สหพันธ์วิทยุชุมชน หนุน กสทช.เข้มเกณฑ์ทดลองออกอากาศ จัดระเบียบวิทยุเล็ก-แก้ปัญหาคลื่นทับกัน แนะทำจังหวัดนำร่องจัดโซนนิ่งแยกคลื่นชุมชน-สาธารณะ-ธุรกิจ
วันที่ 12 ธ.ค. 55 สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เรื่อง “สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555”
หนังสือดังกล่าวระบุว่าจากกรณีที่ กสทช.ออกหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ซึ่งสาระสำคัญได้แบ่งวิทยุขนาดเล็ก(รายใหม่) เป็น 3 ประเภท คือ กิจการบริการชุมชน กิจการบริการธุรกิจ กิจการบริการสาธารณะ อันจะนำไปสู่การจัดระเบียบวิทยุขนาดเล็กให้ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น และเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องวิทยุชุมชนให้ กับคนในสังคมด้วย นอกจากนั้นในมาตรฐานทางเทคนิคที่กำหนดให้วิทยุขนาดเล็กมีกำส่งได้ไม่เกิน 500 วัตต์ จะเป็นการลดปัญหาการทับกันของคลื่นสัญญาณ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของวิทยุขนาดเล็กในขณะนี้
สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ขอสนับสนุนระเบียบดังกล่าวและมีข้อเสนอเพื่อให้หลักเกณฑ์ดังกล่าว มีผลในทางปฏิบัติการจริงดังนี้ 1.ให้ กสทช. ดำเนินการตามระเบียบที่ออกมาอย่างเคร่งครัด เพราะหลายครั้งที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการในทางปฏิบัติ ทำให้กลุ่มวิทยุขนาดเล็กไม่เคารพในระเบียบต่างๆที่ออกมา ส่งผลให้เกิดภาวะไร้ระเบียบ 2.ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มวิทยุขนาดเล็กในระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดกลไกกำกับดูแลกันเอง และติดตามการปฏิบัติตามระเบียบในระดับพื้นที่
3.ช่วงที่อยู่ระหว่างทดลองประกอบกิจการเพื่อรอการจัดสรรคลื่นใหม่ ตามเงื่อนไขแผนแม่บทคลื่นความถี่ (อีก 3 – 5 ปี) ให้มีการทดลองจัดสรรคลื่นความถี่ในระดับจังหวัด (ในจังหวัดที่การใช้คลื่นความถี่ไม่มากนัก) โดยมีการจัดโซนกลุ่มย่านคลื่นที่เป็นการบริการประเภทเดียวกัน ให้คลื่นอยู่ติดกัน คือย่านคลื่นบริการชุมชน บริการธุรกิจและบริการสาธารณะ เพื่อง่ายในการกำกับดูแลป้องกันการรบกวนกันของคลื่นสัญญาณ โดยทำในลักษณะจังหวัดนำร่อง โดยเมื่อมีการคืนคลื่นมาจริงๆก็นำรูปแบบดังกล่าวขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆต่อไป
ทั้งนี้ นายพรพิพัฒน์ วัดอักษร ประธานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ประกอบการวิทยุชุมชนในเครือข่ายประมาณ 30 สถานี ได้ยื่นคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่สำนักงาน กสทช. โดย
น.ส.สุภิญญา กรรมการ กสทช.กล่าวว่าจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ขณะนี้มี 152 สถานีวิทยุได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ และอีกกว่า 1,000 สถานีเข้ายื่นคำขอ จากวิทยุทั่วประเทศกว่า 7,000 สถานี
โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ได้จนถึงวันที่ 17 ม.ค.56 และคาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จประมาณปลายเดือน ม.ค.56 เมื่อจัดระเบียบวิทยุแล้ว กสทช. จะเริ่มดำเนินการวิทยุระบบดิจิตอล เพื่อรองรับคลื่นความถี่ให้เพียงพอต่อไป.
ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าวอิศรา