การประชุม กสท. ครั้งที่ 2/2560 วันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2560 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ได้ขอเปิดเผยความเห็นและสงวนความเห็นในการพิจารณาหลายวาระ เพื่อบันทึกไว้ในรายงานการประชุม โดยมีรายละเอียดตามวาระที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
วาระ 4.4 การอนุมัติผังรายการหลัก ประจำปี 2560 ของสถานีวิทยุกระจายเสียง รัฐสภา ระบบเอฟ.เอ็ม. ความถี่ 87.50 MHz และอีก 24 เครือข่าย และระบบเอ.เอ็ม. 2072 kHz
วาระ 4.8 บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด แจ้งความประสงค์หยุดการให้บริการบางส่วนเป็นการชั่วคราวในวันที่ 27 มกราคม 2560 ระหว่างเวลา 02.00 – 04.00 นาฬิกา
วาระ 4.27 เรื่องร้องเรียน กรณีขอให้บริษัท ไอพีเอ็ม แพลทฟอร์ม จำกัด คืนเงินค่าเปลี่ยนอุปกรณ์หัวรับสัญญาณ LNB และค่าปรับหน้าจานรับสัญญาณดาวเทียม (เลขที่ 389/2559)
วาระ 4.28 เรื่องร้องเรียน กรณีขอให้ สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบการโฆษณาแนะนำสินค้าผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของบริษัท ไอพีเอ็ม แพลทฟอร์ม จำกัด (เลขที่ 288/2559)
วาระ 4.29 เรื่องร้องเรียน กรณีขอให้ บริษัท ไอพีเอ็ม แพลทฟอร์ม จำกัด แก้ไขให้สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมได้ตามปกติ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ให้บริการปรับหน้าจานรับสัญญาณดาวเทียมโดยไม่เสียค่าบริการจำนวน 22 เรื่อง
วาระ 4.23 เสนอแก้ไขประกาศ กสทช. เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และการใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์
วาระ 4.22 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
“ดิฉันขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ เนื่องจากเห็นว่า การที่ กสท. ยืดระยะเวลาใน
การพิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ยังผลเสียหายต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ซึ่งดิฉันเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ที่ให้บอร์ด กสท.พิจารณาออกคำสั่งให้บริษัทฯ จัดทำมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้เป็นธรรมและครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบ
โดยให้บริษัทฯ เสนอมายัง กสท.เพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบแผนเยียวยาดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จะใช้มาตรการทางปกครองกำหนดโทษปรับ วันละ 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ยังคงฝ่าฝืนจะใช้มาตรการทางปกครองสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน และเพิกถอนใบอนุญาตตามลำดับต่อไป
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ
ครั้งที่ 2/2560 ในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้รับใบอนุญาต ผู้บริโภคและผู้ร้องเรียน เข้าให้ความเห็นประกอบการพิจารณาวาระดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามมติ กสท. นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2559 ที่มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณาและเจรจากับบริษัท ทรูฯ เพื่อกำหนดแผนเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้น แต่บริษัทฯ ได้ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการฯ ในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2560 ดังนั้น การที่ กสท. มีมติให้ย้อนกลับมาพิจารณามาตรการเยียวยาฉบับเดิมในชั้นคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันควร และหากพบว่า บริษัท ทรูฯ ยังคงประวิงเวลาไม่มาร่วมเจรจาและยืดเยื้อไปเรื่อยๆ เช่นนี้ต่อไป โดยไม่มีมาตรการทางปกครอง ย่อมสะท้อนความล่าช้าโดยเจตนาในการใช้ดุลพินิจของ กสท. และขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแล
นอกจากนี้ ดิฉันยังเห็นว่า กสท.ควรพิจารณาคำสั่งไปยังบริษัทฯ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตช่องรายการและในฐานะผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายฯ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ให้ระงับการดำเนินการที่มิได้แจ้งผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 25 วรรคแรกของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัทได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ตามข้อ 5(7) ของประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ดังนั้น กสท. จึงควรกำหนดค่าปรับทางปกครองในกรณีที่ฝ่าฝืนตามคำสั่งในอัตรา 5 ล้านบาทและปรับรายวันอีกวันละ 2 แสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ซึ่งเป็นไปตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ และบทกำหนดโทษในมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553
อนึ่ง กสท.ได้รับหนังสือจากบริษัท ทรูฯ เพื่อขอยกเลิกการให้บริการจำนวน 6 ช่องรายการ ได้แก่
ช่องรายการ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hit, RED by HBO เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 โดยบริษัทฯ ขอยกเลิกช่องรายการในวันที่ 2 มกราคม 2560 ทั้งนี้ ที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2559 กรรมการเสียงข้างมากเห็นชอบอนุญาตให้บริษัทฯ ยกเลิกใบอนุญาตช่องรายการทั้ง 6 ช่อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 24 (5) กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเลิกการให้บริการก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุจะต้องแจ้งเหตุแห่งการเลิกกิจการให้บริการพร้อมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ให้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการโดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการ
อย่างไรก็ตาม กสท.ได้มีการจัดประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2559 เพื่อพิจารณามาตรการเยียวยาฯ ของบริษัท ทรูฯ ที่จัดส่งมายังประธาน กสท.เมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2559 ที่ประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งนี้ได้เห็นชอบแผนเยียวยาผู้ใช้บริการในเบื้องต้นตามที่บริษัทฯ เสนอและ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณาและเจรจากับบริษัท ทรูฯ เพื่อกำหนดแผนเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมเพื่อให้การเยียวยามีความเป็นธรรม ต่อมา ในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2560 สำนักงานฯได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ครั้งที่ 2/2560 และ เชิญ ผู้ใช้บริการ/ผู้บริโภค และผู้ร้องเรียน เพื่อให้ข้อมูล ทั้งนี้มีความเห็นโดยสรุปว่า การยกเลิกช่องรายการไม่เป็นไปตามกระบวนการที่จะต้องมีการพิจารณาแผนการชดเชยเยียวยาก่อน รวมทั้งไม่มีการชี้แจงผู้บริโภคให้ทราบเป็นการล่วงหน้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ อีกทั้งมีข้อมูลว่า บริษัทฯ ยังคงมีการโฆษณาโดยระบุช่องรายการ HBO ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2559 ส่วนในแง่ของมาตรการชดเชยเยียวยาที่บริษัทฯ เสนอต่อ กสท.และที่เผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ ผู้ร้องเรียนและผู้บริโภคยังเห็นว่าไม่ได้สัดส่วนกับผลกระทบ อาทิ ช่องรายการที่เสนอชดเชยใหม่มีคุณภาพต่ำกว่าช่องรายการเดิม , ปัญหาในเรื่องการชดเชยไม่มีความเท่าเทียมในแต่ละระดับแพ็คเกจ ระยะเวลาในการชดเชย 30 วันโดยไม่คำนึงถึงอายุสมาชิก เป็นต้น สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการฯ วันดังกล่าว ผู้รับใบอนุญาตได้ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมชี้แจง”
Download (Comment-NBC2-60.pdf,PDF, Unknown)