ไม่มากก็น้อย กสทช.อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่จะช้าหรือเร็ว

ถามหาเสรีภาพ

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
วันที่ 15 มิ.ย.57 

บริหารประเทศมาได้ 3 สัปดาห์กว่าแล้ว สำหรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) หลายเรื่อง คสช.โกยคะแนนนิยมเข้ากระเป๋าอื้อ เช่น ล่าสุดประสานสั่งให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวีทุกนัด แต่บางเรื่องก็ยังมีคนวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร เช่น การยังไม่ยอมให้สถานีโทรทัศน์หลายแห่งโดยเฉพาะทีวีการเมืองออกอากาศได้

“สุภิญญา กลางณรงค์” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) ที่อยู่ในบอร์ด กสทช. ดูแลเรื่องสื่อวิทยุโทรทัศน์ ชื่อนี้ไม่ต้องบรรยายเครดิตประวัติการทำงานมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพ-ปฏิรูปสื่อ สมัยเป็นเอ็นจีโอ เพราะการทำงานที่ผ่านมาได้รับการยอมรับสูงอยู่แล้ว
“สุภิญญา-กสทช.” จะมาสะท้อนความเห็นต่อการทำงานของ กสทช.-การทำงานของสื่อมวลชนในยุค คสช. รวมถึงการใช้อำนาจของ คสช.ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เริ่มต้นพูดคุย “สุภิญญา” อธิบายถึงการทำงานของ กสทช.ในยุค คสช.ว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ให้ กสทช.เป็นอิสระจากรัฐบาล พอมี คสช.ยึดอำนาจและยกเลิกการใช้ รธน.ไป กสทช.อำนาจ ความเป็นอิสระก็หายไป เพราะประกาศของ คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์และประกาศของคณะรัฐประหารมีศักดิ์เป็นกฎหมายเทียบเท่า พ.ร.บ.ตอนนี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญคุ้มครอง กสทช.เราแล้ว ประกาศของ คสช.หลายฉบับมากระทบอำนาจของเรา เช่น การสั่งปิดโทรทัศน์ การปิดสื่อต่างๆ หรือการออกประกาศต่างๆ จนเกิดการทับซ้อนกันว่าอำนาจตรงไหนเป็นอำนาจของ กสทช.อำนาจไหนเป็นของ คสช.
…สรุปก็คืออำนาจที่เป็นงานรูทีนโดยปกติส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ที่ กสทช.และสำนักงาน กสทช. แต่งานใหญ่ๆ อย่างการกำกับดูแล เช่น การสั่งปิดสถานี การระงับรายการ การออกใบอนุญาตอะไรต่างๆ มันขึ้นไปอยู่กับ คสช.แล้ว ก็ทำให้ กสทช.ก็ไม่เป็นอิสระไปแล้วส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม “สุภิญญา” ย้ำว่า แม้ กสทช.โดยสำนักงาน กสทช.จะไปอันเดอร์ คสช.โดยปริยายแล้ว แต่ในส่วนกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คน ก็ยังมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองอยู่ อย่างเช่นตนเอง ที่บางเรื่องก็แสดงความคิดเห็นตรงๆ จนเคยถูกเบรกว่า อย่าไปยุ่งมากให้เงียบๆ ไว้ก่อน
…สำนักงาน กสทช.ก็อันเดอร์ คสช.อยู่แล้ว เพราะตอนที่ คสช.เรียกไปรายงานตัว เขาก็ไป เพราะสำนักงานเป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐ แต่ในส่วนของ กสทช.กรรมการต่างก็มีความเห็นเป็นตัวของตัวเอง อย่างดิฉันเองก็มีความเห็นเป็นอิสระ ก็เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง อย่างเรื่องรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย แต่โอเคจะให้เราขึ้นมาค้านหรือต่อต้านด้วยตำแหน่งหน้าที่ของเราก็ทำไม่ได้ เราก็ต้องทำใจว่ามีรัฏฐาธิปัตย์ใหม่ มีหัวหน้ารัฐใหม่ กสทช.เป็นหน่วยงานของรัฐ เราเองก็คงต้องฟัง คสช.เขา แต่เราก็ยังสงวนความเห็นในฐานะเป็นกรรมการคนหนึ่ง ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแล้วก็แสดงบทบาทของเราเท่าที่เราจะทำได้ แต่ตัวสำนักงานที่แยกออกมาจากบอร์ดก็ต้องรับบัญชาและทำตาม คสช.ไป ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยว่าจะต้องทำตามเขาทุกเรื่อง ควรจะต้องมีหน้าที่แนะนำ คานดุลอะไรบ้าง เพราะถ้าเราทำตามทุกเรื่องก็เหมือนกับเราไม่ได้เป็นตัวถ่วงดุลของสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบการและประชาชนเท่าที่ควร
บางคนก็บอกอย่าไปยุ่งอะไรมาก ช่วงนี้ต้องเงียบๆ ไปก่อน แต่เราก็คิดว่าเราทำงานตำแหน่งนี้หากเราเคลื่อนไหวได้แสดงความเห็นอะไรได้ก็ควรทำ แม้สุดท้ายเราก็รู้ว่ามันก็มีขอบเขต เพราะคงไม่สามารถไปค้านหรือต่อต้านอะไรได้ มันก็มีข่าวลือมาตลอดเหมือนกันว่า บอร์ด กสทช.จะโดนยุบหรือไม่ ที่ก็ไม่รู้เหมือนกัน อันนี้ก็แล้วแต่ ก็ถือว่าถ้าวันหนึ่งมันต้องเปลี่ยนแปลงก็ต้องเปลี่ยนแปลง แต่วันนี้แม้จะไม่มีอำนาจเต็มหรือเราไม่สามารถใช้อำนาจอย่างเป็นอิสระในนามองค์กรได้ แต่เราก็ต้องยืนหยัดในหลักการสิทธิเสรีภาพ สิทธิของผู้ประกอบการที่ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพเต็มที่ต้องวางไว้ก่อน เพราะเราต้องเจรจาผลักดันให้กับทีวีวิทยุต่างๆ ที่ถูกปิดให้ได้กลับมาออกอากาศใหม่ เพื่อช่วยนักวิชาชีพ ช่วยเรื่องปากท้องของเขาไม่ให้ตกงาน ไม่ต้องพูดเรื่องเสรีภาพเลย เพราะมันพูดไม่ได้มากอยู่แล้วเวลานี้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังพยายามทำกันในเวลานี้
ที่ผ่านมากรรมการบางส่วนได้คุยนอกรอบกันบ้าง ซึ่งเหมือนกับทุกคนก็รู้กันว่ารัฏฐาธิปัตย์เป็นคำสั่งสูงสุด จะไปค้านได้อย่างไร ที่คุยก็มีบางคนที่คุยแล้วก็บอกว่ารู้สึกอึดอัด เจ็บปวด ไม่เห็นด้วย แต่ทุกคนก็มีทางของตัวเองในการแสดงออก
- ที่บอกอึดอัดคือประเด็นอย่างไร เช่นต้องไปอยู่ใต้ คสช.?
