จับตาวาระกสทช.พรุ่งนี้ : 17 ก.ค.56
บอร์ดใหญ่เตรียมผ่านร่างประมูลทีวีดิจิตอล – สุภิญญาค้าน!ลดสาระเพิ่มบันเทิง//ด้านกระจายเสียง เตรียมผ่านร่างฯทดลองมีผลบังคับใช้วิทยุทั้งประเทศ/วิชาชีพสื่อและสาธารณะเตรียมแสดงความความคิดเห็นร่างเนื้อหาตามมาตรา 37หลังมีมติและร่วมจับตาโครงการแบบไหนที่เข้าตากองทุนวิจัยกสทช.
พรุ่งนี้(พุธ 17 ก.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ครั้งที่7/2556 มีวาระน่าสนใจจับตา ได้แก่ การพิจารณาสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและแนวทางดำเนินการต่อ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. … หรือ ร่างฯ การประมูลทีวีดิจิตอล ภายหลังที่ประชุมกสท.ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและแนวทางการดำเนินการต่อไป ซึ่งนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า ตนเป็นเสียงส่วนน้อยไม่เห็นด้วยกับการปรับลดสัดส่วนเนื้อหาข่าวสารสาระจาก 75% เหลือ 50% อยากเสนอให้เชิญทีมวิจัยประเมินมูลค่าคลื่นมายืนยันในบอร์ดใหญ่พรุ่งนี้ เพื่อความรอบคอบ ชัดเจน โปร่งใสในการลงมติขั้นสุดท้ายว่าการปรับเงื่อนไขช่องข่าว ลดสาระเพิ่มบันเทิงนั้นมีผลต่อราคาคลื่นหรือไม่
ในวันพรุ่งนี้มีวาระพิจารณา (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดย ร่างฯฉบับดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากสาธารณะและองค์กรวิชาชีพสื่อ ต่อเนื้อหาสาระที่อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพราะมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ และอาจเป็นการขยายขอบเขตอำนาจของ กสทช.เกินกว่าที่ มาตรา 37 พรบ.การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551 ซึ่งสุภิญญาฯ ได้มีความเห็นต่างจากที่ประชุมกสท.ในการประชุมครั้งที่25/2556 วันจันทร์ที่ 8 ก.ค.56 เนื่องจากการออกอากาศรายการตามหมวดที่สองของประกาศนั้น จำเป็นต้องแยกสาระ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของกลไกกำกับกันเองขององค์กรวิชาชีพออกมาจากหลักเกณฑ์การกำกับด้านเนื้อหาตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งในฐานะองค์กรกำกับจึงจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนในหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพสื่อสารมวลชนได้ทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมและควบคุมการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพกันเองได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งการจัดทำหลักเกณฑ์กติกาขององค์กรกำกับที่อาจเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นหรือสิทธิเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนสิทธิของบุคคล จึงต้องอยู่ในจุดที่เป็น การสมดุลระหว่างอำนาจของ กสทช. กับแนวคิดการกำกับดูแลกันเองและความรับผิดชอบต่อการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างชัดเจน
นอกจากนี้วาระอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พร้อมแบบรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขการทดลองประกอบกิจการฯ ที่มีบังคับใช้กับสถานีวิทยุทั้งหมดในประเทศ และวาระน่าจับตา เรื่อง การอนุมัติเห็นชอบโครงการที่ขอการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประจำปี 2556(ประเภท1) จำนวนเงิน 152,725,299 บาท ผลการพิจารณาเป็นอย่างไรใครได้หรือไม่ได้อย่างไรชวนติดตาม…