สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. มองกรณี ม.44 อุ้มธุรกิจค่ายมือถือ-ดิจิตอลทีวี ชี้ กสทช. ทำเองได้ เหตุใดจึงใช้ ม.44 คำสั่งกระทบสาธารณะที่ออกหลังเลือกตั้งทำคนกังขาความสัมพันธ์ คสช. กับทุนใหญ่ สื่อได้ประโยชน์ก็อาจไม่ตรวจสอบต่อ ออกคำสั่งช่วงสงกรานต์ทำให้สงสัยเรื่องเจตนาไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ
สุภิญญา กลางณรงค์ (แฟ้มภาพ)
11 เม.ย. 2562 สืบเนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ที่ยืดระยะเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นของกลุ่มโทรคมนาคม (ค่ายมือถือ) อนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลคืนใบประกอบกิจการได้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมประมูลสามงวดและอุดหนุนค่าเช่าโครงข่ายกระจายสัญญาณ
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้ความเห็นกับประชาไทว่ามีกระแสว่าจะมีคำสั่งเช่นนี้มานาน เช่นกันกับเสียงค้านที่ทำให้ชะลอมาได้ แต่สุดท้ายก็มีคำสั่งเช่นนี้ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เวลา เพราะว่าเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ควรใช้ ม.44 ที่จะมีผลกับสาธารณะขนาดนี้ และยังมาชิงประกาศจังหวะเทศกาลสงกรานต์ทำให้การตรวจสอบน้อยเพราะคนหยุดพักผ่อน จึงคิดว่าไม่แฟร์เลย
การใช้ ม.44 ก็เท่ากับใช้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ในเรื่องที่เอื้อเอกชนและกระทบประโยชน์ของชาติ การทำเช่นนี้ต่างอะไรกับกรณีการออก พ.ร.ก. ภาษีสรรพสามิตในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยที่แปลงสัญญาสัมปทาน ช่วยบริษัทมือถือด้วยการแปลงจากรายได้จากสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ที่วิจารณ์กันว่าเอื้อเอกชน ทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือการแก้ไขสัมปทานของไอทีวีที่ต่อมาทำให้ แต่สมัยนั้นเขายังออกกันโดยรัฐสภาที่ตรวจสอบได้ ซึ่งต่อมาเป็นผลให้คนลุกมาคัดค้านรัฐบาลไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตร จนมีส่วนต่อเส้นทางทางการเมืองของเขา
อีกประเด็นหนึ่งที่สุภิญญากังวลคือการใช้ ม.44 ทำให้ กสทช. ลอยตัวไปเลย ทั้งที่เรื่องนี้ไม่มีจุดตันอะไร สามารถใช้อำนาจของ กสทช. ออกประกาศได้ ทำไม คสช. ต้องช่วย กสทช. ขนาดนี้ และช่วยเอกชนหรือเปล่า เพราะ ม.44 ตรวจสอบไม่ได้ก็หมายความว่าตรวจสอบย้อนหลังไม่ได้ ใครจะรับผิดชอบ การออกคำสั่งหลังเลือกตั้งจะมีการครหาหรือไม่ว่า คสช. มีเหตุผลอะไรพิเศษ เหตุใดต้องช่วยขนาดนี้
ในส่วนการให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลคืนใบอนุญาตนั้น สุภิญญาเห็นด้วยในทางหลักการว่าควรจะมีเป็นทางออกให้กับผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการแบกภาระ แต่ก็ควรมีเงื่อนไขว่าถ้าจะยกเลิกก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน เพราะว่าจะมีผลกระทบกับลูกจ้าง ทั้งนี้ ในเรื่องนี้ กสทช. ใช้อำนาจตัวเองออกประกาศก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น ม.44 อีกประการหนึ่ง คำสั่งนี้ให้อำนาจเลขาธิการในการวินิจฉัย (ข้อที่ 2 ในส่วนหลักการและเหตุผล) ทั้งที่ปกติการตัดสินใจจะมาจากมติบอร์ด กสทช. การทำเช่นนี้เสมือนเป็นการรัฐประหาร หรือไฮแจ๊คอำนาจบอร์ดในทางนิตินัย
สุภิญญาประเมินว่า ดิจิตอลทีวีและสื่อในเครือข่ายที่อยู่คนละแพลตฟอร์มจะไม่นำเสนอข่าวนี้ในเชิงตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทำให้ประชาชนไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมปาก ก็เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ในอดีต กสทช. ออกแบบทีวีดิจิตอลให้มีหลายช่อง หลายเฉด ให้มีอิสระในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ แต่พอเรื่องนี้เป็นเรื่องระบบอุปถัมป์เพื่อความอยู่รอดของทีวี ก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะมีการซ้อนทับกันของผลประโยชน์
ส่วนเรื่องที่ใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะมาใช้จ่ายเงินให้ทางทีวีดิจิตอลในหลายส่วนไปก่อนนั้น สุภิญญาสงสัยว่า เป็นอำนาจของ กสทช. ที่ทำได้ตามปกติ เหตุใดต้องใช้ ม.44 ในอดีตเธอเคยส่งเรื่องนี้ให้บอร์ดแต่ก็ไม่มีการตัดสินใจใดๆ คงเพราะเป็นเรื่องเงิน มุมหนึ่ง กสทช. อาจกลัวการถูกตรวจสอบย้อนหลัง แล้วถ้าเช่นนั้นจะแฟร์กับเรื่องอื่น คนอื่นที่ถูกฟ้องร้องจากการตรวจสอบตามปกติไหม เมื่อ กสทช. ที่ทำงานมีผลกับสาธารณะกลับไม่ถูกตรวจสอบ