กสทช. ประเดิม 3 พื้นที่นำร่องพัฒนาต้นแบบโทรทัศน์ชุมชน:ดาวน์โหลดเอกสาร

กสทช. ประเดิม 3 พื้นที่นำร่องพัฒนาต้นแบบโทรทัศน์ชุมชน

ขอบคุณที่มา : นักข่าวพลเมือง

เดินหน้าต้นแบบพัฒนาโทรทัศน์ชุมชนในประเทศไทย กทปส.หนุนงบนำร่อง หลังไอทียูจับมือยูเนสโกและกสทช.ศึกษาแนวทางการประกอบกิจการ ให้ 3 พื้นที่ทดลองตั้งสถานี ด้าน “พะเยาทีวี-ทีวีอุบล-ทีวีอันดามัน” โชว์แนวคิดทำสื่อเพื่อตอนสนองชุมชน ชี้ความยั่งยืนมีจริงหากสร้างให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของและรัฐหนุนโครงข่าย หวั่นแค่จะไม่มีคลื่นความถี่ให้ ขณะที่ภาควิชาการ-ไทยพีบีเอสเป็นพี่เลี้ยงเสริมทักษะการสื่อสาร ร่วมเป็นหุ้นส่วนสร้างทีวีชุมชนให้เป็นสถาบันด้านสื่อของสังคม

เครดิตภาพ : Suraphong Phanwong

22 พ.ย. 2559 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จัดประชุมเชิงวิชาการเรื่อง “แนวทางการประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชนในประเทศไทย” ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพ เพื่อแถลงผลการศึกษาแนวทางการประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชนในประเทศไทย ที่ศึกษามาระยะเวลา 1 ปี เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ แนวทางและกรอบกำกับดูแล ตลอดจนให้ ผู้ที่ได้รับทุนในการเตรียมความพร้อมก่อตั้งทีวีชุมชน 3 พื้นที่ในประเทศไทยชี้แจงแนวทางก่อตั้ง ตลอดจนและเปลี่ยนกับผู้ให้บริการโครงข่ายและหน่วยงานสนับสนุน โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนจากเครือข่ายทีวีชุมชน สื่อชุมชน สื่อมวลชน และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยประมาณ 150 คน

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวว่า แผนแม่บท กสทช. วางการจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลให้มีทั้งทีวีบริการสาธารณะ และประเภทธุรกิจ ในส่วนของทีวีบริการสาธารณะกำหนดให้มีทั้งระดับชาติ และระดับชุมชน ตามกฏหมายที่เขียนไว้ว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ร้อยละ 20 ต้องจัดสรรไว้ให้กับภาคประชาชน ซึ่งจะต้องเดินหน้าต่อ แม้จะช้าไปมากแต่จะต้องผลักดันไปยังนโยบาย ดังนั้น กสทช.จึงร่วมกันไอทียูทำการศึกษาเรื่องนี้ในปีที่ผ่านมา และงานวันนี้เป็นการชี้แจงข้อมูลและแนวทางที่ศึกษาได้เพื่อนำผลการศึกษานำเสนอบอร์ด กสทช และกสท.ต่อไป

เปิดผลการศึกษาทีวีชุมชน : สะท้อนท้องถิ่น หารายได้โดยไม่แสวงหากำไรได้

Dr. Murray Green ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสื่อและที่ปรึกษากฎหมายด้านสื่อ กล่าวถึงสาระสำคัญที่การกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์ชุมชน ต้องคำนึงถึง 9 หัวข้อ 1. ต้องชัดเจนว่าอะไรใช่ หรือไม่ใช่โทรทัศน์ชุมชน  หลักการคือเป็นโทรทัศน์ชุมชนเป็นของชุมชน บริหารงาน และควบคุมโดยชุมชน 2.ต้องแยกแยะว่าไม่ใช่โทรทัศน์สาธารณะระดับชาติ  ไม่ใช่เชิงพานิชย์ รวมถึงเนื้อหา ดังนั้น หากเนื้อหาซ้ำรอย ก็ไม่รู้จะมีทำไม ดังนั้นเนื้อหาควรเจาะจงเฉพาะ 3.การกำกับดูแล โดย กสทช. มีหน้าที่คือทำอย่างไรให้การประกอบกิจการดำเนินไปได้โดยมีปัญหาน้อยที่สุด มีกติการะเบียบหรือแนวทางให้คนดำเนินการได้