ก็หมายถึงอำนาจหลายอย่างมันได้ถูกดึงไปที่ฝ่ายเขา พูดง่ายๆ ก็คือเราก็เป็นกลไกหนึ่งของอำนาจที่มาจากฝ่ายรัฐประหาร ก็ต้องยอมรับว่าถ้ามีคนวิจารณ์เราว่าเราก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ทั้งที่หน่วยงานรัฐก็เป็นทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เราก็คิดว่า กสทช.ก็ไม่ควรจะต้องถึงกับไปเห็นดีเห็นงามทั้งหมด หรือต้องไปประจบประแจงหรือเห็นด้วยทุกอย่าง มันไม่ใช่ ต้องแยกแยะ อย่างเรื่องเว็บไซต์ถ้าเป็นเว็บหมิ่นฯ หรือปลุกปั่นยั่วยุปลุกระดม ปิดไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าบานปลาย จะไปถึงเฟซบุ๊ก ไม่ได้บอกว่า กสทช.หรือหน่วยงานรัฐต้องต่อต้าน มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ต้องคอยถ่วงดุล ตรวจสอบ อะไรที่มันเป็นเหตุเป็นผลก็แนะนำ หรือต้องเตือนต้องบอกเขา เพราะสุดท้ายคนที่ไปอยู่ในจุดที่กุมอำนาจสูงสุดคือ คสช.
“ตอนนี้ถ้าไม่มีคนรอบข้างหรือหน่วยงานต่างๆ หรือเสนาธิการอะไร หน่วยงานราชการ คอยแนะนำในทางที่ถูกต้อง มันก็จะพังได้ เพราะสุดท้ายมันจะนำไปสู่การรวบอำนาจ ซึ่งบทเรียนทุกที่ในโลกก็รู้กันอยู่แล้วว่า การมีอำนาจเบ็ดเสร็จมันไม่ยั่งยืนในระยะยาว มันมีแต่จะพัง”
ดังนั้นก็อย่าไปช่วยเชียร์ในการใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูก มันต้องคานดุลกันบ้าง หากได้มีโอกาสคุยกับ คสช.ก็อยากแนะนำว่า มันไม่ถูกหรอกหากจะมีการไปปิดกั้น Social network หรือไปสร้างปรากฏการณ์ความกลัวเกินกว่าเหตุ จะเป็นการไปใช้อำนาจมากเกินไป อย่างการไปปิดสถานีโทรทัศน์เขา แบบไม่ให้รู้อนาคตไม่ได้ เพราะคนเป็นพันคนจะตกงาน ต้องเรียกเขาไปคุยให้ชัดเจน
กับความเห็นในฐานะ กสทช.คิดว่าคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 15 ที่ให้ปิดวิทยุชุมชน ปิดทีวี 14 แห่ง คสช.ควรทบทวนหรือยกเลิกได้หรือยัง “สุภิญญา” ย้ำว่า ควรทบทวนทุกฉบับที่เกี่ยวข้องที่ไปแบนทีวี อยากให้มีการนัดคุย ให้เขาปรับผัง ลงนาม ว่าจะไม่เป็นทีวีเสื้อสี แล้วให้เขากลับมาทำงานแล้วหากมีปัญหาก็ว่ากันอีกที ส่วนเรื่องวิทยุชุมชนก็อยากให้แก้คำสั่งให้คืนสิทธิ์กับกลุ่มที่มีใบอนุญาต แต่ต้องทำตามเงื่อนไข กสทช. เช่น คลื่นไม่รบกวน เนื้อหาต้องถูกตามกฎหมาย
แล้วก็ต้องไปดูประกาศฉบับที่ 14 และฉบับที่ 18 ที่จำกัดกรอบการทำงานของสื่อมวลชนและกระทบไปทุกสื่อ ห้ามวิจารณ์ ห้ามตั้งคำถาม ห้ามเชิญใครมา อันนี้มันขัดกับหลักวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนเลย เพราะสื่อหากไปเป็นกระบอกเสียงหรือคอยเชียร์อำนาจรัฐอย่างเดียว ไม่ว่าประเทศไหน มันก็ไม่ใช่สื่อมวลชน
คือที่ผ่านมาก็มีสื่อมวลชนบางอันที่ไม่รับผิดชอบ ไม่เป็นอิสระ แต่ด้วยบรรยากาศที่เปิดกว้างก็ทำให้สื่อที่เขามีจรรยาบรรณดีๆ เขาได้มีที่ทาง แต่มาตอนนี้บอกว่าสื่อไม่มีความรับผิดชอบ สร้างความวุ่นวาย แล้วจะให้หยุดหมดแล้วให้ทำหน้าที่แค่รายงานว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะหลักการทำข่าวมันต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล หากไม่ให้สื่อทำเลย แต่ให้แค่รายงานว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และกึ่งๆ ต้องเชียร์รัฐด้วย ถ้าชั่วคราวสักพักหนึ่งอาจได้ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ตลอดไป มันก็ย้อนยุคไปมาก แล้วมันเหมือนจะตรึงบรรยากาศแห่งความกลัวเอาไว้ เหมือนมือที่จะเขียนมันถูกล่ามโซ่ไว้ ทำอะไรต้องระวังไปหมด เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองขั้นสูงสุด สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ซึ่งมันไม่ควร ควรต้องคืนสิทธิ์การทำหน้าที่ขั้นพื้นฐานให้สื่อ เช่น สิทธิ์ในการตั้งคำถามต่อแนวทางของรัฐ จะต้องคืนกลับมา เพราะถ้าไม่ให้เขาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็ไม่ใช่สื่อมวลชน
