จับตาวาระ กสท. : เตรียมผ่านร่างฯคุมเนื้อหา และ 3 ร่างฯแข่งขันก่อนประมูลดิจิตอล
จับตาวาระ บอร์ด กสท. จันทร์นี้ เตรียม ผ่านร่างฯประกาศกำกับเนื้อหารายการวิทยุ – โทรทัศน์ หลังสำนักงานปรับแก้อีกรอบก่อนขยายระยะเวลาการรับฟังความเห็นสาธารณะต่อไป//ด้านประมูลดิจิตอล เตรียมออกร่างฯ กำกับการแข่งขันป้องกันการผูกขาด 2 ฉบับ และ ร่างฯ ป้องกันการครอบงำ – ครองสิทธิ์ข้ามสื่อ
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วันจันทร์ที่ 11 พ.ย. 2556 เตรียมผ่าน (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …. หรือร่างฯกำกับเนื้อหาทางโทรทัศน์วิทยุ ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (ที่ระบุว่า ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการที่สามารถสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไข หรือพักใช้ใบอนุญาตได้) ภายหลังจากครั้งที่แล้ว เสียงส่วนใหญ่มีมติให้สำนักงาน กสทช. นำร่างไปปรับแก้ไข ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม กสท. อีกครั้ง และจะเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อรับทราบและขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกรอบ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ และผู้บริโภค ซึ่งนางสาวสุภิญญา ยอมรับว่า แม้จะมีการปรับเนื้อหาในร่างประกาศบางส่วนแล้วก็ตาม แต่พบความกังวลว่าอาจจะขยายอำนาจการใช้ดุลยพินิจของบอร์ด กสท. ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่อาจขัดต่อความเป็นจริง และอาจเกิดการเลือกปฏิบัติได้ เพราะที่ผ่านมาการออกอากาศเนื้อหาที่บิดเบือนข้อเท็จจริงไม่ว่าจะใน ละคร ข่าว หรือรายการต่างๆ สื่อและสังคมจะช่วยตรวจสอบเองตามหลักการประชาธิปไตย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ มาตรา 39 และ40ได้กำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือวิชาชีพมีหน้าที่กำกับดูแลตนเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมทางวิชาชีพ ซึ่งหากการออกอากาศกระทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เรามีกระบวนการยุติธรรมรองรับตรงนี้ แต่ไม่น่าจะเป็นการให้ กสท. พิจารณาว่าความถูกต้องทั้งหมด ดูเหมือนว่าร่างฯฉบับนี้ มีหลายเรื่องเป็นหลักการที่ดี แต่มันยังเป็นเรื่องของจรรยาบรรณ ที่ควรจะออกมาเป็นแนวทางในการตักเตือนวิชาชีพ ซึ่งไม่ควรนำมาบรรจุไว้ใน “หมวด 1 เนื้อหารายการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ” เพราะขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่ได้รองรับสิทธิเสรีภาพตรงนี้ หากสื่อไม่ได้บิดเบือนหรือไปกระทบสถาบันที่สำคัญอย่างร้ายแรง โดยตนจะเสนอแนวคิดร่างฯทางเลือกในการกำกับเนื้อหาตามม.37 แบบที่ไม่ขัดเจตนารมณ์กฎหมายและหลักสิทธิเสรีภาพด้วย ไว้จะนำเสนอรายละเอียดต่อไป
นอกจากนี้มีวาระน่าสนใจติดตาม ได้แก่ การพิจารณาร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์กำกับดูแลการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน พ.ศ. … และร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาและมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขผลที่เกิดจากพฤติกรรมอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …
และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดลักษณะและมาตรการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดโดยการควบรวมกิจการ การครองสิทธิข้ามสื่อ และการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … ผลเป็นอย่างไรต้องจับตา
ในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. นี้ เวลา 14.00 นางสาวสุภิญญา เตรียมแถลงข่าวเรื่อง ความคืบหน้าการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโฆษณา อาหาร ยา และเรื่องอื่นๆ ณ ห้องสื่อมวลชน สำนักงาน กสทช. จึงขอเชิญสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วม…