ข่าวประชาสัมพันธ์

จากเวบ http://www.nbtc.go.th/wps/portal/NTC/!ut/p/c5/04_SB8K8xLLM9MSSzPy8xBz9CP0os3hnd0cPE3MfAwMDP09TAyOXMBc_T1dLAwMnU_1wkA48Kowg8gY4gKOBvp9Hfm6qfkF2dpqjo6IiAEc6d5w!/dl3/d3/L2dJQSEvUUt3QS9ZQnZ3LzZfNE83RDVQRzVJQkFWNDBJQ0JDOEo1MTJTQjQ!/?WCM_GLOBAL_CONTEXT=/wps/wcm/connect/library+ntc/internetsite/04newsactivi/0402newspaper/040201press/040201press_detail/9f83dd804fb64e74aa63efdd301ecf43

บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. แถลงผลการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2556

พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) แถลงผลการประชุมคณะกรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ว่า วันนี้ (20 พฤษภาคม 2556) ที่ประชุม กสท. มีมติในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 89 ราย แบ่งเป็นประเภทบริการธุรกิจ 61 ราย ประเภทกิจการบริการสาธารณะ 18  ราย และประเภทกิจการบริการชุมชน 10 ราย ทั้งนี้ได้มีการพิจารณาคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 1,756 ราย

2. ที่ประชุม กสท. มีมติอนุญาตความเหมาะสมของการประกอบกิจการบริการโทรทัศน์ หรือช่องรายการ ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวนทั้งหมด 38 ช่องรายการ โดยจะเป็นช่องรายการที่ออกอากาศทางเคเบิ้ลทีวี และดาวเทียม

3. ที่ประชุม กสท. มีมติอนุญาตผู้ให้บริการโครงข่ายในกิจการโทรทัศน์จำนวน 4 ราย (4 ใบอนุญาต) โดยเป็นใบอนุญาตระดับภูมิภาคจำนวน 1 ราย ระดับท้องถิ่นอีก 3 ราย

4. ที่ประชุม กสท. ได้พิจารณาประเด็นความเห็นที่มีต่อ (ร่าง) ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. …. ตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมและกำกับการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เสนอมา ดังนี้

ประเด็นแรก การนำเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ต่อคณะอนุกรรมการจัดทำแผนปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (คณะอนุกรรมการ DSO) เพื่อพิจารณาให้ความเห็น อาจส่งผลกระทบในประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เนื่องจากมีผู้ประกอบการโทรทัศน์ช่องหลักหลายช่องร่วมอยู่ในคณะ นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะอนุกรรมการ DSO ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 45 คน ได้แก่ กสท.ทั้ง 5 คน โดยมีประธาน กสท. เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 8 กระทรวง จำนวน 8 คน ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา กสท. นักวิชาการ นักพัฒนาองค์กรเอกชน (NGO) จำนวน 17 คน ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และผู้แทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จำนวน 2 คน ผู้แทนสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีอนาล็อกทุกช่อง จำนวน 6 คน ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 1 คน ฝ่ายเลขานุการจากกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องของสำนักงาน กสทช. จำนวน 6 คน โดยคณะอนุกรรมการ DSO มีหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้ สำนักงาน กสทช. พิจารณาก่อนเสนอ กสท. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศใดๆ

และกระบวนการร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประมูลในกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ยกร่างโดยสำนักงาน กสทช. โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการประมูลทางอิเล็กทรอนิคส์จากกรมบัญชีกลางให้ความเห็นและคำปรึกษา รวมทั้งใช้แนวทางการยกร่างโดยอิงหลักการ Best Practice ของการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ มาปรับให้เหมาะสมกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ส่วนการนำเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการ DSO ก็เพื่อรับฟังความเห็นเบื้องต้นในลักษณะ Focus Group ให้เกิดความรอบคอบก่อนนำเสนอต่อ กสท. มีมติรับรองก่อนนำไปสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไป หลังจากการรับฟังความคิดเห็น สำนักงานเป็นคนนำ (ร่าง) มาพิจารณาปรับปรุง เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำเสนอต่อ กสท. และ กสทช. พิจารณาตามลำดับ  โดยไม่มีการนำเสนอร่างแก้ไขต่อคณะอนุกรรมการฯ  ดังนั้นอนุกรรมการฯ จะมีโอกาสเห็นร่างกติกาที่ผ่านการรับรองจาก กสทช. พร้อมกับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

