ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 5/2560 วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้เปิดเผยความเห็นในการพิจารณาหลายวาระ ดังนี้
วาระ 3.5 รายงานผลการแจกคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทีวีและแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค
วาระ 4.1 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
วาระ 4.9 การขอขยายระยะเวลาการส่งแผนปรับเปลี่ยนการประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นกิจการบริการสาธารณะประเภทที่สาม สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์
วาระ 4.10 ผลการศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการรบกวนของสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ. เอ็ม.
วาระ 4.17 ผลการรับฟังความเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กสทช. เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์
วาระ 4.11 กรณีการออกอากาศรายการ The Daily Dose เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 ทางช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ช่อง Voice TV มีเนื้อหาไม่เหมาะสม
“กรณีช่องรายการ Voice TV ออกอากาศรายการ The Daily Dose เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 เวลาประมาณ 19.26 -19.37 นาฬิกา มีการนำเสนอเนื้อหาในหัวข้อ “ขัดแย้งเพราะตุลาการ (ไม่) ภิวัฒน์” ได้รับการร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อ ส่วนงานการรักษาความสงบ สำนักเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีหนังสือด่วนมากลงวันที่ 30 มกราคม 2560 แจ้งว่า ได้ตรวจพบข้อมูลการออกอากาศรายการดังกล่าว โดยเนื้อหาการออกอากาศเป็นการวิเคราะห์ให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม โดยบางช่วงอาจใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพและนำข้อเท็จจริงมานำเสนอไม่ครบถ้วน คณะทำงานติดตามสื่อฯ วิเคราะห์แล้วว่าข้อมูลดังกล่าวอาจสร้างความสับสนให้กับสังคมหรืออาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมได้ จึงขอให้สำนักงานฯ กรุณาตรวจสอบข้อมูลและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้เชิญผู้แทนจากบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เสียงข้างมากจำนวน 8 เสียง เห็นว่า การออกอากาศมีลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ฯลฯ และขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกตกลง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ระหว่างสำนักงานฯ กับบริษัท วอยซ์ฯ จึงเห็นชอบใช้อำนาจตามข้อ 19 ของประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 มีคำสั่งให้บริษัท วอยซ์ฯ แก้ไขปรับปรุงโดยระงับการออกอากาศรายการ The Daily Dose เป็นระยะเวลา 7 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง ทั้งนี้ที่ประชุมเสียงส่วนน้อย 2 เสียง ได้แก่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ และ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในรายการ รวมทั้งเป็นเสรีภาพของผู้รับชมที่จะเห็นด้วยกับการนำเสนอของรายการหรือไม่ก็ได้ และสื่อมวลชนมีหน้าที่เฝ้าระวังคอยตรวจสอบการใช้อำนาจทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริการ และตุลาการ
ดิฉันสงวนความเห็นในการมีคำสั่งให้รายการนี้ระงับการออกอากาศรายการเป็นระยะเวลา 7 วัน โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้
- คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ และ กสท.ควรพิจารณาเรื่องร้องเรียนใดๆ โดยมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน ระหว่าง กรณีการนำเสนอเนื้อหารายการที่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ กับ กรณีเรื่องความเป็นกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และ กสทช.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … อย่างไรก็ตาม หาก กสท. เห็นว่า
การนำเสนอเนื้อหาของช่องรายการใด ๆ เข้าข่ายการเป็นช่องรายการที่เลือกข้างทางการเมือง กสท.ควรกำหนดกรอบกติกาเดียวกันในการกำกับทุกช่องรายการที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อให้มีความชัดเจนต่อการใช้ดุลพินิจที่ไม่เลือกปฏิบัติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น - ดิฉันเห็นว่า การใช้อำนาจของ กสท. ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ส่งผลให้มีโทษปรับทางปกครองตามลำดับ ทั้งนี้เป็นไปตามบทกำหนดโทษในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ซึ่งหากเอกชนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางปกครองดังกล่าวสามารถนำไปฟ้องร้องต่อศาลได้ ขณะที่ การใช้อำนาจตามประกาศ คสช. คณะกรรมการฯ เลขาธิการ และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ทำให้ผู้รับใบอนุญาตไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ซึ่งอาจขัดหลักนิติธรรม (Rule of Law) ทั้งนี้ในกรณีของช่องรายการ Voice TV ควรได้รับการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามกรอบกฎหมายของกสทช.
