จับตาวาระ : ลุ้นมติ กสท. จันทร์นี้กรณีการเข้าถือครองหุ้น NMG ของ SLC
จากกรณีบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (๑๙๙๘) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC เป็นผู้มีอำนาจควบคุมบริษัทสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลในหมวดหมู่ข่าวสาระและสาระเช่นเดียวกัน ในสัดส่วนร้อยละ ๑๒.๒๗ ซึ่ง กสท.ยังไม่ตัดสินว่าการเข้าซื้อหุ้น NMG ของ SLC ถือว่าเข้าข่ายผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลในหมวดหมู่เดียวกันเกินสัดส่วนที่ประกาศกำหนดหรือไม่
วันนี้ ( ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กสท. จันทร์นี้สำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเองและสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ เสนอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวหลังจากที่ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลอย่างรอบด้านและได้วิเคราะห์ผลเสนอให้บอร์ด กสท.พิจารณา โดยเห็นว่าจะเข้าข่ายขัดประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๗.๒ ที่กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันโดยการพิจารณาให้เป็นไปตามภาคผนวก ก และ ข แล้วแต่กรณี โดยในภาคผนวก ข ได้บัญญัตินิยาม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือผู้ถือหุ้นในผู้เข้าร่วมการประมูลเกินกว่าร้อยละ ๑๐ ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้เข้าร่วมการประมูลนั้น การถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย และยังส่งผลต่อข้อ ๘.๔ และ๘.๕ ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งกำหนดไว้ว่าผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เกินรายละหนึ่งใบอนุญาตของแต่ละหมวดหมู่ และผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิยื่นคำของรับใบอนุญาตหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมขัดสูงหรือหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ หมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูงและหมวดหมู่ข่าวสารและสาระที่จะมีสิทธิเข้าร่วมการประมูลต้องไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันตามข้อ ๗.๒ ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่ให้ความเห็นว่าประกาศนี้เกี่ยวข้องกับการป้องกันการครอบงำกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ตามมาตรา ๓๑ ใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑
“กรณีนี้ผลการตัดสินสุดท้ายขึ้นอยู่กับลงมติของ กสท. ทั้ง ๕ คนในวันจันทร์นี้ ที่ผ่านมาก็มีความเห็นแย้งกันอยู่ทำให้ไม่แน่ใจว่าผลสรุปเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร แต่โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่ากรณีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการกำกับดูแลเรื่องของความเป็นเจ้าของ สัดส่วนการถือครองโทรทัศน์ในอนาคต หากตัดสินกรณีนี้เป็นอย่างไรจะส่งผลต่อการตัดสินกรณีในลักษณะเดียวกันต่อไปด้วย” นางสาวสุภิญญากล่าว
นอกจากนี้ นางสาวสุภิญญา พูดถึงอีกวาระที่น่าจับตาในวันจันทร์นี้ คือ ผลสรุปการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ…. ซึ่งสำนักงานฯ ยืนยันเสนอให้มีการเรียงช่องใหม่แต่มีเงื่อนไข ซึ่งเรื่องดังกล่าวกรรมการเห็นต่างกันค่อนข้างมาก ประกอบกับบริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ปส์ จำกัดเพิ่งเสนอถอนฟ้อง กสทช. ที่เคยยื่นไว้ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เพื่อให้เพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอน ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ พ.ศ. ๒๕๕๖ ก็มีนัยยะต่อการเดินหน้าเรื่อง (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์นี้เช่นกัน บอร์ด กสท. คงต้องถกกันอีกครั้งในประเด็นนี้…