ประเด็นที่ 2 การวางหลักประกันการประมูล และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายย่อยที่เชื่อถือได้มีโอกาสเข้าร่วมการประมูลโดยไม่ติดขัดในการต้องเร่งหาเงินสดหรือออกเช็คมาวางเป็นหลักประกัน ที่มีการเสนอให้เพิ่มเติมการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 (Bank Guarantee) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวางหลักประกัน นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า การวางหลักประกันการประมูลด้วยเงินสด หรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่าย เป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556 (คณะกรรมการ กสทช. ได้ให้ความเห็นชอบ และอยู่ระหว่างลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา)  ซึ่งเป็น General Rule ของการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์

ทั้งนี้ การวางหลักประกันการประมูลด้วยเงินสด หรือเช็คที่ธนาคารสั่งจ่าย นั้น วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการทำผิดกฎกติกาการประมูล หรือ การสมยอมในการประมูล อันอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายในประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กสท. สามารถยึดหลักประกันดังกล่าวเพื่อนำมาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในกรณีที่ กสท.จำเป็นต้องยกเลิกการประมูลและต้องมีการเริ่มต้นกระบวนการประมูลใหม่ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ทันที  ในขณะที่กรณีการใช้หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบยืนยันการค้ำประกันกับผู้ค้ำประกัน และเมื่อผู้เข้าร่วมการประมูลกระทำผิด สำนักงานฯ อาจจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกระบวนการเพื่อให้บังคับคดีให้มีการชำระเงินหลักประกันดังกล่าว

นอกจากนั้น จากการตรวจสอบ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็มิได้มีการกำหนดวิธีการวางหลักประกันไว้  โดยให้แต่ละหน่วยงานกำหนดตามความเหมาะสมใน TOR และประกาศเชิญชวนของการประมูลแต่ละคราว  และในกรณีการประมูล 3G ที่ผ่านมา ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ข้อ 9.4 ระบุให้วางหลักประกันการประมูลเป็นเช็คที่ธนาคารสั่งจ่ายสำนักงาน

ประเด็นที่ 3 ประเด็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือเลือกปฏิบัติในภายหลัง เนื่องจากการที่ผู้ให้บริการโครงข่ายและผู้ให้บริการโทรทัศน์ (ช่องรายการ) เป็นรายเดียวกันสามารถส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) อาจนำไปสู่การผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ในภายหลัง  จึงมีการเสนอให้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ โดยให้มีร่างหลักเกณฑ์การเลือกใช้โครงข่ายโทรทัศน์ของผู้ให้บริการช่องรายการ เพื่อเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า กติกาการประมูล เป็นวิธีการเพื่อที่จะนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจ ในขณะที่การออกใบอนุญาต Multiplexer Operator สำหรับให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล เป็นไปตามประกาศ กสทช. ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตโครงข่ายฯ ซึ่งมิได้มีการกำหนดห้ามการที่ผู้ประกอบกิจการโครงข่าย จะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ด้วย

นอกจากนี้ เงื่อนไขใบอนุญาตโครงข่ายที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตโครงข่ายฯ พ.ศ. 2555 ก็ได้กำหนดไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายต้องให้บริการโครงข่ายฯ แก่ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันผู้รับใบอนุญาตรายอื่น กรณีที่โครงข่ายไม่สามารถรองรับได้ผู้รับใบอนุญาตต้องชี้แจงเหตุแห่งการปฏิเสธให้ กสท. พิจารณา นอกจากนั้น ผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า  และจะต้องไม่กระทำการที่คณะกรรมการเห็นว่า มีวัตถุประสงค์ หรือมีผลกระทบ หรืออาจมีผลกระทบต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดอย่างมีนัยสำคัญสำหรับโครงข่าย  สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการกิจการกระจานเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาต และทั้งนี้ การเลือกใช้บริการโครงข่ายฯ ของผู้ชนะการประมูลเป็นไปตามกลไกการตลาด กติกาการประมูลเพียงกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลต้องการใช้บริการจากผู้ให้บริการรายเดียวกัน แต่ผู้ให้บริการมีขีดความสามารถให้บริการไม่เพียงพอเท่านั้น

ประเด็นที่ 4 ประเด็นหลักการประมูลของที่มีลักษณะทดแทนกันได้ โดยกำหนดให้มีการเรียงลำดับการประมูลแยกตามหมวดหมู่ประเภทช่องรายการนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดลำดับการประมูล โดยเสนอความเห็นว่า ลำดับที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการประมูลนั้น ควรเรียงโดยอาศัยข้อมูลความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล หรือเรียงลำดับตามมูลค่า หรือราคาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประมูล ในที่นี้เมื่อไม่มีข้อมูลการประมาณการที่ชัดเจน จึงเสนอให้นำราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่มาเป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับ เนื่องจากราคาขั้นต่ำในแต่ละหมวดหมู่กำหนดขึ้นจากการประเมินมูลค่าและความต้องการของผู้เข้าร่วมประมูล และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรเห็นควรให้เรียงลำดับการประมูลจากราคาที่สูงสุดไปหาต่ำสุดคือเริ่มจาก Variety HD, Variety SD, ข่าวสารสาระ แล้วจบลงที่หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในส่วนของ (ร่าง) ประกาศฯ ยังไม่ได้กำหนดลำดับการประมูล เป็นเพียงกำหนดให้แยกการประมูลเป็นหมวดหมู่การให้บริการเท่านั้น ส่วนลำดับการประมูลก่อนหลัง ระบุให้มีการกำหนดอีกครั้งตามหนังสือเชิญชวนของ สำนักงานฯ