4.โครงสร้างเเละธรรมาภิบาล ต้องมีคณะกรรมการ มีผู้อำนวยการ ผู้ประสานงาน เเต่ละสถานี โดยยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาว่ามีตำเเหน่งอะไรบ้าง 5.มีการกำกับและดูแลกันเอง 6.การเผยแพร่เนื้อหารายการ มีหลากหลายช่องทาง ทั้งผ่านสื่อใหม่ด้วย 7.การเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพบุคคลากรเป็นสิ่งจำเป็น ต้องมีทักษะความรู้ความสามารถทั้งเทคนิคและเนื้อหา 8.การจัดตั้งสมาคม รวมกลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์ชุมชน ช่วยเรื่องความยั่งยืน 9.การเสริมสร้างทักษะของหน่วยงานกำกับดูแลเองให้มีความรู้ความเข้าใจก็เป็นสิ่งจำเป็น

นายวิสิฐ อติพญากุล ผู้จัดการโครงการ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ สรุปสาระสำคัญของรายงานไอทียูว่า หลักการของโทรทัศน์ชุมชนมี 3 ข้อสำคัญคือ 1. เป็นของชุมชน บริหารงาน และควบคุมโดยชุมชน 2.สามารถหารายได้ได้ แต่ไม่มุ่งหวังผลกำไรเป็นหลักเพราะการจะดำเนินงานอยู่ได้ก็ควรมีรายได้ส่วนเกินเพื่อการพัฒนาตัวเองด้วย 3.มีความเป็นท้องถิ่น สะท้อนความเป็นชุมชน

รายงานที่ไอทียูทำมี 3 ฉบับคือ กรณีศึกษาจากต่างประเทศ 8 ประเทศ แนวทางการกำกับดูแล ในบริบทกฏหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน และการศึกษาแนวทางการทดลองให้บริการโทรทัศน์ชุมชน ในแนวความคิดของทีมงานได้เสนอและคาดหวังว่า สิ่งที่สำนักจะดำเนินการต่อคือนำสิ่งที่ศึกษาไว้มาทดลอง จากนั้นจึงจะเป็นการให้บริการจริง

นายวิสิฐกล่าวว่า กรณีศึกษาการให้บริการทีวีชุมชนในต่างประเทศแทบทุกประเทศประสบปัญหาเรื่องความยั่งยืนในเรื่องรายได้ ไม่มีเงินที่จะดำเนินงานต่อไปได้ แต่ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เอกชน หรือชุมชน แสดงให้เห็นว่ายากที่จะอยู่ได้ตนเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ การได้รับการสนับสนุนจากรัฐเป็นสิ่งสำคัญ และการรวมกลุ่มก้อนช่วยเรื่องความยั่งยืนได้ โดยต้องมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากร-ชุมชน มีกฎระเบียบเรื่องการหารายได้ แลกเปลี่ยนความรู้ และใช้เครื่องมือร่วมกันได้

