17 พ.ย. 59
งานวันนี้มีเวทีสาธารณะ NBTC Public Forum หาความร่วมมือหลายฝ่ายในการกำกับดูแลโฆษณาเครื่องสำอาง ยาลดความอ้วน อาหารเสริมผิดกฎหมาย อย.ในสื่อออนไลน์ ที่ยังมีช่องว่างทางกฎหมาย อย่างที่ทราบข้อเท็จจริงว่า กสทช. ไม่มีอำนาจกำกับดูแลเนื้อหาในอินเตอร์เน็ต กสทช. กำกับได้ตรงก็เฉพาะผู้รับใบอนุญาตวิทยุ โทรทัศน์จากการจัดระเบียบสื่อวิทยุโทรทัศน์ 5 ปีที่ผ่านมาของ กสทช.ก็ทำให้โฆษณาผิดกฎหมาย อย.ในทีวีลดลง แต่พบว่าไปโฆษณากันเกลื่อนในสื่อออนไลน์แทน การที่รัฐกำกับโฆษณาผิด อย.เข้มงวดในสื่อทีวีรายได้ช่องหายไป เจ้าของสินค้าไปโฆษณาในสื่อออนไลน์แทน มุมนึงก็ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับสื่อทีวี ถ้าโฆษณาผิดกฎหมาย อย.ในทีวีจะถูกปรับสูงสุดถึง1ล้านบาททำให้หลายช่องก็ตัดสินใจเลิกโฆษณาไป แต่ในสื่อออนไลน์โดยเฉพาะ social media ตอนนี้ เสรีมาก
อีกทั้งความรุนแรงของการโฆษณาอาหารเสริม เครื่องสำอางใน social media ส่งผลร้ายแรงมากขึ้นจนทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายแล้วถึงขั้นเสียชีวิต ในเวทีวันนี้ เราเชิญตัวแทนผู้เสียหายจากการใช้ครีมที่โฆษณาขายผ่าน facebook มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ฟังแล้วรู้สึกเศร้ามากจริงๆ ผู้เสียหายเป็นผู้หญิง สั่งซื้อครีมที่โฆษณาว่าทำให้ตัวขาวมาใช้ แต่ใช้แล้วผิวแตกลายเต็มตัว แพทย์บอกว่าผิวไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
ผู้เสียหายผู้หญิงคนนึงบอกว่ารู้สึกเสียใจกับชีวิตมาก จนเคยคิดจะฆ่าตัวตาย มาร้องเรียนกับองค์กรผู้บริโภคแต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ความเป็นธรรม ยิ่งไปกว่านั้นผลิตภัณฑ์ครีมดังกล่าวก็ยังขายอย่างคึกคักใน facebook และคนก็ยังซื้อเป็นจำนวนมาก มีผู้ได้รับผลกระทบเสียหายเป็นจำนวนมากเช่นกัน เภสัชกรในเวทีวันนี้บอกว่าครีมดังกล่าวอาจจะมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งทำให้ผิวแตกลายทั้งตัวแล้วไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีก
คำถามในเวทีวันนี้คือทำไมทาง อย. ยังไม่สามารถสั่งระงับการขายครีมดังกล่าวได้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีอันตราย cc @fdathai บางท่านอาจจะโทษผู้บริโภคว่าไม่ชั่งใจ ไม่รู้เท่าทัน แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ควรต้องเข้มงวดด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่กระทบกับชีวิตสุขภาพประชาชน โฆษณาขายครีมที่เกินจริงไปมากที่อยู่ใน social media จะไม่สามารถทำได้ในสื่อทีวีเพราะผิดกฎหมาย อย. อันนี้คือช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายของไทย ผู้เสียหายร้องเรียนไปยังเจ้าของครีม แต่ก็โดนพูดกลับมาว่าที่ผิวเป็นแบบนี้อาจเพราะไปกินปลาร้ามา – คำบอกเล่าในเวทีวันนี้ #เศร้า #racist
นอกจากปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายของ อย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อีกเรื่องที่เศร้าซ้ำวันนี้คือทัศนคติ ‘ผู้หญิงต้องขาว’ เท่านั้นถึงจะดี จำไม่ได้ว่า ทัศนคติที่ว่าผู้หญิงต้องขาวเท่านั้นถึงจะสวยเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มันส่งผลต่อชีวิตน้องสาว ลูกสาว หลานสาวของเราไม่น้อยเลย ข้อมูลที่นำเสนอวันนี้บอกว่ากลุ่ม Gen Y ที่อายุประมาณ 15 ถึง 34 ปีจะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายในการโฆษณาชวนเชื่อขายครีม เสี่ยงกฎหมายในออนไลน์มากสุด
