COVID-19 บีบไทยสู่ยุคดิจิทัล แนะเตรียมลูกหลานรับมือโลกเปลี่ยน
ตั้งแต่การสั่งของออนไลน์ สั่งอาหารออนไลน์ ทำงานที่บ้าน ประชุมทางไกล แม้แต่การเรียนการสอนก็นำระบบออนไลน์มาใช้อย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงโลกดิจิทัล ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเปลี่ยนผ่าน ยังมีผู้คนจำนวนมากที่กำลังจะตกรถไฟขบวนนี้
ในการประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน “How to Empower Digital Citizenship in COVID-19 Era” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ยกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ยังมีคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงโลกดิจิทัล
โดยอ้างอิงสถิติการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) ที่ระบุว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว มีครัวเรือนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 87 % ในประเทศกำลังพัฒนา เข้าถึง 47 % และในประเทศพัฒนาน้อย มีครัวเรือนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียง 19 % โดยประเทศไทย มีสถิติอยู่ที่ 68 % ซึ่งยังดีกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกที่มีสถิติการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน 55 %
แต่ตัวเลขนี้ยังไม่ได้ระบุถึงคุณภาพในการเข้าถึง เพื่อใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น ประเทศออสเตรเลีย ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว กลับพบว่า เยาวชนอายุ 5-14 ปี ยังมีปัญหาในการเข้าถึงการศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะยังขาดความพร้อมทั้งบรรยากาศการเรียน เครื่องมือ รวมถึงความเร็วของอินเทอร์เน็ต ทำให้ต้องกลับมาขบคิดร่วมกันว่า การที่ COVID-19 นำพาโลกดิจิทัลมาถึงเร็วขึ้น จะต้องมีกระบวนการร่วมกันในการพัฒนาพลเมืองดิจิทัลอย่างเป็นระบบได้อย่างไร โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทั้งในเรื่องของการศึกษาที่มีข้อมูลว่า 25 % ของนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัย อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ถึง 2 แสนบาท และมีคอมพิวเตอร์ในครัวเรือนกลุ่มนี้ไม่ถึง 3 % รวมทั้งในภาคแรงงาน ที่มีหลายอาชีพกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หมายความว่าจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพแรงงานกันอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ตกงาน
COVID-19 เร่งชีวิตเปลี่ยน โลกดิจิทัลมาเร็วขึ้น
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เห็นตรงกันว่า COVID-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งให้ต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่เคยคิดจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ จำเป็นต้องเรียนรู้และใช้ให้ได้ภายในเวลาอันสั้นตั้งแต่การเปลี่ยนไปทำงานที่บ้าน ซึ่งถ้ามองในแง่ดี ก็จะพบว่า ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้เปิดใจในการเข้าสู่โลกดิจิทัล
นายพุทธิพงษ์ แสดงให้เห็นข้อมูลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย คือ มีการใช้โทรศัพท์มือถือ 93.39 ล้านเครื่อง ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน เข้าถึง Mobile Broadband Subscription 108 % ศักยภาพในการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ สูงถึง 187 % ซึ่งหมายความว่า ค่าเฉลี่ย 1 คนมีโทรศัพท์มือเกือบ 2 เครื่อง และมีประชากร 69 % เข้าถึงการค้าขายทางออนไลน์
แต่แม้ตัวเลขจะเป็นเช่นนั้น รมว.ดิจิทัลฯ ยอมรับว่า ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ที่มีโครงข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ กำลังจะเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ก็ยังพบประชาชน 20-30 % ในชุมชนแออัดต่างๆ ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทางออนไลน์ได้ เพราะมีฐานะยากจน ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ได้
และยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ก็มีคนที่ขาดรายได้มากขึ้น ตกงาน ถูกลดเงินเดือน หรือรายได้จากอาชีพที่ทำอยู่ลดลงไปมาก เช่น คนขับแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง คนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มเปราะบางต่อโลกดิจิทัลโดยไม่รู้ตัว เมื่อพบปัญหาเช่นนี้ รัฐบาลจึงกำลังสร้าง “อาสาสมัครดิจิทัล” เป็นเครื่องมือลงไปสำรวจเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างรัฐบาลกับชุมชน
