เกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ เน้น 5 เกณฑ์ ความน่าเชื่อถือ เป็นมืออาชีพ สร้างพลังจากคนดูได้
กสท.เสียงข้างน้อยธวัชชัย – สุภิญญา ระดมความเห็น เสนอ 5 หลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ เน้นให้คะแนน การออกแบบโครงสร้างมากสุด มีเนื้อหาที่ตอบสนองสังคม มีแหล่งที่มารายได้ เน้นความเป็นมืออาชีพ ยืนยาว สร้างพลังคนดูในทีวีสาธารณะ และมีธรรมาภิบาลโปร่งใสตรวจสอบได้
วันนี้(30 เม.ย.) กสท. เสียงข้างน้อย ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ระดมความคิดเห็นต่อ(ร่าง) เกณฑ์การคัดเลือกผู้เหมาะสมให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำหรับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ หรือ เกณฑ์ beauty contest โดยมีนักวิชาการด้านต่างๆให้ความสนใจเข้าร่วม เสนอเกณฑ์ 5 ข้อ เพื่อคลายสเป็กทีวีสาธารณะ ดังนี้
เกณฑ์ที่ 1 โครงสร้างบริหารองค์กร สะท้อนความเป็นอิสระ สาธารณะ มีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ แบ่งเป็น 3 โมเดล คือ เป็นองค์กรมหาชน หากเป็นหน่วยงานรัฐ แยกมาจากหน่วยงานราชการแผ่นดิน หรือ ตั้งองค์กรที่มีโครงสร้างบริหารที่เป็นอิสระ หรือมีภาคีเครือข่ายจับมือใน 3 กลุ่มคุณสมบัติร่วมที่กำหนดว่า มีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น สถาบันการศึกษา มูลนิธิ ฯลฯ เพื่อดูความน่าเชื่อถือที่แต่ละองค์กรควรมี ให้คะแนนเพิ่มเติมในกรณีที่มีตัวแทนจากกลุ่มองค์กรวิชาชีพ องค์กรอื่น ๆ โดยให้เหตุผลว่า ลดแนวโน้มในการผูกขาดอำนาจ และเป็นการเพิ่มความหลากหลายและรับประกันความคุ้มค่าในแง่การใช้คลื่นสาธารณะ โครงสร้างต้องสะท้อนความหลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเปิดให้มีการมีส่วนร่วม
เกณฑ์ที่ 2 หลักเกณฑ์ในเรื่องผังและเนื้อหารายการ มีความหลากหลาย ตอบสนองเนื้อหารายการที่สังคมไทยไม่มี เช่น เนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ แม้คนดูจะไม่เยอะแต่มีประโยชน์ โดยตัวชี้วัดที่สำคัญในเรื่องเนื้อหา เช่น การสร้างคุณค่าทางสังคม คุณภาพรายการ เช่น คุณค่าทางการผลิต อยู่ทนนาน สร้างความปลอดภัย กระตุ้นให้เกิดความคิด เป็นต้น ความหลากหลายในเรื่องเนื้อหาประกอบด้วย 4 มิติ เช่น รูปแบบ เนื้อหา (ภูมิภาค ส่วนกลาง) ความคิด (แตกต่าง) ความสนใจเฉพาะกลุ่ม (เชื้อชาติ)
เกณฑ์ที่ 3 การเงิน การหารายได้ ในแง่การให้คะแนนควรต้องดูว่าจุดมุ่งหมายคืออะไร เช่น ในแง่ การเงินเพื่อพอหารายได้สำหรับ self sufficient แล้วจะให้คะแนนอย่างไร เช่น กรณีช่อง 11 ได้มีการกำหนดไว้ว่า ความพอเพียงน่าจะไม่เกินสิบเปอร์เซ็นต์ที่ตั้งไว้ คำถามคือfunding อย่างไรที่จะธำรงความเป็นอิสระ ในขณะเดียวกันมีงบประมาณที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นการออกแบบแผนการเงินจึงเป็นเกณฑ์สำคัญ
เกณฑ์ที่ 4 ความเป็นธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของสถานี มีคณะกรรมการเป็นอิสระในการเป็นเจ้าของและการดำเนินการ มีมาตรฐานคุ้มค่าการลงทุน กระบวนการแต่งตั้ง มีกลไกตรวจสอบที่เปิดเผยโปร่งใส มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ : เป็นอิสระในเชิงบรรณาธิกรณ์ แหล่งที่มารายได้ และแจ้งให้เห็นต้นทุนในแต่ละปี
เกณฑ์ที่ 5 ความพร้อมด้านเทคนิค การประเมินศักยภาพของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านเนื้อหา เช่น digital archive , สามารถบูรณาการในด้านเทคโนโลยีและเนื้อหาในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างจากระบบแอนาล็อก
นอกจากนี้การมี expose regulation ควรมีความชัดเจนว่าผู้ขอใบอนุญาตจะถูกกำกับดูแลอย่างไรให้อนาคต ว่า output ส่งต่อเป้าหมายสาธารณะจริงหรือไม่ มีการประเมินผลหนึ่งปี และหากไม่ทำตามข้อเสนอในการประกวดควรใส่ในใบอนุญาตควบคู่ไปเลย
มีการจัดทำจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นเกณฑ์เพิ่ม มีกลไกรับเรื่องร้องเรียน – มีสมาชิกสภาผู้ชม ผู้ฟัง หรือมี ombudsman อาจจะทำให้การให้คะแนนชัดเจนมากขึ้น รวมถึงคะแนนเพิ่มเติมอาจพิจารณาให้แสดงว่า จะทำอย่างไรเพื่อเติมเต็มการปฏิรูปสื่อ และมีคะแนนเพิ่มเติมอาจพิจารณาว่ามีการส่งเสริม civic education อย่างไร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของพลเมือง