วารสารศาสตร์ฯ มธ. ประมวล 5 ปัญหา 4 ข้อเสนอ ต่อร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ กสทช.

วารสารศาสตร์ฯ มธ. ประมวล 5 ปัญหา 4 ข้อเสนอ ต่อร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ กสทช.

 

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง สิทธิเสรีภาพสื่อกับพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์: เสรีภาพสื่อในวันที่ไร้ฮอร์โมนส์ เพื่อวิพากษ์ถึงปัญหาเรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ….(ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ) และจัดทำข้อเสนอเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2556

 

คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. ได้ประมวลปัญหาสำคัญ5 ประการ ของร่างประกาศดังกล่าวจากงานเสวนาฯ ดังต่อไปนี้

ประการแรก  เนื้อหามีความกำกวมและคลุมเครือ เช่น คำว่า ความมั่นคงของรัฐที่กำหนดถึงเนื้อหาที่  ล้มล้างอำนาจในระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน” เรื่องศีลธรรมที่กำหนดถึงเนื้อหาที่ ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”และการห้ามนำเสนอที่ น่ารังเกียจ” หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ทั้งนี้ ปัจจุบันฝ่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสื่อ หรือแม้แต่สื่อที่ทำหน้าที่เซ็นเซอร์ตัวเอง ยังมีกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนอีกด้วย ดังนั้น เมื่อถ้อยคำในกฎหมายมีความกำกวม ย่อมเปิดช่องให้เกิดการใช้ดุลพินิจตีความไปในทางที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์ และเปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติแน่นอน

 

ประการที่สอง  ปัญหาของร่างประกาศฯ นี้ คือเป็นการเน้นกลไกการควบคุมมากกว่ากลไกการกำกับ ทั้งที่กสทช.มีหน้าที่หนึ่งในการร่วมสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของสื่ออย่างสร้างสรรค์ แต่ลักษณะของร่างฉบับนี้ ยิ่งส่งเสริมการใช้อำนาจของ กสทช.ในการสร้างกลไกควบคุมสื่อ  มากกว่ากลไกการกำกับดูแล

 

ประการที่สาม  เนื้อหาในร่างประกาศฯ มีความทับซ้อนกับกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดเอาไว้ซึ่งมีความครอบคลุมและชัดเจนกว่า เช่น ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล้าและบุหรี่ ทำให้การทำงานขององค์กรต่างๆทำหน้าที่ทับซ้อนกันไปมา

 

ประการที่สี่  ร่างประกาศฯฉบับนี้นอกจากไม่เปิดพื้นที่ให้กลไกกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพทำงานได้เองแล้ว ยิ่งเป็นการสร้างปัญหาในบรรยากาศของการปฏิรูปสื่อ และย้อนการทำงานของสื่อกลับไปยังยุคที่ทำให้เจ้าของธุรกิจ เข้ามาแทรกแซงสื่อ

 

ประการที่ห้า หากร่างประกาศฯ ฉบับนี้นำมาใช้จริง จะมีปัญหาในการบังคับใช้ เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติงานสื่อ เช่น การบังคับให้สื่อต้องนำเสนอเนื้อหาโดยเชิญผู้ที่อยู่ในความขัดแย้งทั้งหมดมานำเสนอ การบังคับให้สื่อต้องนำเสนอเนื้อหาข่าวที่เป็นกลาง การห้ามเสนอรายการที่จะตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ขึ้นกับการตีความ อาจจะส่งผลให้การนำเสนอเนื้อหาในรายการวิทยุและโทรทัศน์เป็นเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เป็นต้น

 

โดยสรุปแล้ว เนื้อหาของร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ขาดเจตนารมณ์ที่จะให้เกิดการจัดสรรคลื่นอย่างมีคุณภาพและหลากหลาย ภายใต้กลไกการควบคุมวิชาชีพกันเองของสื่อมวลชน อีกทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งคุ้มครองการทำงานและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน กล่าวคือ ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ละเลยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ

 

คณะวารสารศาสตร์จึงได้ประมวลข้อเสนอแนะจากงานเสวนาฯ ต่อ กสทช. ดังนี้

ประการที่แรก  ถ้อยคำที่กำหนดเอาไว้ว่าเป็นเนื้อหาต้องห้ามนั้น ยังถือเป็นประเด็นที่เปิดให้เกิดการถกเถียง แทนที่จะออกมาตรการ รัฐควรทำความเข้าใจว่า ที่สุดแล้วไม่ใช่เรื่องกติกา แต่มันเป็นความเชื่อบางชุดที่ยังต้องปล่อยให้เกิดการถกเถียง โดยรัฐควรเริ่มจากการเชื่อมั่นในประชาชน คืนอำนาจให้ประชาชน แต่ควรสร้างพื้นที่ให้ประชาชนถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน

 

ประการที่สอง แทนที่เนื้อหาในร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ จะกำหนดเพียงรายละเอียดของการให้อำนาจผู้รับใบอนุญาตใช้ดุลพินิจของตนควบคุมสื่อ ผ่านการสั่งปรับหรือถอนใบอนุญาต ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ฉบับนี้ ควรศึกษากลไกอื่นๆซึ่งจะรักษาสมดุลของสิทธิเสรีภาพกับประโยชน์สาธารณะ เช่น กลไก watershed ที่ใช้เรื่องการกำหนดเวลาสำหรับเนื้อหาบางประเภท เช่น เนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน สามารถนำเสนอได้ในช่วงเวลาเฉพาะที่กำหนดไว้

 

ประการที่สาม ในร่างประกาศฯนี้ ควรมีเนื้อหาว่าด้วยการกำกับดูแลตัวเอง หรือการกำกับดูแลร่วม ดังที่กำหนดเอาไว้ในมาตรา 39 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อีกทั้งยังควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ให้รายละเอียดถึงวิธีการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจ รวมถึงกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของทั้งผู้รับใบอนุญาตและกสทช.ด้วย

 

ประการที่สี่ กสทช. ควรสร้างและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งแทนที่จะเปิดการมีส่วนร่วมเพียงแค่ช่วงการประชาพิจารณ์ซึ่งเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงท้ายเท่านั้น กสทช.ควรมีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกระบวนการยกร่าง กำหนดเจตนารมณ์ และกำหนดรายละเอียดร่วมกันทั้งกระบวนการ

 

**ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ….(ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ) ที่คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. เสนอต่อที่ประชุมใหญ่กสทช.ไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ร่างดังกล่าวมีใจความถึงเนื้อหาที่ต้องห้ามนำเสนอในสื่อวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยขยายความจากมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการการดำเนินรายการที่เน้นควบคุมรายการเชิงข่าวอย่างเข้มงวด**

 

#######################################

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม   : คุณกนกพร พรหมบุบผา (kprombubpa@gmail.com) คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โทร. 0 2696 6223