- สำหรับการนำเสนอเนื้อหาของรายการ The Daily Dose ในการร้องเรียนครั้งนี้ ภายหลังจากที่ดิฉันได้รับชมการนำเสนอแล้วพบว่า เป็นการให้ข้อมูลและแสดงความเห็นของผู้ดำเนินรายการ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะหรือกระทบความมั่นคงของรัฐ หรือถึงขั้นเข้าข่ายยั่วยุ ปลุกปั่นก่อให้เกิดความรุนแรงหรือกระทบความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด การนำเสนอข้อมูลในรายการเป็นการตรวจสอบการแสดงบทบาทของผู้มีอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การเมืองนับตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงปัจจุบันซึ่งสังคมไทยไม่มีฝ่ายค้านทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ดิฉันจึงเห็นว่ารายการดังกล่าวยังไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ อย่างไรก็ตาม สำหรับในอนาคตที่สังคมไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปและมีการจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย องค์กรกำกับดูแลและคณะกรรมการการเลือกตั้งควรวางกฎเกณฑ์กติกาเพื่อให้มีกรอบในการทำงานของสื่อมวลชนโดยวางอยู่บนหลักการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เปิดพื้นที่ให้กับทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างอย่างครบถ้วนและรอบด้าน”
วาระ 4.14 ความเห็นของผู้ใช้บริการทรู วิชั่นส์ ขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 และมติที่ประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559
“ดิฉันสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ เนื่องจากสนับสนุนข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้นำส่งข้อสังเกตประกอบการพิจารณาการขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 43/2559 และ กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 วันที่ 29 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เป็นผลจากหนังสือแสดงความเห็นของผู้ใช้บริการทรู วิชั่นส์ ขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กสท. ทั้งสองครั้งดังกล่าว โดยหนังสือของสมาชิกรายดังกล่าว เห็นว่า การที่ กสท.มีมติอนุญาตให้ บริษัทฯ ยุติการให้บริการและยกเลิกใบอนุญาตช่องรายการกลุ่ม HBO ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และบริษัทฯ ยังมิได้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 รวมทั้งมาตรการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการที่บริษัทฯ เสนอยังเป็นการเอาเปรียบผู้ใช้บริการอีกด้วย
กรณีนี้ ดิฉันขอยืนตามความเห็นที่ได้สงวนความเห็นไว้ในบันทึกการประชุมทั้งสองครั้ง ตามบันทึกข้อความที่ สทช 1003.9/001 ลงวันที่ 5 มกราคม 2560 และ บันทึกข้อความที่ สทช 1003.9/004 ลงวันที่ 9 มกราคม 2560”
วาระ 4.15 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ
“ดิฉันสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้
1. ประเด็นการจัดส่งแผนเยียวยาเพิ่มเติม
สืบเนื่องจากที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้ดำเนินการตามคำสั่งของกสท.ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ที่มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ดำเนินการตามมติที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 และ มติที่ประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 นั้น การประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการฯ และบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ผลการประชุมครั้งนี้ บริษัท ทรู วิชั่นส์ ฯ ยืนยันมาตรการเยียวยาที่เคยผ่านการพิจารณาในการประชุม กสท. นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 วันที่ 29 ธันวาคม 2559 และมิได้เสนอมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ดิฉันเห็นว่า กรณีดังกล่าว กสท.ควรใช้แนวปฏิบัติเดียวกับที่เคยพิจารณากับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เช่น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด กรณี บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด แจ้งเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการแพ็กเกจ Z PAY TV ทางกล่อง GMM Z กล่าวคือ กสท. ควรมีคำสั่งให้ ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้เป็นธรรมและครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวจะใช้มาตรการทางปกครองกำหนดโทษปรับวันละ 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและเมื่อพ้นระยะเวลาแล้ว จะใช้มาตรการทางปกครองให้พักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน และหากยังฝ่าฝืนจะใช้มาตรการทางปกครองเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ทั้งนี้ ดิฉันได้เคยสงวนความเห็นในประเด็นเดียวกันนี้ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 เนื่องจากเห็นว่า กสท.ควรพิจารณาคำสั่งทางปกครองตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ในการประชุมครั้งดังกล่าวแล้ว
2. ประเด็น การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามมาตรา 31 แห่งพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