ด้านการกำกับดูแลกรณีศึกษาในต่างประเทศพบว่า หน่วยงานกำกับที่มีบทบาทน้อยมาก แต่มีการออกหลักการปฏิบัติให้ผู้ประกอบการดูแลกันเอง มักเกิดในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็มีการกำกับบางลักษณะด้วย เช่นสิงคโปร์ หนุนให้ดูแลกันเองด้านต่างๆ แต่ด้านกำกับเนื้อหาโดยต้องผ่านรัฐ นอกจากนั้นจะมีการการดูแลกันเองและรัฐเข้าไปช่วยเหลือ ในกรณีที่มีปัญหาเช่นข้อร้องเรียนของประชาชนหรือข้อพิพาทกันเอง แบบนี้ทางรัฐหรือกสทช.สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้โดยมีกฎหมายรองรับเป็นต้น ถัดมาเป็นการกำกับร่วมกัน เช่นในออสเตรเลีย โดยมีการร่างแนวทางกำกับร่วมกัน และหลักการที่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐให้นำไปกำกับกันเอง และมีส่วนที่กำกับโดยรัฐเอง เช่นการออกใบอนุญาติ ควบคุมดูแลโดยกสทช.เป็นต้น

ในการศึกษาครั้งนี้ มีข้อเสนอว่าผู้ที่มาขอใบอนุญาตประกอบกิจการจะต้องผ่านการทดลองก่อนระยะ 1 ปี เพื่อดูศักยภาพและมีการประเมินผล 6 เดือนแรก และต่อใบอนุญาตทดลองได้อีก ใบอนุญาตประกอบกิจการจริงมีระยะเวลา 5 ปี และต่ออายุได้

ด้านการบริหารองค์กรหรือสถานี มีข้อแนะนำว่าหากจัดตั้งเป็นสมาคม ที่มีรูปแบบก่อตั้งชัดเจน เพราะการปฏิบัติงานจริง การบริหาร การหารายได้ จะมีความชัดเจน แต่หากจะทำเป็นมูลนิธิ หรือตามกฏหมายกำหนดกรอบไว้เบื้องต้นก็สามารถทำได้ เป็นเพียงข้อเสนอให้เกิดความชัดเจนยั่งยืน

ด้านการหารายได้ กฏหมายระบุว่าโฆษณาไม่ได้ แต่การศึกษานี้เสนอว่าสามารถหาเงินสนับสนุนได้ โดยประกาศรายชื่อผู้สนับสนุนได้ โดยกำหนดกรอบเวลา  และสำนักงานกสทช.สามารถออกหลักเกณฑ์ปฏิบัติเพิ่มเติมให้ได้ว่า อะไรคือโฆษณา อะไรคือการสนับสนุน

ด้านหน้าที่ของผู้ได้รับใบอนุญาตก็มีเขียนไว้ให้เข้าใจตรงกัน มีการขอคืนใบอนุญาตได้ด้วย รวมถึงหลักปฏิบัติสำคัญที่จะต้องกำหนดไว้ทั้งการปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการและการดูแลส่งเสริมให้อาสาสมัคร

ด้านหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแล ที่จะต้องดูแลการแข่งขันในตลาดให้เป็นธรรม และแก้ไขรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค

ด้านแนวทางการทดลอง เสนอว่า ปัจจุบันมีโครงข่าย 5 โครงข่ายซึ่งมีช่องสัญญานที่เหลืออยู่ ดังนั้นถ้าจะอนุญาติให้ช่องสัญญานที่เหลืออยู่ในการทดลองสามารถทำได้ และควรจะทำ  แต่ในระยะยาวจะต้องให้เกิดโครงข่ายที่ 6 ที่เป็นโครงข่ายของชุมชนโดยเฉพาะ โดยก่อนการลงทุนควรสำรวจความต้องการ และพูดคุยกับผู้ประกอบการในทั้งพื้นที่ความต้องการและแนวทางการลงทุนก่อนด้วย

ด้านงบประมาณระหว่างการทดลอง สถานีหารายได้จากการบริจาค การประกาศผู้สนับสนุนโดยมีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย การจัดการฝึกอบรม  การรับการสนับสนุนจากองค์กรหน่วยงานต่างๆ โดยมีการจัดซื้อจัดจ้างพิจารณาแบบทั่วไป หรือแบบการเสนอแนวทางการทำงานและของบประมาณอุดหนุนมาตามหลักเกณฑ์ ซึ่งหากขอมาใช้งบประมาณน้อยจะพิจารณาก่อน เพราะสะท้อนความพร้อมทั้งแนวคิดประกอบกิจการด้วย