คนมักจะพูดว่าเสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ก็ใช่ แต่ต้องไม่ลืมว่า ถ้าไม่มีเสรีภาพก็ไม่มีความรับผิดชอบ ที่จะได้รายงานตามข้อเท็จจริง ไม่อย่างนั้นก็เป็น Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) จากที่เคยถูกมองว่าเป็น Propaganda ของกลุ่มการเมือง มันก็จะกลับมาเป็น Propaganda ของกลุ่มอำนาจรัฐในปัจจุบัน
ตัวเราก็ยังงงมาก เพราะก่อนหน้า 22 พ.ค.57 สังคมไทยเอ็นจอยกับเสรีภาพมาก ม็อบชุมนุมที่ไหนก็ได้ สื่อถ่ายทอด 24 ชั่วโมงก็ได้ ไม่มีใครทำอะไรได้ แต่หลัง 22 พ.ค. ดูเหมือนจะเงียบกริบ แสดงว่าทุกคนก็ยังกลัวอำนาจของกองทัพและทหาร เพราะพลเรือนกันเองดูแลกันไม่ได้ ปกครองกันเองไม่ได้ พอกองทัพเข้ามาก็ราบคาบทุกคนสงบเงียบ ก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเรายังโตไม่พอ เราไม่สามารถคุยอะไรกันได้ แต่พอคนมีอำนาจถืออาวุธหรือถือไม้เรียวมา เราพร้อมจะหยุด อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเราอาจยังไม่มีวุฒิภาวะกันมากพอ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะยอมแพ้ แล้วกลับไปอยู่ภายใต้ภาวะที่ว่าเราต้องถูกปกครอง เราต้องหาจุดสมดุลใหม่ว่าควรจะอยู่ตรงไหน จากประสบการณ์ของตัวเองที่แม้อายุแค่ 40 ปี แต่ก็รู้สึกได้เสมอว่า อำนาจที่มัน Absolute มันมากไป ก็จะทำให้ไปสู่ภาวะที่มันจะควบอำนาจมากขึ้น แล้วสุดท้ายคนจะทนไม่ได้ แล้วคนจะลุกขึ้นมาต่อต้าน
แม้ว่าวันนี้ คสช.จะสลายพลังสีเสื้อหรือพลังการเมืองได้ เช่น สกัดแกนนำได้ แต่ต้องอย่าลืมว่า ทุกยุคทุกสมัยมันจะมีพลังบริสุทธิ์ แล้วสิ่งที่ คสช.น่าจะกลัวมากที่สุดคือพลังบริสุทธิ์ กลุ่มนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ที่เขาพยายามไม่ให้มีแม้แต่กลุ่มเล็กๆ ตามสถานีรถไฟฟ้า เพราะลึกๆ จริงๆ แล้วคนที่ยึดอำนาจแบบนี้น่าจะเกรงกลัวพลังบริสุทธิ์มากกว่าพลังจัดตั้ง เพราะพลังจัดตั้งจากที่เห็นกันมาในอดีตท้ายที่สุดแล้ว รัฐไทยก็จะชนะ เพราะจะจัดการง่ายด้วยการพุ่งไปที่แกนนำ แต่หลายเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ เช่น 14 ตุลาคม 16 หรือพฤษภา 35 ส่วนใหญ่เกิดจากพลังบริสุทธิ์รวมตัวกัน
“สุภิญญา” อดีตเอ็นจีโอเก่าที่ทำงานเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม-สิทธิเสรีภาพสื่อมานาน ย้ำว่า คสช.ต้องเปิดพื้นที่ให้คนที่เห็นต่างไม่ตรงกับ คสช.ได้แสดงออกบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มพลังบริสุทธิ์ นักศึกษา ไม่เช่นนั้นหากปิดกั้นมากๆ คนในสังคมจะอึดอัด
…คราวนี้ถ้า คสช.ทบทวนบทเรียนทุกครั้ง ระมัดระวังทุกครั้ง ก็หวังว่าจะผ่อนหนักผ่อนเบา การไปตรึงเสรีภาพของคนมากเกินไป มันถึงจุดหนึ่งจะเหมือนกับจุดที่แรงดันน้ำมันระเบิด แต่ถ้าจะให้ทุกคนยอมจำนน เพราะกลัวจะนำไปสู่ความรุนแรง มันก็ขัดธรรมชาติ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่เปิดและเสรีมานาน
เหมือนกับเรามีบ้านแล้วเราเปิดหน้าต่างบ้าน บานเล็ก บานใหญ่ เปิดขึ้นเรื่อยๆ ก็แบบที่ก่อน 22 พ.ค. จะไปชุมนุมอะไรที่ไหนก็ได้ คือจากที่เราเปิดหน้าต่างบ้านจนทั้งยุง แมลง มลภาวะ เข้ามาพร้อมกับลมเย็นๆ เปิดหมด ไม่มีมุ้งลวดอะไรมากรองเลย แต่พอหลัง 22 พ.ค. ปิดหมดเลยแล้วลงกลอน แล้วคนก็พร้อมใจกันอยู่ในบ้านมืดๆ ถามว่าจะอยู่ได้นานสักเท่าไหร่ มันก็อยู่ที่ว่าคนที่ปิดลงกลอน จะเป็นคนค่อยๆ เปิดหน้าต่างให้ลมเข้ามาหรือจะรอให้คนในบ้านลุกฮือ สื่อจึงเป็นช่องทางสำคัญในการค่อยๆ ผ่อนอารมณ์ของคน ถ้าเขาได้มีช่องทางได้แสดงออก