กรณี ที่ผู้รับใบอนุญาตมิได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 15 วรรคแรกของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัทฯ ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศ ข้อ 5 (7) ของประกาศ กสทช.เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ.2555 ดิฉันเห็นว่า กสท.ควรมีคำสั่งตามมาตรา 31 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลี่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ไปยังผู้รับใบอนุญาต นับตั้งแต่ที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และบส. ได้เสนอวาระเพื่อเข้าสู่การประชุม กสท.ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 ทั้งนี้เพื่อให้มีผลการบังคับใช้คำสั่งปรับทางปกครองหากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตาม แต่การพิจารณาประเด็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคกลับยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากที่ประชุม กสท.เรื่อยมา ทั้งนี้ดิฉันเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ที่เห็นสมควรกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราห้าล้านบาทและปรับรายวันอีกวันละหนึ่งแสนบาท ตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลี่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 อนึ่ง แผนเยียวยาผู้ใช้บริการที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ จัดส่งมายังสำนักงาน กสทช. ได้ถูกจัดส่งมายังกสทช. เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นการจัดส่งแผนเยียวยาที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ ที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบการยกเลิกช่องรายการจำนวน 6 ช่องรายการ และที่ประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 วันที่ 29 ธันวาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบแผนเยียวยาข้างต้นแล้ว และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เจรจาเพิ่มเติมกับบริษัท ทรู วิชั่นส์ ซึ่งในประเด็นนี้ ดิฉันเห็นว่า การที่ กสท. มีมติอนุญาตให้ยกเลิกช่องรายการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ เป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการเพื่อกำกับให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผนการชดเชยเยียวยาที่คุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ดังจะเห็นได้จากการยืดระยะเวลาในการเจรจากับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ตามที่ กสท.มอบหมายให้มาเจรจาด้วยเมื่อวันอังคารที่ 10 มกราคม 2560 และแม้ว่า ในเวลาต่อมาคือวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2560 ได้มีการร่วมประชุมร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการฯ และผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ ผลการประชุมพบว่า บริษัทฯ ยืนยันมาตรการเยียวยาเดิม ตามที่ได้เสนอในการประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 เช่นเดิม
การประชุมพิจารณาวาระเรื่องแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณียกเลิกช่องรายการ กลุ่ม HBO จำนวน 6 ช่องรายการนี้ ได้ถูกเลื่อนการพิจารณาในที่ประชุม กสท.หลายครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันได้เปิดเผยความเห็นไว้ในแล้วในการประชุม กสท.ครั้งที่ 3/2560 วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 ตามบันทึกข้อความที่ สทช 1003.9/013 วันที่ 26 มกราคม 2560 ทั้งนี้ ดิฉันเห็นว่า ความล่าช้าไม่เพียงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลของ กสทช. ยังเป็นการสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคอีกด้วย”
วาระ 4.16 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 11 ช่องรายการ
“กรณีบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ จำนวน 11 ช่องรายการ อันประกอบด้วย
- ช่องรายการ Block A บริษัท ทรูฯ มีหนังสือถึง ลสทช. ลงวันที่ 7 เมษายน 2559 เพื่อขอยุติช่องรายการ โดยแจ้งว่า จะยุติตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2559
- ช่องรายการ MUTV บริษัท ทรูฯ มีหนังสือถึง ลสทช. ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 เพื่อขอยุติช่องรายการ โดยแจ้งว่า จะยุติตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2559
- ช่องรายการ National Geographic, Discovery Science, DMAX, EVE, Discovery Kids, Fashion One, M, BBC Entertainment และ Cbeebies จำนวน 9 ช่อง มีหนังสือถึง ลสทช.ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 เพื่อขอยุติช่องรายการ โดยแจ้งว่า 7 ช่องแรกจะยุติตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 และจำนวน 2 ช่องรายการหลัง จะยุติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560
ดิฉันสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้
- จากการตรวจสอบหนังสือในการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการและสำนักงานฯ ตลอดจน บันทึกภายในระหว่างสำนักปส.2 และ สำนัก บส. ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 ถึง ปลายเดือนมกราคม 2560 จนกระทั่งบรรจุเป็นวาระการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 นั้น จะเห็นได้ว่า สำนักการอนุญาตฯ ได้แจ้งมายังสำนักคุ้มครองผู้บริโภคฯ เรื่องการตรวจสอบการเผยแพร่รายการผ่านโครงข่ายของบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ ว่า ไม่พบการเผยแพร่ จำนวน 8 ช่องรายการ ได้แก่ ช่องDMAX, EVE, Discovery Science, Discovery Kids, Block A, Fashion ONE, MUTV และ M (รายละเอียดตามเอกสารแนบวาระ บันทึกข้อความที่ สทช.4011/1124 วันที่ 30 ธันวาคม 2559 โดย อปส. ส่งมายัง อบส.) ซึ่งบันทึกข้างต้นเป็นหลักฐานว่า บริษัท ทรู วิชั่นฯ ได้ยกเลิกช่องรายการอย่างน้อยจำนวน 8 ช่องรายการไปแล้ว ดังนั้น การดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตจึงไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในประกาศ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตและมติ กสท.ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ เป็นผู้รับอนุญาตประกอบกิจการ แบบบอกรับสมาชิกประเภทเก็บค่าบริการล่วงหน้า (ช่องรายการ) มีหน้าที่จะต้องแจ้งความประสงค์หยุดการให้บริการต่อ กสท.ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันพร้อมเสนอมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการ เพื่อให้ กสท.พิจารณาเห็นชอบก่อนการอนุญาตยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการ ทั้งนี้ขั้นตอนและวิธีการได้มีการกำหนดไว้ในประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 14(5) และ (6), ข้อ 18(1), ข้อ 21 และ เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ข้อ 11 และข้อ 13 นอกจากนี้ ที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 8/2557 เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2557 ยังมีมติเห็นชอบหลักการในหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งพักหรือหยุดการให้บริการ ได้แก่ 1. กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ มีความประสงค์จะพัก หรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันที่เริ่มพักหรือหยุดการให้บริการพร้อมทั้งระบุเหตุผลการพักหรือหยุดการให้บริการ 2. กรณีเป็นช่องรายการแบบบอกรับสมาชิก ผู้รับใบอนุญาตกิจการฯ จะต้องเสนอมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ใช้บริการในลักษณะเป็นเงินค่าชดเชยหรือผลประโยชน์อื่นใดอันสามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้แก่ผู้ใช้บริการเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงเห็นว่า กสท.ควรพิจารณาดำเนินการตามประกาศที่เกี่ยวข้องต่อผู้รับใบอนุญาตในกรณีนี้
- ประเด็นเรื่องกระบวนการพิจารณายกเลิกใบอนุญาต ดิฉันและคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯมีข้อสังเกตว่า ขั้นตอนการขอยกเลิกใบอนุญาตจำนวน 11 ช่องรายการของบริษัท ทรู วิชั่นฯ ในกรณีนี้มีขั้นตอนที่แตกต่างจากการพิจารณาขอยกเลิกช่องรายการ กลุ่ม HBO จำนวน 6 ช่องรายการ ที่ผ่านมา กล่าวคือ กรณีช่องรายการ กลุ่ม HBO จำนวน 6 ช่องรายการ สำนักงานฯ เสนอให้บอร์ด กสท.พิจารณาการขอยกเลิกช่องรายการของผู้รับใบอนุญาตโดยมิได้มีแผนเยียวยาประกอบการพิจารณาตามประกาศกำหนด และ ในการประชุมกสท.ครั้งที่ 43/2559 กสท.เสียงข้างมากได้เห็นชอบการยกเลิกช่องรายการ ขณะที่กรณีการขอยกเลิกช่องรายการ 11 ช่องของผู้รับใบอนุญาตรายเดียวกันในที่ประชุม กสท.ครั้งนี้ กลับพบว่า สำนักงานฯ เสนอให้บอร์ด กสท.พิจารณาแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ โดยที่ยังมิได้มีการพิจารณากรณีการขอยกเลิกช่องรายการ 11 ช่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ผู้รับใบอนุญาตได้ยกเลิกช่องรายการดังกล่าวไปล่วงหน้าแล้ว ดิฉันจึงเห็นว่า ขั้นตอนการดำเนินการและการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตในกรณีต่างๆ สำนักงานฯ ควรพิจารณาตามขั้นตอนและมีกระบวนการติดตามเพื่อให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาตามประกาศที่เกี่ยวข้องด้วย
- กรณีการอนุญาตให้ยกเลิกการประกอบกิจการตามวันที่ผู้รับใบอนุญาตร้องขอ โดยมีผลย้อนหลังนั้น ดิฉันเห็นว่า เป็นขั้นตอนที่มีปัญหาในเรื่องการตรวจสอบการยุติการออกอากาศว่า ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามวันเวลาที่ได้แจ้งไว้หรือไม่ อีกทั้งยังมีผลต่อการพิจารณาแผนเยียวยาที่ไม่สามารถกำกับและตรวจสอบความเหมาะสมของแผนเยียวยา ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับกรณีการขอยกเลิกช่องรายการ 11 ช่องในครั้งนี้ เนื่องจาก การที่ กสท. มีมติเห็นชอบให้นำกรณีการขอยกเลิกช่องรายการเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานจากเอกสารที่สื่อสารระหว่างสำนักงานฯ และผู้รับใบอนุญาต ตลอดจนผลการตรวจสอบการเผยแพร่รายการแสดงอย่างชัดเจนถึงการยุติการแพร่ภาพของช่องรายการ มติ กสท.ในครั้งนี้ สะท้อนการกำกับดูแลที่ไร้ประสิทธิภาพและอาจแสดงถึงเจตนาที่จงใจยืดระยะเวลาในการพิจารณาออกไปอีกไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์ เนื่องจากวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นวันหยุดราชการ จึงงดการประชุม กสท. การยืดเวลาเช่นนี้ย่อมเป็นเหตุให้ผู้รับใบอนุญาตอ้างได้ว่า ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ ดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือของบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ที่ชี้แจงมายังสำนักงานฯ ว่า บริษัทฯ ไม่สามารถนำส่งตัวอย่างภาพการประชาสัมพันธ์การยุติการให้บริการสำหรับบางช่องรายการได้ เนื่องจากเกินระยะเวลาการจัดเก็บหลักฐานการบันทึกรายการตามประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 3) แล้ว เป็นต้น”
Download (Comment-NBC5-60.pdf,PDF, Unknown)