ด้านข้อเสนอการพัฒนาบุคลากรและการสนับสนุนการให้ใบอนุญาติ ผลรายงานได้เสนอให้สนง.กสทช.เอง จัดตั้ง ห้องสมุดเนื้อหาที่สามารถแบ่งปันเนื้อหาใช่ร่วมกัน มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย ไทยพีบีเอส หรือผู้ประกอบการที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้มีหลักสูตรอบรม ทักษะในการถ่ายทอด โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนกทปส. เป็นต้น

(สามารถดาวน์โหลดเอกสารในรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/NbtcRightss/posts/326381454411536)

เครดิตภาพ : Suraphong Phanwong

เปิดแนวคิด ต้นแบบทีวีชุมชน : พะเยา-อุบล-อันดามัน

วงประชุมหัวข้อ “แลกเปลี่ยนโครงการพัฒนาต้นแบบโทรทัศน์ชุมชนในประเทศไทย” มีการพูดคุยถึงต้นแบบโทรทัศน์ชุมชนในประเทศไทยและการดำเนินโครงการ 3 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ประกอบด้วย 1.ทีวีชุมชนอุบลราชธานี โดยมูลนิธิสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี 2.“พะเยาทีวี” โดยสมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา 3.ทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง โดย มูลนิธิรักษ์ไทย ดำเนินวงเสวนาโดย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน

เปิดแนวคิด 3 พื้นที่นำร่อง

นางสาวอรศรี ศรีระษา ผู้อำนวยการส่วน สำนักกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล สำนักงาน กสทช. หลังจากทำการศึกษาแนวทางการทดลองให้บริการแล้ว การที่จะเห็นในรูปแบบของทีวีชุมชนว่าดำเนินการได้จริงหรือไม่ก็ต้องเข้าสู่การทำต้นแบบ ที่จะเริ่มต้นในปลายปี 2559 ของทั้ง 3 พื้นที่ โดยในขั้นตอนการทำลองทำต้นแบบ จะใช้ช่องทางออกอากาศทางอินเตอร์เน็ต เคเบิ้ล หรือจะเป็นช่องโทรทัศน์ที่ต้องไปหารือกับทางโครงข่ายซึ่งปัจจุบันมีช่อง Standard Definition Television เหลืออยู่รวมกัน 11 ช่องสัญญาน คือของไทยพีบีเอส 3 ช่อง อสมท. 2 ช่อง และกรมประชาสัมพันธ์ 6 ช่อง อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถนำมาทดลองได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือ  ระยะเวลาโครงการ 2 ปี โดยที่แต่ละโครงการจะต้องก่อตั้งสถานีให้ได้ภายในหกเดือน หลังจากนั้นมีการออกอากาศไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมงระยะเวลาปีครึ่ง เป็นรายการสดและรายการที่ออกอากาศซ้ำ และจะต้องนำสิ่งที่ได้ทดลองทำถอดบทเรียนและสอนคนที่สนใจที่จะขอใบอนุญาตทีวีชุมชนแต่ละพื้นที่ด้วย

ขณะที่นายสุชัย เจริญมุขยนันท มูลนิธิสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า การดำเนินการทีวีชุมชนอุบลราชธานีภายใต้แนวคิดการที่จะให้พลังชุมชนขับเคลื่อนอนาคตจากการมีกรรมการทีวีหลากหลายทั้งเป็นพระสงฆ์ นักธุรกิจ ผู้พิการ สื่อมวลชน นักวิชาการ เยาวชน และชุมชน

