ณ นิวเดลี : ITU จัดอบรมเทคโนโลยีดิจิตอลและเทรนด์การเปลี่ยนผ่านฯ

Sum up points from ITU training on digital broadcasting tech&implementation.

วันที่ 9 กพ. 57

รอขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน

สรุปประเด็นจากการอบรมของสหภาพโทรคมนาคมสากล (ITU) ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

1. เทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์และวิทยุในระบบดิจิตอลเป็นประเด็นร่วมกันของหลายประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิค แต่มีบริบทต่างกัน เช่น อินเดียเขาเน้นเร่งการเปลี่ยนผ่าน เคเบิลทีวีอะนาล็อกไปสู่ดิจิตอลให้ครบทั่วทั้งประเทศในปีนี้ โดยการสนับสนุนนโยบายจากรัฐบาลอย่างจริงจัง เพราะคนที่ดูทีวีส่วนใหญ่เข้าถึงเคเบิลทีวีในราคาที่ไม่แพง แม้แต่คนในชุมชนแออัดก็ติดเคเบิลเพราะเป็นแหล่งรับรู้ข่าวสารและบันเทิง ในขณะที่ฟรีทีวีภาคพื้นดินของเขาเป็นสื่อของรัฐทั้งหมด

รัฐคงไม่ได้เน้นขยายโครงข่ายภาคพื้นดิน แต่สนับสนุนการเติบโตของเคเบิลและทีวีดาวเทียมแทน สลับกับของไทยที่เคเบิลและทีวีดาวเทียมเติบโตเองตามกลไกตลาดธรรมชาติ ไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีหรือส่งเสริมโดยรัฐอย่างเป็นระบบ

กสทช.เกิดทีหลังค่อยมาตามให้ใบอนุญาตและเริ่มต้นการกำกับดูแล แต่แผนแม่บท กสทช.ให้ความสำคัญกับการขยายโครงข่ายและการแข่งขันในระบบฟรีทีวีภาคพื้นดิน ผ่านการจัดสรรและประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลมากกว่า

กสทช.มีการออกแบบฟรีทีวีดิจิตอลตั้งแต่ต้นทางในทุกเรื่อง ไม่ได้ปล่อยให้กลไกตลาดขับเคลื่อนไปเอง เพราะกิจการนี้มีการลงทุนสูง และซับซ้อนกว่า รวมทั้งทรัพยากรคลื่นมีจำกัดด้วย 

กสทช.กำหนดมาตรฐานทางวิศวกรรมของเครื่องส่ง และเครื่องรับ รวมไปถึงทุกรายละเอียด 2 ปีก่อนที่เคยไปฟังการอบรมของไอทียู เรายังไม่มีอะไรเลย ตอนนี้ สำนักงานและบอร์ดกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคให้อุตสากรรมทีวีเสร็จเรียบร้อยโรงเรียน กสทช.แล้ว งานเลยคืบหน้าไปได้เร็ว ในขณะที่หลายประเทศใช้เวลานานในการเลือกมาตรฐาน/ระบบ หรือเลือกแล้วเปลี่ยน หรือปล่อยให้กลไกตลาดทำงานตัดสินระบบเองซึ่งจะวุ่นวายกว่า 

มาตรฐานทางเทคโนโลยีทีวีดิจิตอลของโลกมี 4 แบบ คือ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ ของเราเลือกใช้มาตรฐานใหม่ล่าสุดของยุโรป ระบบ DVB-T2 (Digital Video Broadcasting รุ่น 2) ซึ่งมีการถกกันว่าแล้วจะมีรุ่น 3 ไหม แต่ผู้เชี่ยวชาญ ITU บอกว่าคงยากแล้วเพราะ ตามทฤษฎีของ Shannon นั้น limit แล้ว คลื่นความถี่จำกัดได้แค่นี้ แต่ใครจะรู้ศักยภาพของมนุษย์ในการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆไปอีกในการใช้งานคลื่นฯ

สรุป เราออกแบบมาตรฐานทีวีดิจิตอลเรียบร้อยใน 2 ปี คงตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกระบบยุโรป แม้ว่าระบบญี่ปุ่นจะเอื้อต่อการทำ Mobile TV มากกว่าในบางมิติ เพื่อนบ้านเราอย่างเช่น มาเลเชียใช้ระบบยุโรปเหมือนกัน แต่ลาวจะใช้ระบบของจีน อาจมีปัญหาเรื่องเครื่องรับข้ามพรหมแดน แต่ถ้า กสทช.ให้ Must Carry สัญญาณทีวีดิจิตอลผ่านจานดาวเทียม คนลาวที่ดูทีวีไทยผ่านดาวเทียมอยู่แล้วก็จะดูทีวีดิจิตอลได้ด้วย 

กรณีทีวีดิจิตอลของไทย กลายเป็นบทเรียนให้ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันได้ศึกษา ปีนี้คาดว่าคงมีการเดินสายไปแลกเปลี่ยนในเวทีสัมมนาระดับสากลอีกหลายเวที ดีใจเหมือนกันที่เราเป็น case study (ในทางดี หวังว่า) ให้คนอื่นได้ศึกษาบ้าง 