“อาสาสมัครดิจิทัล” ชี้จุดบอดโครงข่ายดิจิทัล
อาสาสมัครดิจิทัลเป็นคนในชุมชน ทำงานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการด้านเทคโนโลยีระหว่างชุมชนกับรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะในบางพื้นที่อาจมีโครงสร้างพื้นฐาน มีโครงข่ายสัญญาณครบแล้ว แต่กลับใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะขาดอุปกรณ์ ยากจน หรือขาดทักษะ โดยตั้งเป้าให้มีอาสาสมัครดิจิทัลชุดแรกประมาณ 72,000 คน เท่ากับจำนวนหมู่บ้านในประเทศไทย
ในช่วงการทำงานที่บ้าน 1-2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ ยังให้ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงาน ลงทะเบียนใช้สิทธิทำงานที่บ้านโดยรัฐบาลช่วยค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีข้าราชการกว่า 7 แสนคนใช้สิทธินี้
นายพุทธิพงษ์ระบุว่า นโยบายนี้ จะทำให้ข้าราชการจำนวนมากเปิดใจในการเข้าสู่โลกดิจิทัล และจะช่วยทำให้ระบบ e – Government หรือ การนำ Big Data มาใช้งานในหน่วยงานของรัฐซึ่งถูกเรียกร้องกันมานานเกิดขึ้นได้จริง
รมว.ดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า จะใช้โอกาสนี้สร้าง Big Data นำข้อมูลหลังบ้านของหน่วยงานราชการทั้งหมดมาใช้ โดยมี 5 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข แรงงาน การท่องเที่ยว การเกษตร และการเงินการธนาคาร เช่น ด้านสาธารณสุข จะทำให้ข้อมูลประวัติคนไข้ทั้งประเทศมาอยู่ในฐานข้อมูลเดียว กลายเป็นข้อมูลของคนไข้ ไม่ใช่ของโรงพยาบาล และสามารถใช้ข้อมูลนี้ที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาได้ดีที่สุด ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน และอาจพัฒนาไปถึงการเบิกจ่ายค่ารักษาต่างๆ ได้ด้วย
““การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต คือ สิทธิทางสังคม” ตัวแปรสำคัญในการไปสู่ Digital Country เต็มรูปแบบ”
“The Internet is not a luxury, it is a necessity” คำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา บอกว่า “การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ความหรูหรา ฟุ่มเฟือย แต่มันคือความจำเป็นขั้นพื้นฐาน” คือข้อความที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact Thailand & Digital Thinkers Forum ให้เห็นว่า การจะเปลี่ยนผ่านประชาชนเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลได้จริง ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
แม้ประเทศไทยจะมีสถิติการใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้น ในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่กลับยังมีอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ โดยยกตัวอย่างว่า 75 % ของคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตในโทรศัพท์มือถือ ยังใช้ด้วยระบบเติมเงิน ซึ่งไม่เอื้อต่อการเรียนหรือทำงานออนไลน์ได้จริง ซึ่งภาครัฐ และ กสทช. ต้องเร่งดำเนินการ
จะให้เป็น “พลเมืองดิจิทัล” รัฐต้องเปิดเผย โปร่งใส
น.ส.สุภิญญากล่าวว่า การจะก้าวสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีปัจจัยสำคัญ คือการทำให้ประชาชนเชื่อใจในระบบต่างๆ ของรัฐ โดยรัฐต้องใช้หลักนิติธรรม สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยข้อมูล (Open Data) และกฎหมาย เปิดเผย โปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นที่หลายหลายจากสังคม
ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาก คือ เอสโตเนีย ซึ่งประชาชนเชื่อใจระบบของรัฐ ด้วยหลักการที่ชัดเจนตรงไปตรงมา เช่น การเก็บข้อมูลครั้งเดียว มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน ใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีหลักประกันว่าถ้าข้อมูลถูกแอบนำไปใช้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจะสามารถโต้แย้งได้ จึงทำให้เอสโตเนียกลายเป็นต้นแบบของสหภาพยุโรป และพิสูจน์ให้เห็นว่า สิทธิมนุษยชน การเปิดเผยข้อมูล และ Digital transformation สามารถไปด้วยกันได้
“COVID-19 เป็นการวางศิลาฤกษ์ของการศึกษาออนไลน์ในประเทศไทย”