ตอนนี้แกนนำการเมืองเขาก็หยุดเงียบไปหมด ทหารก็ตรึงได้หมดแล้ว แต่อย่าตรึงพลเมืองมากเลย เพราะมาถึงจุดหนึ่ง พลังบริสุทธิ์เหล่านี้จะลุกฮือ ถ้าอำนาจรัฐหรือ คสช.ไปปิดคนกลุ่มนี้มาก สักวันหนึ่งเขาอาจทนไม่ไหวแล้วเขาอาจเดินมาเผชิญกับทหารเองก็ได้ แต่มันก็เดาใจยาก เพราะสังคมไทยตอนนี้เหมือนจะเปราะบางมาก อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอะไรหลายอย่าง
ที่ผ่านมาข้อดีของการที่มีสื่อการเมือง ที่ทำให้ทุกฝ่ายตะโกนใส่กัน มันน่าจะนำไปสู่การที่คนลดความรุนแรงทางกายภาพ เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันเป็นความรุนแรงจากการใช้อาวุธสงคราม เช่น M 79 แต่ความรุนแรงที่คนกลัวว่าเสื้อแดงเสื้อเหลืองจะมาตบตีกัน จริงๆ มันน้อย เพราะคนเขาได้ด่าใส่กันแล้ว จนรู้สึกสะใจแล้ว ดังนั้นสื่อสีทั้งหลาย ที่ให้คนได้ผรุสวาท ได้แสดงออกใส่กัน ในทางจิตวิทยา คนก็ได้ผ่อนคลายแล้ว
…ลึกๆ จึงเชื่อในทฤษฎีว่าถ้าเราปล่อยให้คนได้ผ่อนคลาย ได้สื่อสารแสดงออกได้หมด ได้พูดอะไรกันบ้าง เขาจะได้ผ่อนคลาย แต่การจะไปปิดหน้าต่างบ้านแล้วลงกลอนทั้งหมด ไม่ให้เห็นอะไร อาจได้เห็นบ้างแบบรำไรลอดกระจกมา มันก็จะทำได้ไม่นาน จะอึดอัด เพราะคนไทยชินกับการที่มีเสรีภาพระดับหนึ่งแล้ว อยู่ที่ว่าเขาจะทนอยู่กับสภาวะแบบนี้ได้นานแค่ไหน ก็อยู่ที่จิตวิทยาของ คสช.ด้วยว่าจะบริหารอำนาจได้แค่ไหน อย่างที่คนเขาบอก ยึดอำนาจมาไม่ยาก แต่การบริหารจัดการยากกว่า โดยเฉพาะในยุคที่คนมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างหลากหลาย แล้วก็มีโลกทัศน์กันแล้ว ถ้าถูกจำกัดลงไปมาก สังคมไทยจะทนไหวหรือไม่ แต่ก็เห็นด้วยว่า เราก็ควรถอยมาตรงกลาง เพราะเสรีภาพที่มากเกินไปก็อาจมีจุดอ่อน แต่ไม่ใช่ว่าไม่ให้เขามีเสรีภาพเลย แต่การจะกลับมาตรงกลาง จะกลับมาได้ยังไง ตัวเองก็ยังงงๆ อยู่ ยังมืดแปดด้าน
การแนะนำในเชิงทฤษฎีก็แนะนำได้ เช่น การกลับคืนสู่ประชาธิปไตย แต่ (ถอนหายใจ) ในความเป็นจริงก็ไม่รู้จะออกมายังไง เพราะตอนนี้เราเหมือนกับทุกคนถูกพาขึ้นขบวนรถไฟอีกขบวนหนึ่งซึ่งพาวิ่งวนไปในหุบเหว มันหยุดเมื่อไหร่ก็อาจน้ำมันหมด หรือยังไง ก็ไม่รู้เหมือนกัน เฮ้อ ตอบยาก (ถอนหายใจ)
- จากที่ฟัง เหมือนกับคิดว่านับแต่ คสช.ยึดอำนาจมาร่วม 20 กว่าวัน คสช.ได้สร้างความกลัวขึ้นมาหลายเรื่อง?
ก็เฉียบขาดในชั่วข้ามคืน ตัวเองก็กลัว และคงไม่มีใครไม่กลัว แต่ก็คงมีใครไม่กลัวและท้าทาย แต่ก็อาจจะเจอการจัดการแบบเฉียบขาด ที่ก็ส่งผลให้เกิดความกลัว แล้วก็กลายเป็นความเงียบ เงียบงัน ทุกคนก็คิดว่าธุระไม่ใช่ เงียบดีกว่า ตัวเราเองก็ได้รับการเตือนว่าอยู่เฉยๆ ก็ดีอยู่แล้ว ใจเย็นๆ ก็อยู่ในตำแหน่งทำงานไป ขนาดเราก็ไม่ได้ซ่าส์อะไร ก็แค่ทวิตเตอร์ มีให้สัมภาษณ์ ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร ทั้งที่เราอาจต้องทำอะไรมากกว่านี้หรือเปล่า?
ก็มีคนถามว่า กสทช.เป็นองค์กรอิสระ ทำอะไรมากกว่านี้ได้ไหม แต่หลายคนก็เลือกที่จะเงียบและเลือกที่จะเดินตามแนวของ คสช. แต่เราเลือกที่จะออกมาวิจารณ์บ้าง คนรอบข้างก็ทักกันเต็มไปหมดว่าหาเรื่องใส่ตัวทำไม อยู่เงียบๆ ไปก็ดีแล้ว มันก็สะท้อนให้เห็นว่ามันก็ได้ผล ความกลัวอันนี้มันมีผลไปแทบทุกอณู คนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์อะไรเยอะๆ ก็ยังเงียบเลย มันบอกไม่ถูก เหมือนกับว่าทุกคนก็รักชีวิตตัวเองมั้ง หรือไง
แต่ถามว่าเราจะอยู่กับความกลัวนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน เราก็กลัว ไม่ใช่ไม่กลัว แต่จะให้เราไม่พูดอะไรเลย แล้วอยู่เงียบๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นี้ มันก็ต้องพูด แสดงจุดยืน แต่อาจไม่ถูกใจใครบางคน หรือบางคนคิดว่าเรากำลังสร้างปัญหาให้กับองค์กรหรือเปล่า หรือ คสช.อาจจะไม่พอใจ ก็มีคนเตือนเหมือนกันว่า อย่าพูดมาก เดี๋ยว คสช.ไม่พอใจ ก็ยุบกันหมด เราก็คิดว่าไม่ใช่มั้ง แต่ก็ทำให้เราเกร็ง

-อะไรที่ คสช.ควรยกเลิกหรือไม่ทำเลย ตอนนี้?
