กสท.ถกร่างประกาศส่งเสริมสื่อกำกับจริยธรรมกันเอง – ทวงค่าธรรมเนียมดาวเทียมจดทะเบียนเลี่ยงจ่ายหลายบริษัท
6 ช่องเสนอแผนยุติแอนะล็อก แต่ไร้บทสรุปร่วม และ จ่อเปิดรับจัดสรรคลื่นทีวีดิจิตอลช่องการศึกษา
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 43/59 วันจันทร์ที่ 26 ธ.ค. 59 มีวาระน่าจับตา ได้แก่ การออก(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. … เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาตและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในองค์กรรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม พร้อมทั้งดำเนินการเยียวแก่ผู้เสียหายเนื่องจากรายการที่ออกอากาศเป็นเท็จ หรือละเมิดเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
“ร่างประกาศส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบการวิทยุและทีวีที่ค้างมา 3 ปี กว่าก็พร้อมเข้าสู่การพิจารณาของ กสท.อีกครั้ง ก่อนหน้านี้กลุ่มองค์กรสื่อคัดค้าน แต่หลังจากเจรจา ถกเถียงกันจนได้ร่างที่พอรับได้ร่วมกันแล้ว ปัจจัยหนึ่งก็เพราะว่าตอนนี้มีกลไกรัฐอื่นที่จะเข้ามาควบคุมเสรีภาพสื่อมากกว่าแนวทางของ กสทช. จึงเป็นโอกาสดีที่สื่อวิทยุและโทรทัศน์จะร่วมมือกับ กสทช.ในการยกระดับการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมให้เป็นจริง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการละเมิดจริยธรรมที่ไม่ใช่กฎหมาย เพราะอำนาจของ กสทช.กำกับดูแลได้เฉพาะในเรื่องที่ผิดกฎหมายเท่านั้น หวังว่าร่างประกาศฯนี้จะผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด กสท. และนำมาใช้ในการส่งเสริมสื่อได้” สุภิญญา กล่าว
นอกจากนี้ กสท.เตรียมพิจารณาวาระหลักการและแนวทางการสอบทานการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี กรณีการตั้งตัวแทน การร่วมผลิตรายการ การให้เช่าใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม(Transponder) ซึ่งการที่เอกชนจดทะเบียนหลายบริษัท แล้วนำรายได้หลักไปอยู่บริษัทที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย ดังนั้นเป็นเรื่องดีที่ทางสำนักค่าธรรมเนียม เสนอหลักการเรื่องนี้เพื่อการจัดเก็บย้อนหลัง ให้เกิดความเป็นธรรมกับรายที่เขาเสียค่าธรรมเนียมเต็มแบบตรงไปตรงมา รวมทั้งมีวาระแนวทางและการสอบทานการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี ของ บริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด
สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า วาระแผนยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของ นับเป็นข่าวร้ายถ้าทางช่องเดิมเช่น 3 และ 7 จะยุติทีวีแอนะล็อกจนถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เพราะช่อง 5 – 9 – 11 – ไทยพีบีเอส จะยุติในปี พ.ศ. 2560 - 2561 ส่วนตัวคิดว่าการยุติล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอลและการแข่งขันที่ยังไม่เป็นธรรมในสนามเดียวกัน และยังมีเรื่องอัตราการจ่ายค่าธรรมเนียมของช่องแอนะล็อกที่ได้สิทธิ์ยกเว้นด้วย ในขณะที่ใบอนุญาตดิจิตอลต้องจ่ายเต็ม
วาระอื่นๆน่าจับตา ได้แก่ วาระขอรับการจัดสรรคลื่นเพื่อให้บริการช่องในระบบดิจิตอลเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา วาระที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ที่พร้อมใจร่วมดำเนินการตามแนวปฏิบัติ(กสท.) ในการถวายความอาลัยและด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ออกอากาศในโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลเป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. เป็นต้นไป ถือเป็นรายการข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์เพื่อประกอบการขอลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี วาระการปรับเปลี่ยนกำหนดการขยายโครงข่ายของสถานีเสริมในกลุ่ม A2 สำหรับให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอลทีวี และวาระอื่นๆ ติดตามในการประชุมวันจันทร์ นี้……