่นกัน เช่นช่อง PPTV บอกว่า เน้นทำละครแนวไม่รุนแรงเลย ทำให้เป็นเรท ท. ตลอด รวมถึงซีรียส์ด้วย แต่ยังมีช่อง8 ที่ยอมรับว่าละครของช่องตนเองแรง เกินไป และโดน กสทช.เชิญมาชี้แจง ตักเตือนหลายรอบ โดยเฉพาะการนำละครเรทกลางคืนมา รีรันกลางวัน ทางช่องก็รับปากจะปรับการจัดเรทให้ดีขึ้น ซึ่งก็อยู่ในข่ายช่องที่ถูกเฝ้าระวัง อีกทั้งเคยเคยมีความผิดจากกรณีโฆษณาผิดกฎหมาย อย. มาแล้วด้วย
มีประเด็นน่าสนใจคือ จริงๆ กติกา การจัดเรทของ กสทช. มีเรท *ฉ* ด้วย คือเพิ่มระดับของ เพศ ภาษา รุนแรงได้ถึงระดับ 3 ออนแอร์หลังเที่ยงคืนถึงตีห้า แต่ช่องต่างๆ ก็ไม่มีใครใจถึงกล้าทำละครเรท *ฉ* เพราะรู้ว่าคนไทยส่วนหนึ่งคงรับไม่ได้ เคยมีช่อง 7 ลองปล่อยสปอต PR รายการเรท *ฉ* แต่ก็โดนคนดูโทรมาต่อว่าว่าช่อง 7 มีรายการแบบนี้ได้อย่างไร จนในที่สุด ก็ต้องยกเลิกรายการไม่ได้ออนแอร์
กลายเป็นว่า ความรู้สึกของคนดู มีผลมากกว่าประเด็นกฎหมาย
มีการบ่นว่ากติกา จุกจิก แต่ช่องเดิม ก็สะท้อนว่า ถ้าเทียบกับยุคอดีตที่อยู่ภายใต้ กบว. แล้ว ยุคนี้ที่กำกับดูแลโดย กสทช. ดีกว่ามาก เพราะยุค กบว.ในอดีต มีองค์คณะ จนท.รัฐ (ทหารด้วย) มานั่งอยู่ในห้องตัดต่อเลย แล้วกำกับว่าอะไรออกได้ออกไม่ได้ และหลายครั้งเถียงกันจนไม่ได้ออกก็มี คงไม่มีใครอยากย้อนยุคไปแบบนั้นอีก
คหสต. ดังนั้น แม้ช่องจะโดน กสทช.เชิญมาเข้าห้องเย็นบ่อยครั้ง ก็คงทนได้ LoL
ส่วนการจัด coaching ลักษณะนี้จะมีเป็นระยะในปีนี้ ครั้งหน้าจะเป็นประเภทรายการเด็กและการ์ตูน
ขอบคุณทุกช่องที่ให้ความร่วมมือ ยังมีงานต้องทำอีกมาก กรุงโรมคงไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว และ คงได้ทำงานกำกับดูแลร่วมกันต่อไป เพื่อยกระดับการกำกับดูแลกันเอง พัฒนาวงการโทรทัศน์ไทยและรับผิดชอบคนดูผู้บริโภคให้มากขึ้น ฝั่งผู้บริโภค ก็ต้องทำงานสร้างนักร้องเรียน และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อไปด้วย
มีเก็บตกประเด็นต่างๆเพิ่มเติมในทวิตเตอร์ และ ในคอมเมนท์ท้ายโพสต์ รวมถึงงานเปิดตัวรายการ *เปิดประตู่สู่รั้วมหาวิทยาลัย* จะมาโพสต์สรุปในอันถัดไปค่ะ