ถ้าเป็นเรื่องสื่อ ก็อย่างที่บอก ทีวีหรือวิทยุที่เขาถูกแบนพร้อมจะปรับตัว ก็ควรเร่งให้เขาได้กลับมาทำงาน ไม่ควรอึมครึมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ต้องมีคำตอบให้เขา และประกาศ คสช.ฉบับที่ 14 และ 18 ที่ต้องดูว่าควรยกเลิกหรือไม่ เพื่อให้สื่อกลับมาทำหน้าที่ของเขาได้ตามปกติ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการไปผลักสื่อให้กลายเป็นสายลมแสงแดดกันหมด คือไม่กล้าทำอะไรที่แหกคอก หรือไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ช่องข่าวสารก็ต้องมาเซ็นเซอร์ตัวเอง
ส่วนเรื่องที่นอกเหนือจากเรื่องสื่อ แต่จะเสนอแนะได้บ้างก็คือ การที่ห้ามพลังบริสุทธิ์ไม่ให้แสดงออกเลย เช่น การที่จะห้ามเขาชูสามนิ้วหรือกินแซนด์วิชอะไร คิดว่ามันหนักไป ถ้าเขาทำอะไรที่เป็นพลังบริสุทธิ์ คนรุ่นใหม่ ที่เราก็ต้องถามกลับกันว่าถ้าประเทศไทยไม่มีนักศึกษา ไม่มีคนรุ่นใหม่ พลังบริสุทธิ์ที่ลุกขึ้นมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้ มันจะแปลกมาก
การที่มีมาแค่นี้ ส่วนตัวคิดว่าน้อยมากแล้ว การไม่ให้มีเลยในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและเสรีมานาน แล้วจะไม่ให้มีนักศึกษาไปยืนค้านตามรถไฟฟ้าเลยหรือตามมหาวิทยาลัย ที่ดูแล้วก็ไม่ได้มีแกนนำ มันจะแปลกมากเลยถ้าไม่มีเลย ที่มีมันไม่แปลก เราว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามาก ถ้าไปจำกัดเขามาก มันจะเกินกว่าเหตุไปไหม ทำไมไม่ปล่อยให้เขาได้แสดงออก ที่มันดีกว่าจะให้เขาไปลงใต้ดิน หรือถึงจุดหนึ่งแล้วเขาอึดอัด เพราะเขาไม่มีที่ทาง การให้คนได้แสดงออกจะได้ทำให้ประเทศไทยเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ดำดิ่งมาก หากเขาลงไปใต้ดินแล้วมันก็ไม่ดีกับทุกฝ่าย อย่างน้อย คสช.ต้องรักษาหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐานไว้บ้าง อย่าให้มันติดลบมาก การรวบอำนาจไม่ได้เป็นคำตอบในยุคดิจิตอลที่มีการโยงใยถึงกันหมดแล้ว
-มองการเรียกคนไปรายงานตัวที่มีทั้งนักหนังสือพิมพ์ คนทำข่าวเว็บไซต์ นักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ อย่างไร?
การเรียกรายงานตัวทำให้เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะโดนเรียก มันทำให้เกิดความกลัว เกร็ง กังวล แล้วในทางจิตวิทยามันก็ทำให้คนเราจิตตก เครียด ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเลย ถ้าไม่ใช่ระดับแกนนำที่ปลุกระดม คสช.ควรจัดการกับคนที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรง หรือคนที่คิดจะล้มล้างสถาบัน ถ้ามีหลักฐานชัดก็โอเค เชิญเขามา
มันจะมีมาตรการอะไรที่จะไม่สร้างความกลัวขนาดนี้ไหม เพราะหลายคนที่ถูกเชิญไปเราก็รู้จักและเห็นใจ แล้วก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะมีใครที่จะโดนเรียกไปมากกว่านี้หรือเปล่า มันเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด เราเคยทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพมาก่อน พอเห็นแบบนี้ก็อึดอัด เครียดแทน
“สุภิญญา” เปรยว่า ด้วยความเห็นต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้ถูกมองว่าเป็นพวกโลกสวย จนเวลานี้ต้อง unfriend กับเพื่อนไปในเฟซบุ๊กบางส่วนไปแล้ว
…ตอนนี้สังคมก็แบ่งเป็น 2-3 แนว เพื่อนเราหลายคนก็บอกว่าแบบนี้ก็ดี บอกว่าสงบ จนทะเลาะกับเพื่อน จน unfriend กับเพื่อนไปในเฟซบุ๊ก เพราะเราพยายามพูดเรื่องเสรีภาพ เพื่อนก็ไม่เข้าใจหาว่าเราเป็นพวกโลกสวย แล้วแปลกมาก คนที่บอกว่าชอบมันสงบ ก็คือคนที่ชอบไปร่วมเคลื่อนไหวช่วงก่อน 22 พ.ค. ไปเดินปิดถนน แต่หลายคนในกลุ่มนี้ พอหลัง 22 พ.ค. บอกว่าเราควรอยู่เงียบๆ ให้บ้านเมืองสงบ ให้ทหารเขาจัดการไป
“ข้าพเจ้าก็งงเหมือนกัน ว่าเฮ้ยทำไมมันเปลี่ยนวะ คนที่เคยบอกภูมิใจในการเมืองภาคประชาชน แต่หลัง 22 พ.ค. บอกว่าดีแล้ว ปิดๆ ไปเถอะทีวีการเมือง ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่พอใจแบบนี้ เขารู้สึกว่าเขามีความสุข แต่ก็มีเสียงที่เงียบงันที่ไม่รู้จริงๆ ว่าเขาพอใจหรือไม่พอใจ หากถาม เราก็บอกว่าอึดอัด แต่ถามว่าแล้วจะทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม ก็ยังมืดแปดด้านอยู่”

 

……………………………………………………………..