จากบทวิเคราะห์ของ ITU มองว่าแม้โครงข่าย Broadband ทางโทรคมนาคมที่ให้คนรับข้อมูลข่าวสารผ่านอินเตอร์เน็ทมากขึ้นและน่าสนใจกว่าสื่อเดิมแบบทีวี แต่จากบทเรียนทั่วโลก ฟรีทีวีภาคพื้นดินยังเป็นที่นิยมและมีเม็ดเงินโฆษณามากอยู่ดี ยืนยันว่าทีวีจะไม่ตายแต่ยังเป็นแหล่งรับข่าวสาร สาระ และความบันเทิงหลักของครัวเรือน อันนี้คงเป็นกำลังใจให้ 24 รายที่กำลังจะเริ่มแข่งขันกันออนแอร์ทีวีดิจิตอล

สำหรับ Mobile TV มาตรฐานญี่ปุ่นและเกาหลีคงเป็นต้นแบบได้ เพราะเป็นที่นิยมในบ้านเขามาก โมบายทีวี คือทีวีภาคพื้นดิน ส่งผ่าน MUX ดิจิตอล (ซึ่งต้องดูว่าใครจะเป็นคนได้รับการจัดสรรโดย กสทช.) โมบายทีวีดูได้ผ่าน devices อื่นๆ นอกจากเครื่องรับโทรทัศน์ เช่น มือถือ แทบเล็ต และ ‘Phablets’ ถามเขาว่าไทยควรใช้โมเดลไหน เข้าบอกว่าให้รอตลาด DVB ระดับสำหรับโมบายทีวีสุกงอมก่อนเราค่อยตามเขาไป

ส่วน IPTV (อันนี้ยังไม่เข้าใจด้านเทคนิคมากนัก ขอศึกษาเพิ่มเติมก่อนค่ะ) case study มีฮ่องกงตอนนี้ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ของไทยเราแม้ กสทช.ให้ใบอนุญาตโครงข่ายไปแล้ว แต่ service ยังไม่คึกคักในตลาดผู้บริโภค ส่วนด้านเนื้ิอหาผ่านระบบนี้ก็ยังไม่เติบโตมาก

มาถึงวิทยุดิจิตอลบ้าง มาตรฐานทางเทคนิคของเรา สำนักงาน กสทช กำลังจะสรุปในปีนี้ รายงานของ ITU ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้ กสทช. เขียนเสร็จแล้ว ไปทวงเขาที่เดลีด้วย เขาเลยส่งร่างสุดท้ายให้ คงได้อ่านก่อน สำนักงานส่งเข้าบอร์ด

การทำวิทยุดิจิตอลยากกว่าทีวีเพราะ เทรนด์ของเทคโนโลยีและตลาดระดับโลกก็ยังไม่นิ่งเหมือนทีวีดิจิตอลที่ร้อยกว่าประเทศเดินหน้าไปแล้ว แต่บริบทของไทยเหมาะสมมากสำหรับทำวิทยุดิจิตอลเพราะน่าจะมีสถานีวิทยุ FM มากที่สุดในโลกแล้ว การตั้งสถานีวิทยุดิจิตอลจะทำไม่ง่ายเพราะต้องออกอากาศผ่าน MUX หรือ โครงข่ายฯเหมือนโมเดลทีวีดิจิตอล ไว้ศึกษารายละเอียดวิทยุดิจิตอลแล้วจะมาสรุปเพื่อทราบค่ะ 

นอกนั้นเป็นรายละเอียดด้านเทคนิคสูงมาก ต้องมีพื้นฐานวิศวะจึงจะเข้าใจ เช่นเรื่อง Band plan / Modulation และศัพท์แสงต่างๆที่ยาก แต่ตัวแทน ITU ชมพนักงาน กสทช.ที่ดูแลด้านเทคนิควิศวกรรมคลื่นความถี่ฯว่าเก่งได้มาตรฐานสากล ส่วนตัวเห็นด้วยว่าเจ้าหน้าที่ กสทช.เก่งด้านความรู้ การบริหารและวิเคราะห์คลื่นความถี่มากทีเดียว (แต่ยังไม่มีทักษะแบบ CIA agent ที่จะไล่ล่าคนกวนคลื่นดาวเทียมแบบ cyber warfare ได้ LoL)

ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ด้านเทคนิคเลย ส่วนใหญ่คนทำงานเป็น regulator ต้องมีฐานความรู้เรื่องเทคโนโลยี แต่เราเป็นตัวแทนสายสังคมเน้นสิทธิผู้บริโภคเปรียบเหมือนแม่บ้านไปซื้อผงซักฟอก เราไม่รู้หรอกว่าผงซักฟอกทำจากสารเคมีอะไรบ้าง รู้แต่ว่าเราดูราคาเหมาะสม ซักสะอาด เป็นมิตรต่อมือเราและสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเรารู้เบสิกไว้บ้างก็จะดี จึงได้เริ่มมาอบรมด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติม จะได้เท่าทันการออกแบบเทคโนโลยีที่อิงกับหลักเศรษฐศาสตร์การเมืองมากขึ้น

(ตอน 2 โปรดติดตามโพสต์ต่อไปค่ะ)