เดือนมิถุนายน – ตุลาคม 2557 สำรวจคนดู 700 คน จาก 7 ชุมชนพบว่า คนอุบลฯจะ ดูทีวีมากที่สุด คือ 16.00-20.00 น เนื้อหาที่ต้องการ 1.ข่าวท้องถิ่น 2.ราคาพืชผลทางการเกษตร ข่าวสารวัฒนธรรมความรู้ทางการเกษตร หนัง ละครท้องถิ่น 3.พยากรณ์อากาศท้องถิ่น นอกจากนั้นจะเป็นแหล่งอาหารพื้นเมือง การเมืองท้องถิ่น ข่าวเศรษฐกิจ ภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมชุมชน ปัญหาชุมชน 4.ข่าวอุบัติเหตุ สินค้าแหล่งท่องเที่ยว การจราจล 5.การรู้เท่าทันสื่อ การ์ตูน เพลง แหล่งเรื่องรู้ชุมชน ในเบื้องต้นได้จัดทำผังรายการที่เตรียมออกอากาศตามเงื่อนไขสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมงและจะนำเข้าที่ประชุมกรรมการทีวีชุมชน รวมถึงมีนักวิชาการช่วยมองทิศทางการนำเสนอร่วมกับกรรมการทีวีชุมชน โดยลักษณะผังที่วางมีทั้งที่ผลิตเองและให้เครือข่ายมาร่วมผลิต และสื่อสาร

ทั้งนี้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การทำทีวีชุมชนคือ เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา เปลี่ยนประเด็นเดี่ยวให้เป็นประเด็นร่วม และ เปลี่ยนผู้ชมเป็นผู้ผลิตทีวี จะเกิดคุณค่าร่วมและเป็นรูปธรรม

นายสุชัย กล่าวต่อว่าแผนพัฒนาต้นแบบรายการ ทำทั้งเชิงออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น มีการพัฒนาบรรณาธิการชาวบ้านได้มีโอกาสมาบอกว่าอะไรควรออกไม่ควรออก ไม่ใช่บรรณาธิการของมืออาชีพทำเองเพียงอย่างเดียว ในอนาคตมองว่าสิ่งที่ได้เกรด D คือผู้ชม เกรด C ชุมชนเป็นแหล่งข่าวให้เรา เกรด B ชุมชนรวมผลิต เกรด A ต้องการให้ชุมชนเป็นเจ้าของ

“โจทย์สำคัญคือการอยู่ยั่งยืน มีข้อเสนอทั้งการบริจาค ขายสินค้าออนไลน์ ฝึกอบรม ผ้าป่า การกุศล การถ่ายทอดสด ใช้ Content Marketing การร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเผยแพร่งานวิจัย การทำ CSR ลักษณะต่างๆ การร่วมกับเครือข่ายสื่อทางออนไลน์เป็นต้น”

ด้านนายชัยวัฒน์ จันธิมา พะเยาทีวีชุมชน จ.พะเยา กล่าวว่าพะเยาทีวีชุมชนทำงานในพื้นที่ โดยเสถาบันปวงผญาพยาว ทำงานกับเครือข่าย มหาวิทยาลัยพะเยา และไทยพีบีเอสตั้งแต่ปี 2552  “เราไม่อยากเป็นทีวีดาวเทียม เราอยากเป็นทีวีที่มาจากภาคพื้นดิน ผมคิดว่าทีวีชุมชนก็ต้องเป็นของชุมชนตั้งแต่เริ่มต้น ส่วนเราก็เป็นแค่ตัวกลไกหนึ่งที่ทำให้เกิด จนมาเกิดเป็นสมาคมสื่อชุมชน จ.พะเยา ตัวองค์กรเป็นหัวใจหนึ่งที่ทำให้เกิดการบริหารจัดการได้”