 

อนาคตสื่อเลือกข้าง
จะเดินไปทางไหน?

ผลประชุม กสท. เมื่อ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ทีวีนิวส์ และ Voice TV ได้กลับมาออกอากาศอีกครั้ง และส่งเรื่องไปให้ คสช.แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่า คสช.จะเห็นด้วยหรือไม่ ส่วนอนาคตทีวีดาวเทียมอีกหลายแห่งที่ถูกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 15 สั่งระงับออกอากาศ และวิทยุชุมชนทั่วประเทศอีกหลายพันสถานีจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ “สุภิญญา” เองก็ยังยอมรับว่าตอบไม่ได้ แต่ คสช.ควรรีบทำให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว
ก็มีเอเอสทีวี บลูสกาย มายื่นเรื่องกับเรา เพราะอยู่ในคำสั่ง คสช.ที่ห้ามออกอากาศฉบับที่ 15 รวม 14 สถานี ซึ่งทั้ง 14 สถานีก็มีทั้งที่ได้รับอนุญาตจาก กสท. ส่วนสถานีที่ไม่ได้รับอนุญาต เราคงไปช่วยอะไรเขาไม่ได้ เพราะสิทธิเขาไม่ได้รับการคุ้มครอง
…ถ้าจะไม่ให้เขาออกอากาศเลยตลอด ก็ต้องบอกเขา การปล่อยเวลาไว้เนิ่นนานโดยที่ทำให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ส่วนหนึ่งเขาไม่รู้ทิศทาง มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ ทั้งที่บางสถานีเขาไม่ได้ต่อต้านรัฐประหารด้วยซ้ำ
อย่างเช่น ASTV หรือ Bluesky แม้แต่ Voice TV ถ้าดูกันจริงๆ ก็มีรายการการเมืองไม่ได้เยอะ แล้วตอนนี้เขาก็ยอมปรับผังรายการแล้ว ก็ควรเชิญทั้ง 14 ช่องทีวีไปคุยแล้วพูดกันให้ชัด ถ้าบอกว่าไม่มีสิทธิ์ออกอากาศแล้วก็จะได้ทำใจ จะมีการเยียวยากันอย่างไร จะได้ตัดสินใจกันให้ถูก หรือหากจะให้กลับมาออกอากาศได้ แต่ต้องไม่ใช่เป็นช่องที่มีการเมือง ต้องเซ็นสัญญา เขาก็ยินดี ถ้าคนเขายอมลดเสรีภาพตัวเองลง สื่อจอสีพวกนี้เขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีมวลชนของตัวเอง มีตัวตน มีบุคลิก มีศักดิ์ศรีของเขา แล้ววันนี้อำนาจโดยยึดไป เขายินยอมจะปรับตัวเอง 180 องศา พยายามปรับผังเพื่อความอยู่รอด ก็ต้องให้โอกาสเขา
ถ้าหากเขาอยากกลับมาเป็นสื่อที่จะช่วยสนับสนุนการปรองดอง เมื่อจะสลายสีเสื้ออะไรแล้ว การไม่ให้โอกาสเขา เพราะก็ดูจะไม่เป็นธรรม เพราะเราก็ยังให้โอกาสช่องอื่นๆ เช่น เนชั่น, Spring News ออกอากาศได้ ตรงนี้ก็ต้องคุยกันให้ชัดเจน ส่วนวิทยุชุมชนที่มี 4 พันกว่าสถานี ตอนนี้ถูกปิดหมด ก็เห็นด้วยว่าหลายสถานีมีปัญหา แต่การที่เราไปเหวี่ยงแหก็ทำให้คนที่เขาตั้งใจทำดี ทำมาหากิน ก็ต้องหยุดไปด้วย แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้น เพราะ กสทช.ก็พยายามหาทางออกแล้วส่งความเห็นไปยัง คสช.แล้ว ก็น่าจะมีทางคลี่คลายในระยะเร็ววันนี้
“กสทช.” ผู้นี้ยอมรับว่า หาก กสทช.ชงเรื่องไปให้ คสช.เรื่องการยกเลิกการปิดสื่อแล้ว หาก คสช.ไม่เห็นด้วย กสทช.ก็อยู่ในอาการ “เงิบ”
…คนเขาจะเห็นว่าเราไม่มีอำนาจ ถึงได้บอกกับทางสำนักงานว่าเราก็ต้องระวัง ทุกอย่างจึงต้องมีการคุยนอกรอบแล้ว แต่เราไม่ได้ไปคุยเป็นสำนักงาน เป็นกรรมการคนอื่นไปคุย แต่ที่ Voice TV กับทีนิวส์ได้เข้ามาก่อน ก็เพราะเขาไปยื่นหนังสือที่ คสช.ไว้ก่อนแล้วด้วย แต่ก็มีหลายช่องที่เขาก็ถามว่าทำไมช่องเขายังไม่ได้ ก็เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะ กสท.ก็เกรงว่าหากเสนอไปแล้วทาง คสช.ไม่โอเค ก็เงิบขึ้นมา คือจะกลายเป็นว่าเรามีอำนาจหรือไม่มี การเสนออะไรก็ต้องให้มีสัญญาณ แต่มันเหมือนกับไม่มีการคุยกันแบบเปิดเผย ชัดเจน ก็เหมือนกับมันก็อึมครึมกันอยู่แบบนี้ คนก็ด่า กสทช. ทั้งที่อำนาจเด็ดขาดก็ไม่อยู่ที่เรา ก็ต้องยอมรับถ้าเราเสนอไปแล้ว โดนปฏิเสธบ่อยๆ หรือไม่เกิดผล มันก็จะเป็นการลดเครดิต กสทช.ลงไปด้วย
