จับตาวาระกสท.อังคารนี้ : ร่างฯประมูลทีวีธุรกิจ ด้านอนุคุ้มครองฯเสนอ แนบเงื่อนไขรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคก่อนเปิดประมูล
กสท.เตรียมอนุมัติ(ร่าง)ประกาศประมูลทีวีดิจิตอล ประเภทธุรกิจ ด้านอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบรอดแคส เสนอ จัดทำกลไกรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค และมีมาตรการบางอย่างสนับสนุนคนดูทั่วถึงทุกกลุ่มแนบท้ายประกาศประมูล เพื่อสร้างเงื่อนไขที่ง่ายขึ้นต่อการกำกับดูแลในอนาคต
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.)กล่าวว่า ในวันอังคารนี้(14พ.ค.56) ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้นำข้อสรุปที่ได้จากมติที่ประชุมกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองฯ ถึงข้อเสนอต่อการกำหนดเงื่อนให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจ จัดให้มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และจัดให้มีมาตรการพื้นฐานบางประการเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีบริการที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ของคนพิการและคนดีด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้ หรือใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ ซึ่งวาระสำคัญครั้งนี้มีการพิจารณา (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ที่มีประเด็นสำคัญ อาทิ ราคาตั้งต้นของการประมูล จำนวนช่อง(ใบอนุญาต) วิธีการประมูล คำนิยามช่อง การป้องกันนอมินี เป็นต้น
ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองฯได้วิเคราะห์ร่วมกันและเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ กสท.ควรวางนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ต้น ก่อนจัดให้มีการประมูลทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญต่อการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตฟรีทีวีต่อไปในอนาคต โดยเสนอหลักการ 2 ข้อ เพื่อให้กสท.นำไปพิจารณาแนบท้ายประกาศ คือ 1. มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ชนะประมูลของผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแนวทางของแผนแม่บทฯ และกสท.มีมาตรการสนับสนุนต่อไป และ 2 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จัดให้มีบริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนด้อยโอกาส ในการเข้าถึง รับรู้ และใช้ประโยชน์ได้อย่างเสมอภาคเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ในรายการที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และบริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของคนพิการและคนด้อยโอกาส มีบริการกระจายเสียงที่ออกอากาศรายการอ่านหนังสือเต็มเวลา (สำหรับคนพิการด้านการมองเห็น / เป็นบริการทางกิจการกระจายเสียง) บริการคำบรรยายเป็นเสียง (สำหรับคนพิการด้านการมองเห็น) บริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีล่ามภาษามือ (สำหรับคนพิการด้านการได้ยินและสื่อความหมาย) และบริการคำบรรยายเป็นอักษรวิ่ง (สำหรับคนพิการด้านการได้ยินและสื่อความหมาย)
ซึ่งการประชุมกสท.ครั้งนี้ ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการจัดทำเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ ทีวีสาธารณะ ซึ่งกสท.เสียงข้างน้อย(ธวัชชัย – สุภิญญา) อาจนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช.วันที่ 22 พ.ค.นี้
เอกสารประกอบ