ผู้เสียหายวันนี้ดูแล้วอาจจะเป็นลูกสาวดิฉันได้ทีเดียว (ถ้ามีลูกตั้งแต่หลังเรียนจบ) ได้ฟังเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว อดรู้สึกสะท้อนใจไม่ได้ ยอมรับว่าพูดคุยกันวันนี้ก็ยังมืดแปดด้าน การกำกับโฆษณาในสื่อออนไลน์มีความยากและท้าทายจริงๆโดยเฉพาะในยุคไร้พรมแดนแบบนี้ ทุกคนเป็นสื่อกันหมด อย่างไรก็ตามยังพอมีแนวทางที่ช่วยกันคิดว่าจะทำต่อไป ทั้งในแง่ความมือกันหลายฝ่ายเพื่อบังคับใช้กฎหมายและการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้มากขึ้น ดิฉันจะทำบันทึกสรุปข้อเสนอในวันนี้ส่งให้ท่านเลขาธิการ กสทช. เพื่อส่งต่อไปให้รัฐบาลอีกที ต้องใช้ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษา กระทรวงดีอี กสทช. ตำรวจ ช่วยกัน รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องโฆษณาขายยาทำแท้ง อาหารเสริม ครีมเถื่อน ฯลฯในสื่อออนไลน์ ด้วยการแก้ที่ต้นเหตุ ถ้าอันตรายควรให้หยุดขายก่อน จากนั้นคงต้องขอความร่วมมือทาง social media เช่น facebook ในการรับโฆษณา ควรเป็นไปตามกฎหมาย อย.ของไทยด้วย ในส่วนที่เป็นเพจทั่วไปของคนใช้แต่แฝงขายครีม การกำกับจะยาก คงต้องช่วยกันกด report หรือร้องเรียน อย. ถ้าเห็นว่าโฆษณาเกินจริงไปมาก อย.มีกฎหมายที่คลุมทุกสื่ออยู่แล้ว แต่ปัญหาคือบังคับใช้กฎหมายไม่ทันการ ผู้บริโภคคงต้องช่วยกันด้วยอีกทาง มีเพื่อนเตือนเพื่อน มีน้องเตือนน้อง
ดารา นักแสดง เซเลป เน็ตไอดอล คงต้องขอความร่วมมือให้มีจรรยาบรรณการขายครีมต่างๆ ถ้าใครทำผิด ฝาก อย.ช่วยบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด ธุรกิจขายครีมประเทศไทย รุ่งเรืองจริงๆ วันนี้ในเวทีบอกว่า กลุ่มคนที่จะรวยจาก digital economy ก็เครือข่ายขายครีมนี่เอง (ถ้าผิด อย.อันตรายมาก)
ขนาด blog http://www.supinya.com ของดิฉันเอง ยังมีอีเมล์ติดต่อมาขอให้ช่วยรับโฆษณารีวิวครีม คุณพระช่วย เครือข่ายขายครีม และ อาหารเสริมของไทย ตอนนี้ขยายไปประเทศเพื่อนบ้านแล้ว วันก่อนเพิ่งมีเวทีแลกเปลี่ยนกัน ที่น่ากลัวคือผลิตภัณฑ์ขาดคุณภาพ ความยากคือการอ้างเลข อย.ปลอม เกลื่อนเน็ต ตรวจสอบยาก เวทีวันนี้จึงเสนอให้ อย. ทำ data bank ฐานการอนุญาตที่ถูกต้องให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ แม้ กสทช.ไม่มีอำนาจโดยตรง แต่ก็จะพยายามประสานความร่วมมือเท่าที่ทำได้ มีร้องเรียนเข้ามาเยอะ เราก็อึดอัดที่ทำอะไรไม่ได้ ในฐานะปัจเจกบุคคล เราก็ช่วยกันได้ ถ้าเจอเพจขายครีมเว่อร์เกินจริง ช่วยกันทำให้ระบบ report and take down ให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ฟังดูแล้วดูเหมือนเป็นปัญหาโลกแตก แก้ได้ยาก แต่เราก็ช่วยกันหลายทางค่ะ การส่งเสริม ปลูกฝังรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ คงต้องทำให้มากขึ้น รัฐบาลอาจจะห่วงสื่อออนไลน์กับปัญหาความมั่นคงทางการเมือง แต่จริงๆเรื่องโฆษณาขายครีมเถื่อนก็เป็นปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมเหมือนกัน
เมื่อรัฐเข้มงวดโฆษณาครีมในทีวี เขาก็จะไปลงสื่อออนไลน์แทน เงินก็จะส่งออกนอกประเทศอาทิ facebook/google แต่ถ้าเจอครีมผิด อย. คนไทยก็รับผลไป ฟรีทีวีที่ผ่านมามีประมาณ5 – 6ช่องที่มีประวัติโฆษณาผิด อย.แต่หลังจาก กสทช. กำกับเข้ม ตอนนี้เหลือ2ช่องที่ยังคงผิดซ้าซาก รอเจอโทษหนักขึ้น ส่วนทีวีดาวเทียมภาพรวมปัญหาลดลงแต่ยังไม่หมดไป ต้องไล่ตามกำกับกันต่อเนื่องโดยเน้นให้โครงข่ายช่วยดู ถ้าผิดซ้ำโครงข่ายต้องรับโทษด้วย #อย. จะรีบส่งบันทึกข้อเสนอในเวทีวันนี้ถึงท่าน @TakornNBTC ช่วยประสานงานรัฐบาล กระทรวงดีอี อีกทางในการหาทางกำกับโฆษณาผิด อย. ในสื่อออนไลน์ค่ะ
นอกจากครีมผิวขาวแล้ว ที่น่ากลัวมากคือการขายยาลดความอ้วนใน social media ถ้าเจอที่ไหน ช่วยกันเตือนช่วยกันบอกค่ะอย่างน้อยก็ช่วยคานข้อมูลได้ ครีมผิวขาวอาจทำให้ผิวแตกลายชีวิตพัง แต่ยาลดความอ้วนอาจทำให้เสียชีวิตไปเลยและมีหลายเคสแล้วที่ตกเป็นข่าว ฝาก อย. แก้ปัญหาเชิงรุกที่การ(ห้าม)ผลิตยาด้วย
….
พูดเรื่องนี้แล้วเครียดพักก่อนดีกว่า พรุ่งนี้มีงานกับไทยพีบีเอส ปรับโหมดเป็นเรื่องของ บทบาทสื่อกับความปลอดภัยบนท้องถนนบ้าง ไว้มาเล่าเพื่อทราบค่ะ ถามว่าทำไมสื่อถึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะว่าเป็นเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมากมายเหลือเกิน ไว้มาขยายความพรุ่งนี้ค่ะ…