จึงต้องคุยกัน ดีกว่าปล่อยให้เสียงกดดันดังอยู่ข้างนอก ทุกอย่างทำให้มันคลีนๆ ชัดเจน ถ้าเขายอมปรับตัวปรับผัง ยอมเซ็นสัญญาใหม่ทุกอย่าง แล้วเขาทำผิดเงื่อนไขก็ค่อยไปว่ากัน อย่างพนักงานลูกจ้าง หากเขาไม่มีเงินเดือน ตกงานขึ้นมาจะทำยังไง มันจะเป็นการบังคับเลย์ออฟคนเยอะเป็นพัน โดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าเขาผิดอะไร แล้วหากเขาผิด เขาขอโอกาสปรับตัว เมื่อสื่อที่เลือกข้าง สื่อที่มีมวลชนของตัวเองมากขนาดนี้ยอมปรับตัวเองเพื่อลดเสรีภาพลง ก็เชื่อว่าเขาก็ขมขื่น ต้องทนกล้ำกลืนความเจ็บปวดเพื่อเข้าสู่บรรยากาศของการปรองดองและการสลายสีเสื้อ ก็ควรให้เขาได้กลับมาทำงานตามวิชาชีพของเขา
ส่วนการปรับตัว-ปรับผังที่เกิดขึ้นของสื่อจะเกิดขึ้นตลอดไป หรือเฉพาะช่วง คสช. แล้วถ้ามีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งเข้ามาจะทำอย่างไรกันต่อไป “สุภิญญา” ให้ความเห็นว่า ตอบแทนยาก แต่ก็ต้องเป็นช่วงตอนนี้ แต่หากการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง สายลมเปลี่ยนทิศ ทิศทางมันก็เปลี่ยนอยู่แล้ว ตอนนี้ทิศทางคือ คสช.อยู่ในอำนาจ ทิศทางก็ต้องเป็นแบบนี้
อย่าง Voice TV เขาก็ยอมปรับผังรายการที่เป็นจุดขายของเขา อย่าง Wake Up Thailand หรือรายการ The Daily Dose ของคุณปลื้ม (ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล) ก็จะปรับให้เป็นเรื่องข่าวต่างประเทศ
-ในมุมมองคิดว่าที่สื่อยอมปรับเพราะอะไร โดนจำกัดหรือเพื่อให้อยู่รอด?
ถึงได้พูดว่าเราก็เศร้าเหมือนกัน เพราะเราเป็นคนตรวจผังที่เขายอมรับ แต่เราจะไปบอกเขาว่าไม่ควรปรับ มันก็ไม่ได้ เพราะถ้าเขาไม่ปรับ เขาก็ไม่ได้ออกอากาศ เขาก็ต้องเลือกเพื่อความอยู่รอด
ที่ความเศร้าตรงนี้ก็คือว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องจิตวิญญาณ เหมือนกับว่าต้องเก็บไว้ในใจก่อน เอาความอยู่รอดก่อน เขายอมปรับเพื่อให้สถานีได้กลับมามีชีวิตต่อไปได้ ก็ต้องแลกกับเสรีภาพ ที่ทางนั้นเป็นฝ่ายยอมเอง แต่มันก็เหมือนกับถูกบังคับให้ยอม เพราะหากไม่ปรับก็ไม่รู้วันไหนจะได้กลับมาออกอากาศ ส่วนทีนิวส์ที่เมื่อก่อนเป็นแนวถ่ายทอดการชุมนุม ก็คงไม่ได้แล้ว คือมีการเสนอข่าวอยู่ แต่ไม่ใช่มาเลือกข้างชัดเจน เข้าใจว่าพวกทีนิวส์ บลูสกาย วอยซ์ทีวี ก็คงปรับให้เป็นแบบนั้น อาจมีการปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์รายการ
อย่างผังที่เสนอเข้ามาในที่ประชุม กสท. เมื่อ 9 มิ.ย. ก็เพิ่งเห็นในวาระการประชุม ทาง Voice TV ก็ไปปรับผังรายการเขามาเอง แต่ก็ได้ทำความคิดเห็นไปว่า ต่อไปก็ต้องคืนเสรีภาพให้เขา ที่ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อผ่าน กสทช.ไปแล้วจะได้กลับมาออกรายการเมื่อใด ก็อยู่ที่ คสช. แต่เสียงของ กสทช.ก็จะมีน้ำหนักว่าได้ผ่านความเห็นชอบของ กสทช.มาแล้ว ส่วนบลูสกายที่ยื่นเรื่องมาก็ขอปรับผังรายการ เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่ จะไปชูเรื่องการปฏิรูปประเทศ สลายสีเสื้อ กันตัวเองออกจากกลุ่มการเมืองจากพรรค ซึ่ง คสช.ก็คงให้เขาออกมั้งถ้าจะออกไปในแนวนั้น
ถามย้ำว่า ก็คือสื่อก็ต้องปรับตัวเองให้อยู่รอดในยุค คสช. “สุภิญญา” ก็ตอบว่า ใช่ ก็เจ็บปวดไง คือเขายอมปรับโดยลดจิตวิญญาณ ลดเสรีภาพเขาเอง เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด แต่หากเขาหยิ่งไป สถานีก็ไม่ได้กลับมาออกอากาศ แล้วพนักงานของเขาจำนวนมากหลายร้อยคนจะทำยังไง ยุคทุนนิยมอาจมีบางรายการต้องเงียบ เพราะรับโฆษณา อาจมีบางรายการวิจารณ์ได้ แต่อันนี้ทุกรายการเลยต้องปรับ สื่อฟรีทีวีอาจไม่ค่อยเดือดร้อนมาก อาจต้องระวัง พับเพียบมากขึ้น แต่ฟรีทีวีก็ไม่ได้ท้าทายอะไรอยู่แล้ว เพราะวัฒนธรรมของฟรีทีวีก็ไม่ใช่วัฒนธรรมที่ตั้งคำถามมากกับรัฐบาลอยู่แล้ว แต่พวกทีวีเลือกข้างเขามีเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีของเขาเยอะ การที่ต้องยอมลดลงมาก็แสดงว่าต้องบีบคั้นแล้วเพื่ออยู่รอด ก็ต้องให้เขามีที่ยืนบ้าง อย่าให้ล้มหายตายจากไปจากประเทศนี้เลยคงไม่ได้
“สุภิญญา” ยังพูดถึงอนาคตของ กสทช.ต่อจากนี้ โดยให้ความเห็นว่าที่ กสทช.ไม่โดน คสช.ยุบ ดูจะไม่แปลกใจอะไร เพราะ คสช.ก็ไม่ได้มีการยุบองค์กรอิสระตาม รธน.ปี 50 ที่ก็คงเพราะแต่ละองค์กรอิสระก็มีงานเฉพาะหน้าที่ต้องทำ