ประเด็นการเรียนออนไลน์ ที่ถูกสะท้อนจากหลายพื้นที่ว่า ยังมีปัญหาต่างๆ ทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงอุปกรณ์ และทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่เพียงพอ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่า การเรียนการสอนออนไลน์สำหรับต่างประเทศ เกิดขึ้นมานานแล้ว
บุคลากรในไทยไม่เปิดใจเรียน-สอนออนไลน์
ส่วนประเทศไทยก่อนยุค COVID-19 หลายมหาวิทยาลัยมีความพร้อม มีระบบอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว มีแพลตฟอร์มในการเรียนออนไลน์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และหลายแพลตฟอร์มมีโอกาสแชร์กันเรียนฟรี แต่ปัญหาที่การเรียนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะบุคลากรยังไม่เปิดใจ ยังไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยนจากการสอนอยู่ในห้องเรียน เพราะคิดว่าการเรียนในรูปแบบเดิมเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้สอน
เมื่อ COVID-19 ระบาด ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีมติประกาศหยุดการเรียนการสอนตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 และประกาศให้ปรับไปใช้การเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ จึงสามารถเกิดการเรียนการสอนออนไลน์ขึ้นได้ในชั่วเวลาเพียงข้ามคืน
โดยมีข้อมูลจากบริษัท Microsoft พบว่า ก่อน COVID-19 ระบาด มีผู้ใช้ระบบการเรียนออนไลน์ในประเทศไทยประมาณ 10,000 คน แต่หลังจากนั้นมีจำนวนการสอนออนไลน์ทั่วประเทศหลายแสนคน ดังนั้น “โควิด-19 จึงถือเป็นการวางศิลาฤกษ์ของการศึกษาออนไลน์ในประเทศไทย”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ ยอมรับว่า การเรียนการสอนออนไลน์ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีความพร้อมไม่เท่ากัน อาจารย์หลายคนก็ยังไม่พร้อม จนต้องแก้ไขด้วยการทำให้อาจารย์ที่มีความพร้อมเข้ามาช่วยเหลือผ่านกลไกการรวมตัวกัน และเห็นด้วยว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ยังใช้อินเทอร์เน็ตผ่านระบบเติมเงินจากโทรศัพท์ ซึ่งไม่สะดวกกับการเรียนออนไลน์ และต้องเร่งแก้ไข ดังนั้นจึงมีทั้ง ข้อดี และ ข้อจำกัด
COVID-19 บีบให้เร่งรัดเปิดสอนออนไลน์
“ข้อดี” ที่เห็นได้ชัด คือ สถานการณ์บังคับนี้ ทำให้ช่องว่างในการเรียนออนไลน์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพัฒนาแล้วถูกบีบให้แคบลงอย่างมาก เพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้อัตราการเรียนการสอนออนไลน์ของไทย ขยับขึ้นไปในระดับสูงมาก และยังเป็นการผลักพลเมืองทั้งประเทศ ให้เข้าสู่โลกดิจิทัลผ่านการทำงานที่บ้าน การประชุมทางไกล สะท้อนว่าความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลของพลเมืองไทย ก้าวไปรวดเร็วมาก
ส่วน “ข้อจำกัด” ที่หลายคนเห็นว่า การเรียนออนไลน์ใช้ได้กับเด็กในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น และไม่ได้ผลในระดับอนุบาล ศ.ดร.สุชัชวีร์ ไม่เห็นด้วย โดยมองว่า เด็กอนุบาลสามารถมีสมาธิกับสื่อออนไลน์ได้ แต่ผู้ปกครองต้องอยู่ด้วย ดังนั้นประเด็นเรื่องความพร้อมของเด็กคงไม่ใช่ประเด็นหลัก
ปัญหาที่ ศ.ดร.สุชชัชวีร์ ให้ความสนใจมากกว่า คือ การเรียนออนไลน์ จะทำให้ “ครู” กลายเป็นอาชีพที่เปราะบาง เพราะจะถูกเปรียบเทียบกับอาจารย์จากที่อื่น และสิ่งที่จะตามมา คือ เกิดลัทธิ Winner take all คือ เด็กทั้งโลกจะเรียนกับครูคนเดียวที่สอนเก่งที่สุด
“คนสอนที่เก่งที่สุดในโลกจะเป็นครูให้กับคนนับพันล้านคน จึงเป็นโลกที่เจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ จะเป็นผู้ชนะ ดังนั้น การศึกษาไทยจะต้องเตรียมการต่อสู้กับสิ่งนี้”
เตรียมพร้อมลูกหลาน รับมือโลกเปลี่ยน
ดังนั้นควรตั้งคำถามว่า เราสามารถเตรียมลูกหลานของเราให้สามารถรับมือกับอนาคตอย่างไร เพราะโลกจะเปลี่ยนจากยุค Globalization เป็น Localization ซึ่งต้องทำทุกอย่างให้ครบวงจรในประเทศตัวเอง
โดยต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งในแง่กฎหมายที่ทำให้ประชาชนไว้ใจที่จะใช้แพลตฟอร์มของไทย ที่ออกแบบโดยรัฐ เช่น การกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง หากเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งต้องแก้ปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีด้วย โดยเฉพาะการใช้ระบบเติมเงิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการทำกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ
