กรณีตัดสกู๊ปข่าว กระทบสิทธินักข่าวและความเชื่อมั่นต่อแนวทางการกำกับดูแลกันเอง
สุภิญญาหวั่น ! กรณี ตัดสกู๊ปข่าวกลางอากาศ ช่อง 5 กระทบสิทธินักข่าวลดทอนแนวทางการกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพสื่อตามแนวทางกสทช.เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องและสภาวิชาชีพข่าวฯหาข้อเท็จจริงพร้อมสรุปบทเรียนให้สังคม
วันนี้(30มิ.ย.56) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผู้บริโภค เปิดเผยถึง กรณีเหตุการณ์โฆษณาแทรกคั่นกลางอากาศ ในรายการฮาร์ดคอร์ข่าว กำลังนำเสนอสกู๊ปข่าวโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหนึ่งทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า แม้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ได้ออกมายอมรับการตัดสินใจใช้ดุลยพินิจเซ็นเซอร์ตัวเองในการออกอากาศข่าวนี้แล้ว เพราะเกรงว่าข้อมูลไม่ครบรอบด้าน ในขณะที่บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน)ในฐานะบริษัทผู้ผลิตร่วม ได้ออกแถลงการณ์ว่าเป็นดุลยพินิจของสถานี
พร้อมทั้งยืนยันหลักสำคัญในการนำเสนอข่าวในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดีและยึดหลักในการทำงานในวิชาชีพมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ควรมีการฟังความเห็นของนักข่าว หรือกองบรรณาธิการที่เกี่ยวข้องถึงการนำเสนอข่าวนี้ ได้มีโอกาสออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะเกรงว่าอาจกระทบต่อศักดิ์ศรีของนักข่าว คนทำข่าว หรือกองบรรณาธิการข่าวที่ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริง
สุภิญญา กล่าววว่า กรณีการเซ็นเซอร์ตัวเองในรายการนำเสนอข่าวสารถือเป็นการส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารข้อมูลของประชาชน ตามบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
แม้ว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองจะไม่ได้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบกิจการวิชาชีพในกิจการโทรทัศน์ ว่าได้ใช้เหตุผลที่เพียงพอต่อการกำกับตัวเองตามจรรยาบรรณหรือไม่ และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมกำกับดูแลกันเองจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในคณะอนุกรรมการเพื่อที่จะเชิญตัวแทนสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 รวมทั้งบริษัทผู้ร่วมผลิตและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มาร่วมพูดคุยเพื่อหาข้อมูลข้อเท็จจริง สรุปบทเรียนต่อสังคมต่อและพัฒนาต่อแนวทางการกำกับดูแลกันเองของกิจการนี้ต่อไป ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ช่องดังกล่าวที่กำลังจะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ประเภท สาธารณะ(โดยไม่ต้องผ่านการบิวตี้คอนเทสต์) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสาร ตลอดจนการสร้างความน่าเชื่อและความเชื่อมั่นในสังคมต่อไปด้วย.