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า หลายคนมาถามว่าทีวีชุมชนจะอยู่ได้อย่างไร ทุกวันนี้เราทำทีวีให้คนดูดูแต่จอกระจกแล้วเราก็ไม่เห็นปฏิกริยาของคนดู เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ทีวีกับชุมชนมีปฏิพันธ์กัน ต้องเซ็ทหรือทำให้โครงสร้างทั้งสองฝั่งมันมีความเสมอ คืออย่างน้อยตัวของสถานีน่าจะมีการให้บริการชุมชนตามบริบทชุมชน ส่วนตัวของชุมชนทำอย่างไรให้มันมีส่วนร่วมแล้วทั้งสองมาร่วมกันเป็นลักษณะที่กำหนดเนื้อหาให้มันมีกลไกบรรณาธิการร่วม ยกระดับคนที่เป็นคนดู ยกระดับคนที่เป็นผลิตสื่อ ยกขึ้นมาเป็นสื่อของชุมชน ทำคนดูมาเป็นกรรมการให้ได้”

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ระยะเวลา 2 ปี แนวคิดสำคัญ คือ 1.เราจะพยายามหาโครงสร้างที่เหมาะสม กับทุกคน 2.จะมีพื้นที่ หรือมีเนื้อหา มีตัวการอยู่ร่วมกันอย่างไร และ 3.จะทำอย่างไรให้ถูกตรวจสอบได้  โดยตนเห็นว่าน่าจะเป็นทีวีที่ให้บริการของทุกคนได้  มีงานกระบวนการการมีส่วนร่วมงานวิจัย งานสตูดิโองานสำนักงาน

“หลังจากสิ้นสุดโครงการปี 2561 พะเยาทีวีจะขอประกาศขอใบอนุญาตเป็นรายแรก ในช่วงเวลา 2 ปี เราก็จะเริ่มตั้งกรรมการ ซึ่งก็มีอยู่แล้วมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วม ประชุมเครือข่าย การเตรียมบุคลากร เตรียมสตูดิโอ เตรียมเรื่องกองบรรณธิการ หรือการฝึกทักษะบางส่วนที่เรายังขาดอยู่ และที่สำคัญเราต้องออกอากาศนำเสนอผลงาน ส่วนหนึ่งก็คงตามสัญญาที่ให้ไว้สัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง”

เรื่องการระดมทุน นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ได้สำรวจประชากรพะเยา 5 แสนคน ถ้าทั้งปีเราใช้เงินของกทปส. ล้านกว่าบาท เราจะเก็บเงินคนพะเยาปีละ 10 บาท ก็เดือนละ 1 บาทต่อประชากร 1 คน ดังนั้นสิ่งที่ไม่น่าห่วง แต่สิ่งทีต้องการคือใบอนุญาตฯที่สะท้อนถึงสิทธิของเรา อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงคือยังไม่มีช่องออกอากาศภาคพื้นดิน

“ถ้าวันนี้เรามีช่องออกอากาศคนทั้งพะเยาผมไม่กลัวว่าผมจะหาตังค์ไม่ได้ ตอนนี้การทำงานต่างๆ คนที่จะสนับสนุนเราส่วนใหญ่ก็อยู่ด้านนอกแสดงว่าชุมชนยังไม่เข้าถึง”

เครดิตภาพ : Suraphong Phanwong

ด้านนายประสาร สถานสถิตย์ มูลนิธิรักษ์ไทย ผู้ดำเนินการ “โครงการทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง” กล่าวว่า การทำทีวีชุมชนอันดามัน เราไม่ได้ทำบนพื้นฐานองค์กรมูลนิธิรักษ์ไทย แต่ทำงานบนพื้นฐานของเครือข่ายที่มาร่วมกันและก่อรูปขึ้นเป็นทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง

“เคยมีการพูดถึงว่าจะทำทีวีอย่างไร ทีวีเป็นเรื่องยากและก็คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำทีวีก็จะมีความพร้อมในเชิงของเทคนิค วิธีการอะไรหลายๆ อย่าง รวมถึงเครื่องมือ ทีนี้เมื่อมองกลับไปในชุมชน  เราเห็นชุมชนพยายามจะผลิตสื่อของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดิโอหรือข่าวสารต่างๆที่ถูกนำเสนอออกมาทุกวัน  เช่นที่ลันตา เขาถ่ายคลิปวิดิโอว่าวันนี้มันมีคลื่นลมเข้ามาจากชายฝั่งว่าพี่น้องประมงอย่าออกไปทำประมง เขาสื่อสารผ่านเฟสบุคของเขา ถ้าเกิดชุมชนหลายๆเครือข่ายทำแบบนี้ คนในชุมชนก็ได้ดูด้วย นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการเฝ้าระวังการเตือนภัยซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเครือข่ายทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง เลยก่อรูปมาจากตรงนี้ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เครือข่ายที่มันมีอยู่สามารถที่จะใช้ข้อมูลใช้เรื่องของการสื่อสารที่มันมีรูปแบบมีช่องทางการนำเสนอที่ชัดเจนออกมาก็เลยทำมาในลักษณะของทีวีชุมชนอันดามันมั่นคงขึ้นมา จะเห็นว่าเรามีสามจังหวัดที่เข้ามาร่วมกันทำงาน กระบี่ พังงา ภูเก็ต”

นายประสานกล่าวว่า เรามองว่าในความหมายของชุมชนจะเป็นแบบไหน ทีวีชุมชนควรจะเป็นรูปแบบไหน ช่วงนี้เราก่อตั้งมาได้สักประมาณ 6-7 เดือน ทดลองทำในเรื่องของทีวี ช่องทางที่ใช้คือเฟสบุ๊ค การผลิตสื่อใช้สมาร์ทโฟน  ทีวีชุมชนอันดามันมั่งคงเราไม่ได้มีเครื่องมืออะไรมากมาย เราพยายามใช้สมาร์ทโฟนซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่พี่น้องในชุมชนใช้อยู่แล้ว และจะทำอย่างไรให้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือหลักที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนซึ่งผมคิดว่ามันง่ายที่สุด และแพลตฟอร์มที่เป็นทีวีชุมชนอันดามัน ก็จะสร้างให้เกิดบรรณาธิการ ที่จะช่วยร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆของชุมชนแล้วนำเสนอผ่านช่องทางรวมกันคือคือทีวีอันดามันมั่นคง

“เป้าหมายหลักๆ ทีวีอันดามัน เราพยายามที่จะเสนอมิติที่หลากหลายของอันดามันอยู่แล้ว มิติสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม การเมืองต่างๆ เหล่านี้  ที่เป็นมิติที่เป็นความแตกต่างจากที่อื่น และที่สำคัญเราพยายามจะไม่ทิ้งเรื่องของภัยพิบัติ และมองการปรับตัวกับเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ชุมชนชายฝั่งอันดามั่นค่อยข้างได้รับผลกระทบ และนี่เป็นสิ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนอันดามัน นอกเหนือจากชายฝั่งอันดามัน ถ้ามันถูกส่งผ่านเรื่องราวต่างๆในรูปแบบของเครือข่ายทีวีชุมชน มันก็จะเพิ่มมูลค่าของเนื้อหาสาระจากพื้นที่ และเราก็ต้องยืนยันอย่างหนึ่งว่าทีวีชุมชน ว่าทำอย่างไรให้มันแตกต่างจากทีวีช่องหลัก เนื้อหาสาระต่างๆผมคิดว่าพยายามทำเรื่องของงานวิจัย ที่มันค่อยข้างชัด ชุมชนเขาอยากที่จะมีเนื้อหาอย่างไร ชุมชนเขาอยากจะมีรูปแบบของรายการอย่างไร ร้อยเปอร์เซ็นของทีวีชุมชนอันดามัน จะต้องเกิดขึ้นจากการผลิตของชุมชนจริงๆ คาดว่าภายใน 2 ปี ที่ชาวบ้านเป็นทั้งผู้ผลิตเป็นทั้งนักแสดง พิธีกร เมื่อก่อนชาวบ้านถูกสัมภาษณ์จากสื่อต่างๆ มีการเปลี่ยนบทบาทที่ให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไปสัมภาษณ์ผู้ว่าเราคาดหวังตรงนั้น”