จากนั้นก็ต้องสร้างทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการทุ่มงบประมาณและทรัพยากรลงไปสอนทางเทคโนโลยีในการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อให้พร้อมต่อสู้กับประเทศอื่นๆ ได้ทันที และต้องสร้างความเป็นชาตินิยม ให้คนไทยเชื่อว่า มีความสามารถต่อสู้กับระดับโลกได้
“ร่วมขบวนเรียนรู้ไปด้วยกัน” แนวทางที่จะทำให้คนไทยปรับตัวสู่ Digital Citizen
“ต้องเริ่มจากตัวเราและระบบการศึกษาของไทย เป็น lesson learned journey และต้องสร้าง high performance team”
นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ตอบถามถึงแนวทางที่จะทำอย่างไรไม่ให้ประเทศไทยตกขบวนรถไฟสายเทคโนโลยี จากการเร่งของสถานการณ์ COVID-19
“ตัวอย่างที่เรียนรู้ได้ คือ การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่มีการวางแผน ตั้งแต่การจัดหานักกีฬา เป็นกีฬาที่อยู่ในบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเราจะเห็นว่า สิ่งที่ทีมอเมริกันฟุตบอลชั้นนำจะทำกันเสมอๆ คือ การวางแผนการเล่นและฝึกซ้อมแผนสำหรับเพื่อนำไปเล่นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติหลากหลายรูปแบบ เช่นใน Super Bowl ครั้งล่าสุด ที่ทีม Kansas City Chief มีคะแนนตามหลังคู่แข่งอยู่มากในควอเตอร์ที่ 3 แต่ก็ใช้แผนการเล่นในสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้พลิกกลับมาชนะได้”
นายจรัล ยังยกตัวอย่างอีกหลายประการ ที่เกี่ยวกับการฝึกซ้อมและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยนำแนวทางมาจากการบริหารจัดการองค์กรและธุรกิจ
ดังนั้น องค์กรที่จะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัล และประสบความสำเร็จในสถานการณ์ COVID-19 ต้องมีลักษณะเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพสูง บุคลากรรู้หน้าที่และรับผิดชอบหน้าที่ของกันและกัน เกิดเครือข่ายความร่วมมือ ตัดสินใจและช่วยกันหาจุดร่วมในการทำงาน ซึ่งต่างจากองค์กรที่เน้นการสั่งและควบคุมโดยคนเก่งที่สุดเป็นผู้นำคนเดียว
ส่วนมิติอื่นๆ ที่องค์กรแต่ละแห่งควรจะให้ความสำคัญ คือ การเน้นประสิทธิผลสูงสุด มีการวางนโยบายหรือแนวทางล่วงหน้าว่าหากองค์กรล้มแล้วจะลุกอย่างไร รวมทั้งส่งเสริมการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งภายในทีมและระหว่างทีม เป็น small team empower และ share information
““ในจังหวะที่เราจะโต และทำให้โตอย่างยั่งยืน ในบทความที่เกี่ยวกับ business organization ต้องมีคำว่า “resilience” หรือ “ความยืดหยุ่น” ฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาทำงานต่อได้อย่างรวดเร็ว””
นายจรัลระบุด้วยว่า องค์กรในยุคนี้จะต้องมี resilience thinking ซึ่งมีที่มาจากระบบนิเวศวิทยา คือ ปรับตัวได้ มีความเป็นระบบ บูรณาการได้ พร้อมยกตัวอย่างการเกิดไฟป่า ณ จุดหนึ่ง ไฟจะลามไปทั่ว แต่ถ้าป่ามีความหนาแน่นพอ การเผาไหม้ก็จะลดลง
“ในระบบที่เราดูแลอยู่ ต้องมองหาตัวแปร อย่างใน COVID อาจจะเป็นความถี่ ในการล้างมือ การใส่หน้ากาก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของการติดเชื้อ”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ สรุปว่า การประชุมครั้งนี้ช่วยให้เห็นโอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทย จากการที่ประชาชนได้ทำความคุ้นเคยกับโลกดิจิทัลมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หลายกลุ่มยังไม่มีศักยภาพเข้าถึงอุปกรณ์ และยังขาดทักษะ ทำให้ยังมีปัญหาด้านการศึกษาออนไลน์ หรือแม้แต่ในการใช้งานอื่นๆที่มีแพลตฟอร์มถูกออกแบบมาสำหรับคนด้อยโอกาสโดยเฉพาะ แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังเข้าไม่ถึง เพราะทั้งขาดทักษะ ขาดความรู้ ปรับรูปแบบธุรกิจไม่ทัน จึงต้องพัฒนาศักยภาพกันอย่างเร่งด่วน
ดังนั้น COVID-19 ทำให้เห็นว่า การที่ประเทศไทยจะไปได้ในโลกดิจิทัล ต้องให้ความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ดิจิทัล โดยเฉพาะคำว่า “Technology by Design” ซึ่งมีความหมายว่า ประเทศไทยต้องคิดถึงการเป็นผู้นำเทคโนโลยีในด้านต่างๆ โดยออกแบบการใช้เทคโนโลยีให้สมดุลไปกับการสร้างระบบเพื่อตรวจสอบภาครัฐ เพราะเมื่อประชาชนตรวจสอบได้ มั่นใจว่าระบบมีความโปร่งใส จะทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจ และให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัลโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง