กลุ่มที่ต้องลงบันทึกข้อตกลง MOU คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้รับใบอนุญาตตามปรกติ

30 เม.ย. 58

Sum up: In a public forum on ‘Is media self-regulation still working?’ and ‘what are the solution for win-win situation btw press freedom vs. responsibility and laws enforcement in this period and future prospect. Still no clear answer but many clues to work and put effort politically and socially ahead.

สรุปงานวันนี้ มีเวทีไตรภาคีเสวนาหาทางออกเรื่อง สื่อมวลชน กำกับดูแลกันเองได้จริงหรือ เพื่อหาคำตอบในช่วงที่เขากำลังร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช. กำลังเสนอโมเดลการกำกับดูแลรูปใหม่ที่จะตอบโจทย์เดิมๆ แต่ก็ยังไม่ได้บทสรุปชัดเจนว่า เส้นแบ่งระหว่างการกำกับดูแลโดยรัฐ (state regulation) การกำกับดูแลร่วมกัน (co-regulation) และการกำกับดูแลกันเองนั้น (self-regulation) จะมีจุดยึดโยงอย่างไร ทั้งในแง่วิธีการ และกลไกกฎหมาย คงต้องลงรายละเอียดกันต่อไป ไว้จะนำสรุปมาให้อ่านอีกครั้งค่ะ

ที่งานเสวนาวันนี้ก็มีนักข่าวมารอสัมภาษณ์ เรื่องร้อนหลายประเด็น ตั้งแต่กรณีพิพาทเรื่องผู้ถือหุ้นช่องข่าวเนชั่นทีวี และ สปริงนิวส์ทีวี ที่มีผู้ถือหุ้นร่วมกันเกิน 10%) เรื่องการปิดช่องพีซทีวี(PeaceTV) และอื่นๆ

กรณีช่องพีซทีวี อ่านข่าวแล้วสับสน ท่านเลขาธิการ กสทช. บอกว่าจะส่งจดหมายเพิกถอนใบอนุญาตช่องพีซทีวี ในสัปดาห์หน้า แต่ข้อเท็จจริงคือเขาปิดจอดับไปแล้วเมื่อหัวค่ำที่ผ่านมา

ก็แสดงว่าปิดจอดับก่อนจดหมาย กสทช.จะเดินทางไปถึง

ส่วนตัวก็ขอแสดงความเสียใจกับพนักงานทุกคนด้วย เวลาได้ข่าวว่าช่องทีวี วิทยุใดถูกปิดก็เข้าใจหัวอกพนักงานและ ลูกจ้าง ตกงานรับวันแรงงานพอดี …

ผู้รับใบอนุญาตที่ลงบันทึกข้อตกลง MoU คือกลุ่มช่องทีวีดาวเทียมการเมือง และกลุ่มวิทยุทดลองประกอบกิจการทั้งหมด ฟรีทีวีก็คือช่องวอยซ์ทีวี (VoiceTV)

กลุ่มที่ต้องลงบันทึกข้อตกลง MOU คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้รับใบอนุญาตตามปรกติของ กสทช.ดังที่กล่าวไป

เป็นกฎหมายซ้อนกฎหมายอีกที

ช่องวอยซ์ทีวีเองก็หวุดหวิดจะเจอมาตรการข้อตกลงสืบเนื่องจากประกาศ คสช. ไปเหมือนกัน แต่ด้วยความเป็นฟรีทีวี ลงทุนประมูลคลื่นมา มุมหนึ่งก็เป็นเกราะป้องกัน ทางช่องเองเขาก็ระวังตัวแจด้วย กลัวพลาดแล้วโดนสั่งพักใช้ใบอนุญาต

หลังจากช่องพีซทีวี ยังมีกรณีช่องอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง จ่อคิวจะเข้าที่ประชุมบอร์ดเล็ก กสท. ไว้เรื่องเข้าเมื่อใดจะแจ้งเพื่อทราบต่อไปค่ะ

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ กสทช. จะใช้ข้อตกลงสืบเนื่องจากประกาศ คสช. ก่อน ในการตัดสินลงโทษไม่ว่าช่องไหน เพราะ กสทช. ควรใช้อำนาจตาม พรบ.ของตนเองคือมาตรา 37 ในการลงโทษตามลำดับขั้นตอนทางปกครอง

