สุภิญญาส่งข้อเสนอเครือข่ายปฏิรูปสื่อถึง คสช. ทบทวนคำสั่งขยายเวลาถือครองคลื่นความถี่หน่วยงานรัฐ/แจ้งสำนักงาน กสทช. เปิดเผยรายงานพิจารณาการใช้คลื่นความถี่ตามกฎหมาย
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ตนได้ส่งหนังสือไปยัง นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เรื่อง “ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 76/2559 ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559” ตามที่เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือกับตนถึงข้อห่วงใยต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาระการปฏิรูปสื่อ ภายใต้การใช้อำนาจผ่านคำสั่ง คสช. 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้อ 7” ที่มีสาระสำคัญให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่ประกอบกิจการกระจายเสียงตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้รับความเห็นชอบให้ถือครองคลื่นความถี่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ยังคงมีสิทธิในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และการถือครองคลื่นความถี่ดังกล่าวได้ตามขอบเขตและสิทธิเดิมต่อไปอีก 5 ปี ซึ่งทางเครือข่ายที่ยื่นหนังสือได้ขอให้มีการทบทวนและยกเลิก ข้อ 7 ของคำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าวที่ขยายระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่วิทยุไปอีก 5 ปี เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่ คสช. ประกาศไว้จริง ซ้ำยังทำให้ไม่สามารถพัฒนากิจการการกระจายเสียงและจัดสรรคลื่นความถี่ได้อย่างเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
พร้อมกันนี้ นางสาวสุภิญญา เปิดเผยว่า ตนได้ส่งหนังสือไปยัง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เพื่อขอให้เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งดิฉันเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรา 82 และ มาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสีง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 รวมทั้งรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ฯ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานและพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ กสทช. เป็นที่เสร็จสิ้นแล้วในการประชุม กสท.ครั้งที่ 36/2559 วันที่ 17 ตุลาคม 2559 และ ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 11/2559 วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559 จึงเห็นว่า สำนักงานฯ ควรดำเนินการเปิดเผยข้อมูลข้างต้นเพื่อให้ประชาชนรับทราบทางระบบเครือข่ายสารสนเทศ