Media should be responsible as well as free – สื่อมวลชนควรมีความรับผิดชอบมากเท่าๆ กับเสรีภาพ
October 10, 2014
หลายครั้งผมได้แสดงความคิดเห็นว่า สื่อมวลชนที่สามารถทำงานได้อย่างอิสระมีบทบาทสำคัญมากในสังคม เพราะจะช่วยทำให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ให้ความรู้แก่คนที่เสพข่าวสาร ทำให้ผู้มีอำนาจแสดงความรับผิดชอบ ในกรณีตัวอย่างเช่น ข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริต เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในแต่ละสังคมควรมีความสมดุลระหว่างเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้คนกับสิทธิส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนตัวซึ่งควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ดังนั้นสื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบจะต้องปฏิบัติตนอย่างมืออาชีพและมีจรรยาบรรณในการรายงานข่าวตามความเป็นจริง
นี่คือประเด็นที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ในสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2555 ลอร์ดเลเวอสัน ได้เรียกร้องในเรื่องจรรยาบรรณ หลักปฏิบัติและวัฒนธรรมของสื่อมวลชน ซึ่งได้ลงรายละเอียดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนกับสาธารณชน การดักฟังโทรศัพท์ และพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอื่นๆ รายงานของลอร์ดเลเวอสันยังได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อมวลชนและตำรวจที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพูดถึงความสัมพันธ์ของสื่อมวลชนกับนักการเมือง และมีข้อเสนอแนะเรื่องนโยบายและข้อบังคับที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสนับสนุนเสรีภาพและความซื่อตรงของสื่อ ในขณะเดียวกันยังดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมขั้นสูงสุด ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ)ได้ที่นี่
ผมเกรงว่าบางประเด็นเหล่านี้ก็ปรากฎในประเทศไทยเช่นกัน อย่างในกรณีฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่เกาะเต่าของฮันนา วิทเธอริดจ์ และเดวิด มิลเลอร์ ผมและท่านทูตจากประเทศอื่นๆ ได้เคยขอร้องสื่อมวลชนอยู่หลายครั้งให้เคารพความเป็นส่วนตัวของนักท่องเที่ยวและครอบครัวของพวกเขา เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งที่จะต้องเห็นรูปหนังสือเดินทางของผู้ที่เสียชีวิตผ่านทางสื่อหรือโซเชียลมีเดีย ในหนังสือเดินทางนั้นมีข้อมูลส่วนตัวและไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดกับการรายงานข่าว ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อหรือผู้เสียหายไม่สมควรถูกส่งต่อให้สื่อหรือทำการเผยแพร่ใดๆ ซึ่งสร้างความสะเทือนใจแก่ครอบครัวของผู้เสียหายหากต้องรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ก่อนที่จะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐควรรับผิดชอบไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และไม่มีใครได้รับประโยชน์อันใดจากการเห็นภาพน่ากลัวและสะเทือนใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตในประเทศไทยเศร้าโศกและสะเทือนใจเป็นอย่างมาก ในเวลาอันเศร้าโศกเช่นนี้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตควรจะได้รับความเป็นส่วน มิใช่ตกเป็นเป้าคุกคามจากสื่อ ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนเองไม่ควรนำเสนอข่าวในทำนองด่วนตัดสินก่อนการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา นี่คือประเด็นในเรื่องของจรรยาบรรณและการเคารพผู้อื่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้สื่อมวลชนในประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น และยังรักษาชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะประเทศที่ต้อนรับขับสู้นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเป็นมิตร ทางสถานทูตจะพูดคุยประเด็นเหล่านี้กับสมาคมสื่อต่างๆ ของไทยต่อไป เราจะยินดีเป็นอย่างยิ่งหากสมาคมเหล่านั้นเห็นพ้องกับแนวทางการปฏิบัติเหล่านี้
ขอบคุณที่มา : อ่านฉบับภาษาอังกฤษคลิ้กที่นี่//Eng