ประเด็นที่ 5 ประเด็นหลักการโดยทั่วไปการประมูลที่เน้นประสิทธิภาพในการแข่งขันจะไม่กำหนดระยะเวลาตายตัวว่าควรจบลงภายในระยะเวลาเท่าใด แต่จะกำหนดให้หยุดลงเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด  ที่มีการเสนอให้ เพิ่มเติมเงื่อนไขการสิ้นสุดการประมูลเมื่อไม่มีการเสนอราคาเพิ่มภายในห้านาทีนับแต่การเสนอเพิ่มราคาครั้งก่อนหน้า เพื่อให้ได้ราคาประมูลที่มีประสิทธิภาพโดยเปิดให้มีการตัดสินใจอย่างเพียงพอในการประมูลรอบสุดท้าย และป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูล นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ในครั้งนี้เป็นไปเพื่อที่จะสร้างกระบวนการคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตที่สามารถใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการหารายได้สูงสุดจากการประมูล การกำหนดเวลาจำกัดก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประมูลทุกรายศึกษารายละเอียด ตกลงใจถึงราคาสุดท้ายที่จะเสนอก่อนที่จะเข้าร่วมการประมูล เพื่อมิให้มีการเสนอราคาที่เกินจริง ซึ่งจะนำมาซึ่งการให้บริการที่ด้อยคุณภาพในเชิงเนื้อหารายการ สำหรับการป้องกันการใช้ยุทธวิธีจู่โจมการประมูลโดยแย่งชิงความได้เปรียบในช่วงเวลาสุดท้ายของการประมูล ได้มีการป้องกันโดยการกำหนดให้มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่กำหนด และให้ผู้เข้าร่วมการประมูลเห็นราคาตนเอง สถานะความเป็นผู้ชนะและลำดับที่ชนะ ตลอดจนราคาของผู้ชนะรายสุดท้าย

ประเด็นที่ 6 ประเด็นที่เสนอให้พิจารณาปรับเปลี่ยนระยะเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ โดยให้ดำเนินการได้ภายหลังจากผ่านพ้นระยะเวลา 3 ปี นับแต่ที่ได้รับใบอนุญาต นั้น กสท. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดงวดเงินที่มีระยะเวลาการชำระเงินค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลานานเกินไปอาจจะทำให้เกิดลักษณะที่คล้ายกับการอนุญาตสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีแนวคิดที่แตกต่างจากระบบใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตซึ่งเท่ากับราคาสุดท้ายที่ชนะการประมูลนั้น เงินส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมจะนำไปจัดทำคูปองสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับสัญญาณในระบบดิจิตอล ซึ่ง (ร่าง) ประกาศฯ ได้กำหนดให้ระบบงวดการชำระเงินสอดคล้องกับระยะเวลาในการกระจายคูปองให้กับประชาชน

5. ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแพร่เสียงแพร่ภาพรายการที่สำคัญ ซึ่งหลังจากนี้ จะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ในวันพุธที่จะถึงนี้ จากนั้นจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศดังกล่าว คือรายการสำคัญ 7 รายการ ได้แก่ 1. รายการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2.รายการแข่งขันคอนเฟเดอเรชั่นคัพ 3.รายการแข่งขันเอเชี่ยนคัพนัดสุดท้าย และนัดที่มีทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน 4.รายการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก และฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย     5.รายการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงแชมป์โลก 6.รายการวอลเล่ย์บอล ระดับชิงแชมป์โลก 7.รายการแข่งขันเทนนิสเดวิสคัพ นัดที่มีตัวแทนจากชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน ผู้ประกอบกิจการที่ได้สิทธิในการแพร่ภาพรายการ จะต้องจัดทำข้อเสนอบริการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายอื่นสามารถเลือกที่จะเข้าเจราเพื่อนำสิทธิในการแพร่เสียงแพร่ภาพของรายการดังกล่าวไปให้บริการประชาชนรับชมได้อย่างแพร่หลาย

  ———————————————————————————————————

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :

กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)

โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 – 317  โทรสาร : 0-2290-5241