ถ้าใครโดนโทษปรับก่อน นั่นคือ กสทช. ใช้อำนาจตาม พรบ.ของตนเอง แต่ใครโดนพักใช้ใบอนุญาตเลย คือ กสทช.ใช้อำนาจตามบันทึกข้อตกลงที่เกิดหลังรัฐประหาร

มาถึงวันนี้สถานีวิทยุกลุ่มทดลองฯหลายรายที่ถูกปิดหลังการรัฐประหารจำนวนมากก็ยังไม่ได้กลับมาออกอากาศ รวมสถานีวิทยุชุมชนต่างๆ เช่นสถานีบุญนิยมของทางสำนักสันติอโศก ก็ยังโดนปิดอยู่ยกแผง เพราะยังรอเรื่องเข้า กสท. จากปัญหาการจดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎใหม่ กสทช. และ กฎของกระทรวงมหาดไทยด้วย เมื่อทางท่านสมณะถามมาว่าจะอนุญาตได้เมื่อไหร่ ก็บอกว่าต้องรอสำนักงานส่งเรื่องมาก่อน

วิทยุได้กลับมาออกอากาศล่าช้ากว่ากลุ่มเคเบิล ดาวเทียม ด้วยสองปัจจัย คือยังรอตรวจเครื่องส่ง ไม่ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนอนุญาต อีกส่วนคือล่าช้าที่การทำงานของ กสทช.เอง

มีกลุ่มวิทยุที่ถูกปิดยาวนานแต่คุณสมบัติพร้อมแล้ว ยังไม่ได้กลับมาออนแอร์ ได้ร้องเรียนมาที่ดิฉันเป็นระยะว่าทำไม กสทช.พิจารณาล่าช้า ใบอนุญาตไม่ออกสักที ก็ต้องเรียนว่า สำนักงานเขาก็หลายเรื่อง

การพิจารณาใบอนุญาตวิทยุเป็นวาระรูทีน ส่งเข้าบอร์ด กสท.ทุกสัปดาห์ แต่เพราะปริมาณเยอะ เร่งเจ้าหน้าที่ไปก็เห็นใจเขา โดนผู้รับใบอนุญาตบ่นด่าก็เครียดกันพอแล้ว

ส่วนการปิดจอดาวเทียมทำไม่ยาก เพราะควบคุมที่โครงข่ายคือไทยคม เหมือนฟรีทีวีซึ่งคุมโดยโครงข่ายมักซ์ MUX เช่นกัน ต่างจากวิทยุที่กดปุ่มเปิดปิดไม่ได้ ต้องไปปิดที่ตั้งเสาส่งสัญญาณ

วิทยุอะนาล็อกถ้าจะปิดต้องลงพื้นที่ไปหาเสาส่ง แต่วิทยุดิจิตอลจะควบคุมที่โครงข่ายฯได้เหมือนกับทีวีดิจิตอล คือกดปุ่มที่ MUX ไม่ต้องไปทุกสถานี

ความคืบหน้าเรื่องวิทยุดิจิตอลของ กสท./กสทช. ตอนนี้ยังแน่นิ่ง ชะลอตัวอยู่กับที่ ด้วยหลายปัจจัย แม้ทางไอทียู ITU จะทำรายงานศึกษาเสร็จนานแล้ว ไว้ค่อยมาเล่าค่ะ

………

ส่วนเรื่องปัญหาข้อพิพาทการถือหุ้นของ สองช่องข่าวคือเนชั่น (NMG) กับสปริงนิวส์ (SLC) สืบเนื่องจากปัญหาการลงมติอันคลุมเครือของ กสทช. ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานว่า ทางคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯ บอกให้นำเรื่องเข้าบอร์ดใหญ่ กสทช. ตามอำนาจบอร์ดใหญ่เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับการกำกับการครอบงำกิจการตามมาตรา 31 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่อยู่ในประกาศการประมูลคลื่นทีวีดิจิตอลที่ออกโดยบอร์ดใหญ่  สนง.จะเสนอเรื่องเข้าบอร์ดใหญ่ในการประชุมประจำเดือน พ.ค.  สรุปก็ต้องรอติดตามผลการลงมติของบอร์ดใหญ่ว่าจะออกมาอย่างไร เรื่องนี้คงยาวเป็นมหากาพย์เหมือนข้อพิพาทกรณีช่องสามคู่ขนาน…