อย่าง กสทช.ก็มีงานที่คาๆ อยู่ การยุบไปก็มีผลเช่นกัน อาทิ เรื่องทีวีดิจิตอล เรื่อง 3 จี หากยุบไปแล้วใครจะมาทำงานตรงนี้ ถ้ามองว่าจะใช้เราเป็นเครื่องมือไหม ก็แน่นอนว่าในสถานการณ์ที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเบ็ดเสร็จแบบนี้ กสทช.ไม่มีความเป็นอิสระอยู่แล้ว ถ้าย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลประชาธิปไตย หลายคนอาจสงสัยว่าเราเป็นอิสระไหม มีการแทรกแซงทางตรง-ทางอ้อมจากรัฐบาลหรือเปล่า ทุกคนก็วิจารณ์กันได้ แต่อย่างน้อยพูดถึงตัวเอง เราเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอะไร เราก็วิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ ตัดสินใจได้เต็มที่ ไม่มีอำนาจอะไรมาทับเราอีกที แต่มาเป็นยุครัฐบาลปัจจุบันมันเหมือนกับมีเงามาครอบเราเลย แม้เขาไม่ได้เรียกเราไปคุย แต่ประกาศเขามันทับเราเลย มันสะท้อนให้เห็นว่า มันไม่มีการคานอำนาจอะไรแล้ว ไม่เป็นอิสระแล้ว
ที่เขาไม่ยุบก็อาจเหตุว่ามีงานมากมายที่ กสทช.ต้องทำ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะตอนนี้หลายคนก็กำลังรอดูรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ องค์กรอิสระ 7 องค์กรก็กำลังงงกันอยู่ว่าจะยังไง จะปรับยังไง จะอยู่หรือไป กสทช.เองก็ต้องรอดูรัฐธรรมนูญที่จะออกมาด้วย
“ส่วนตัวมีความรู้สึกลึกๆ ว่า ไม่มากก็น้อย กสทช.อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่จะช้าหรือเร็ว”
…คือถ้าไม่โดนประกาศ คสช.ยุบไปเลย แต่ดูแล้วก็ค่อนข้างยาก เพราะงานก็ล้นมือ ถ้าไม่มี กสทช.ก็ไม่คนทำงาน กับต้องรอดูรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะออกมากับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะร่างกันขึ้นมาในอนาคต จะเขียนวางกันอย่างไร จะปรับใหม่หมด องค์กรอิสระทั้งหลาย ที่อาจจะไปกระทบกับ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง และสาม เมื่อมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาแล้ว เขาไปปัดฝุ่นแก้กฎหมายต่างๆ ขึ้นมา เช่น กฎหมายสื่อ กฎหมายอินเทอร์เน็ต ถ้ามีการแก้ไขก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับ กสทช.
ถามความเห็นในฐานะเป็น กสทช. และทำเรื่องปฏิรูปสื่อมานาน มองว่าจากสถานการณ์เวลานี้ บทบาทของสื่อกับการสร้างความปรองดองที่เป็นนโยบายหลักของ คสช. “สุภิญญา” สะท้อนมุมมองไว้ว่า เรื่องสื่อกับการสร้างความปรองดอง สื่อต้องเยียวยาบาดแผลคนด้วย ไม่ใช่ว่าหลัง 22 พ.ค. ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทุกอย่างงดงาม มีความสุข จะทำตามแนว คสช. กลุ่มต่างๆ ว่ายังไงไม่ต้องไปสนใจแล้ว มันไม่ได้
…เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนที่เขามีบาดแผลเขากระจายไปอยู่กับคนกลุ่มต่างๆ สื่อก็ต้องมีบทบาทในการเยียวยาบาดแผลสังคม บาดแผลผู้คนที่มีความคิดขัดแย้งด้วย การเยียวยาก็คือการต้องเปิดพื้นที่ให้เขาได้สะท้อนความคิดความอ่านของเขา ให้ได้สื่อสารความคิดเห็นกับผู้นำว่าเขาคิดและต้องการอะไร ให้เขาได้แลกเปลี่ยนกันเอง จากที่เคยทะเลาะกัน แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ถูกปิดเหมือนกัน แต่สื่อก็ไม่กล้าทำ เพราะหากทำแบบนั้นก็เหมือนกับไม่ยอมสลายสีเสื้อ หรือไปแตะการเมือง สื่อก็จะเลี่ยงไปทำอะไรสายลมแสงแดด ทำเป็นเสมือนไม่เคยมีบาดแผลเกิดขึ้น อันนั้นมันจะไม่ปรองดอง มันเหมือนกับเราซุกอะไรไว้ใต้พรม
…ก็ต้องให้สื่อได้เยียวยาบาดแผล ให้สื่อได้สะท้อนความจริง ไม่ใช่ว่าให้ทุกคนเงียบแล้วให้เสนอแต่แนวทางของผู้นำอย่างเดียว ถ้าไม่เยียวยาบาดแผลของสังคม มันก็ยากที่จะนำไปสู่การปรองดอง
เธอย้ำตอนท้ายว่า การเสนอข่าวการเมืองมันไม่ได้กระทบกับความมั่นคงหรอกถ้าไม่ได้บิดเบือนหรือยั่วยุ แต่ถ้าให้สายลมแสงแดด คืนความสุขแล้วมองไม่เห็นปรากฏการณ์ที่เคยมีมาในอดีต ลบทิ้งไปเลยหรือซุกไว้ใต้พรม มันไม่นำไปสู่การปรองดอง การโฆษณาชวนเชื่อหรือการสื่อสารด้านเดียว มันไม่ได้เป็นคำตอบในยุคทีวีดิจิตอลอย่างในเวลานี้.

ขอบคุณที่มาข่าว : ไทยโพสต์