รายงานการเข้าร่วมประชุม Mapping Digital Media Southeast Asia Roundtable
ณ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์
วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
โดย ส่วนงาน กสทช.สุภิญญา กลางณรงค์
การประชุม Mapping Digital Media Southeast Asia Roundtable จัดขึ้นโดย Singapore Internet Research Centre แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และนโยบายด้านสื่อและอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการนี้ได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาและเผยแพร่ผลงานเรื่อง Mapping Digital Media เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ จำนวน ๕๓ ประเทศ โดยประเทศที่มีการจัดทำรายงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย การประชุมในครั้งนี้มีนักวิชาการด้านสื่อ ด้านกฎหมาย และด้านสิทธิมนุษยชน จากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแถบนี้เข้าร่วมการประชุม ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญโดยสรุปดังต่อไปนี้
การเปรียบเทียบการรับสื่อทั้งสี่ประเทศพบว่า โทรทัศน์ยังนับเป็นสื่อที่มีบทบาทหลักในการเผยแพร่ข่าวสารของทั้งสี่ประเทศ โดยเฉพาะโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เช่น ในประเทศอินโดนีเซียพบว่า ร้อยละ ๙๖ ของครัวเรือนจะมีโทรทัศน์หนึ่งเครื่องและเฉลี่ยประชากรที่รับชมโทรทัศน์วันละสี่ชั่วโมง สำหรับทีวีดาวเทียมพบว่า ในประเทศสิงคโปร์ไม่มีทีวีดาวเทียม แต่ครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั้งหมดของประเทศนี้รับชมข่าวสารผ่านเคเบิ้ลทีวี ซึ่งส่งผลให้ประชากรสามารถรับชมรายการต่างประเทศได้ โดยผู้ชมร้อยละ ๓๐ รับชมติดตามข่าวสารผ่านสถานี CNN ขณะที่ในมาเลเซียพบว่า มีการรับชมผ่านทั้งโทรทัศน์ภาคพื้นดินและโทรทัศน์ดาวเทียมซึ่งมีผู้ประกอบการโทรทัศน์ดาวเทียมเพียงเจ้าเดียว สำหรับในส่วนของไทย มีรายงานว่า ประชากรส่วนใหญ่ยังรับชมข่าวจากรายการข่าวที่ผลิตโดยช่องสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน มีเพียงร้อยละ ๕ ที่รับชมสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงการรับชมที่มีลักษณะร่วมกันของทั้งสี่ประเทศคือการเชื่อมต่อการรับชมผ่านออนไลน์และโทรทัศน์มือถือ
ในกรณีของสิงคโปร์นับว่ามีความเข้มข้นในเรื่องการควบคุมเนื้อหาต้องห้ามในอินเทอร์เน็ตซึ่งนับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่คุมเข้มเนื้อหามาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๙ จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖ รัฐบาลได้ประกาศให้ผู้ที่จะเปิดเว็บไซต์ข่าวจะต้องมาขึ้นทะเบียนขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสื่อกระจายเสียงที่ต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในเรื่องการนำเสนอเนื้อหาข้อมูลข่าวสาร และหากเจ้าหน้าที่รัฐพบว่ามี “เนื้อหาต้องห้าม” จะต้องลบข้อมูลดังกล่าวภายใน ๒๔ ชั่วโมง เนื้อหาต้องห้าม ดังกล่าว ประกอบด้วย เรื่องลามกอนาจาร ความรุนแรงแบบสุดขั้ว และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและศาสนา องค์กรที่กำกับเรื่องสื่อของสิงคโปร์ได้แก่ The Media Development Authority (MDA) อยู่ภายใต้กระทรวงข้อมูลและการสื่อสาร หน่วยงานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยผู้บริหารองค์กรได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล
สำหรับอินโดนีเซีย ยังมีกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพหลายฉบับ ได้แก่ Law on Information and Electronic, the Pornography Act ซึ่งผ่านเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ และ the Law on State Intelligence ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ปัญหาใหญ่ของสื่อในประเทศนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและอำนาจทางธุรกิจที่เข้ามากำกับกิจการสื่อ ส่งผลทำให้สื่อเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตนเองและสื่อยังถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของธุรกิจและการเมืองจากผู้เป็นเจ้าของกิจการ อย่างไรก็ตามในอินโดนีเซียมีกฎหมายด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๕ และมีคณะกรรมการอิสระที่ดูแลในกิจการดังกล่าวหรือ KPI แต่กระนั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๙ บทบาทหน้าที่ในการควบคุมใบอนุญาตและเนื้อหารายการ ตลอดจนการกระจุกตัวในเรื่องความเป็นเจ้าของสื่อกับอยู่ภายใต้กระทรวงข้อมูลและการสื่อสาร
กรณีของมาเลเซีย รัฐมีกฎหมายที่เข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไข The Evidence Act ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ทำให้เจ้าของเว็บไซต์ ผู้บริหารและบรรณาธิการจะต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่เผยแพร่ตลอดรวมถึงความเห็นที่ถูกโพสต์ในเว็บไซต์ที่ตนรับผิดชอบอยู่ด้วย อินเทอร์เน็ตในประเทศนี้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดด้วย the Communications and Multimedia Act ปี พ.ศ.๒๕๔๑ องค์กรกำกับดูแลของมาเลเซียในเรื่องนี้ได้แก่หน่วยงานที่ชื่อว่า The Malaysian Communications and Multimedia Commission (MCMC) ซึ่งคณะกรรมการของ MCMC ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้ากระทรวงที่ดูแลด้านการสื่อสารและวัฒนธรรม และมีกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงได้แก่การปรับมากกว่า ๓๐,๐๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐ และจำคุกสองปีและเพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่องค์กรกระจายเสียงและโทรทัศน์สาธารณะหรือ Radio Televisyen Malaysia (RTM) ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับหน่วยงานของรัฐเป็นหลัก
“เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” หรือ Hate content เป็นปัญหาร่วมของทุกประเทศซึ่งมีการแบ่งแยกทั้งศาสนาและชาติพันธุ์ โดยสิงคโปร์เข้มงวดในทุกรูปแบบของการสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ขณะที่กลุ่มหัวรุนแรงในอินโดนีเซียและมาเลเซียต่างหมกมุ่นอยู่กับการสร้างวาทกรรมว่าด้วยความเกลียดชังในโลกออนไลน์ ในส่วนประเทศไทยพบว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแบ่งแยกสีการเมือง โดยใช้สื่อโทรทัศน์ดาวเทียมของกลุ่มสีการเมืองแดง และ เหลือง และการใช้สื่อออนไลน์ กฎหมายที่มีความสำคัญในไทยได้แก่ พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายหมิ่นประมาท
ในส่วนของประเทศไทย กสทช.สุภิญญา กลางณรงค์ ได้เสนอถึงภูมิทัศน์ด้านสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ยุคโทรทัศน์ระบบดิจิตอล และบทบาทของ กสทช.ในการกำกับดูแลด้านสื่อ การกำกับดูแลกันเองและงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านในฐานะที่มีโครงสร้างเป็นองค์กรอิสระและประกอบด้วยกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภา
นอกจากนี้ภายหลังการประชุม กสทช.สุภิญญาฯ ได้ร่วมหารือกับนักวิชาการจากประเทศที่เข้าร่วมเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อเพื่อพัฒนาโครงการเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่ กสทช.กับนักวิชาการและนักกิจกรรมที่รณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในเรื่องการกำกับดูแลกันเองของสื่อและแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคสื่อหลอมรวม…