อย่างไรก็ตาม การใช้สมาร์ทโฟนก็พบปัญหาเราก็อาจจะปรับรูปแบบไปใช้อย่างอื่นๆบ้างที่ทำให้เนื้อหาสาระ และรูปแบบการทำรายการมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้นนี่เป็นเป้าหมายหลักของเรา

ส่วนการดำเนินงาน เรามีการจัดตั้งสถานีทีวีชุมชนสามสถานี คือม.ราชภัฏภูเก็ต มูลนิธิรักษ์ไทย คาร์มินฟาร์ทพังงา ถือเป็นโหนดหลักแต่เรากำลังสร้างโหนดเล็กๆ ที่เรามีอยู่ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่มีอยู่มากมาย ทำอย่างไรให้คนต่างๆ เขามาเรียนรู้ ในเรื่องการใช้เครื่องมือโดยเฉพาะสมาร์ทโฟนในการสื่อสารออกไป เพราะฉะนั้นเราจะจะมีการฝึกอบรมบุคคากรทีมงานกันเอง เราพยายามใช้ทีมงานของเราในการฝึกอบรม ทำอย่างไรที่จะให้การฝึกอบรมอยู่ใกล้ชาวบ้าน  และเราทำเรื่องการผลิตและการนำเสนอรายการ ที่จะมีมหาวิทยาลัยและนักศึกษาหลายๆ ส่วนเข้ามามีบทบาทในการช่วยกันประคับประคองชุมชนไปในอนาคต

“เราจะเรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้ มีการทำวิจัยว่าสุดท้ายแล้วถ้าเกิดว่าจะทีวีชุมชนมันจะต้องมีกระบวนการอย่างไร ตอนนี้เราเริ่มบันทึกจากแนวคิดเล็กๆ คนเล็กคนน้อยที่อยู่ในสังคม และพยายามเข้าไปสื่อสารกับชุมชนก่อนว่าไเรื่องง่ายๆ ที่เราทำจะยกระดับให้เป็นเรื่องที่เราทำอย่างไร สุดท้ายเรื่องของความยั่งยืนเรายังมองไม่ถึงตรงนั้น เพราะที่ผ่านมาเราไม่มีเงินทำงานเราออกเงินทำงานกันเอง และก็ตั้งเป็นกองทุนเล็กๆ จากจุดเริ่มต้นและเรื่องของการระดมทุนจากภาคประชาสังคมอื่นๆ

ไทยพีบีเอสหนุนทักษะและการรวมกลุ่ม

นายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า ตามกฏหมายไทยพีบีเอสทำทีวีชุมชนไม่ได้ แต่การเกิดขึ้นของทีวีชุมชนเป็นจินตนาการ  เราทำงานแล้วเห็นว่า ทีวีชุมชนก็คล้ายไทยพีบีเอสที่เป็นสื่อสาธารณะน้อย ทำงานในระดับพื้นที่ ขณะที่ไทยพีบีเอสมีนโยบายการมีส่วนร่วม สร้างภาคีร่วมกัน จึงเห็นว่าทีวีชุมชนในอนาคตน่าจะเป็นหน่วยที่ทำงานร่วมกัน เติบโตขึ้นมา สิ่งที่เราเข้าไปช่วยคือหาเพื่อนในระดับพื้นที่ให้ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งเราพบว่ามีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดทีวีชุมชนคือ เครือข่ายสื่อพลเมือง ที่เติบโตจากการเป็นนักข่าวพลเมือง หรือผู้ผลิตรายย่อย ส่วนที่สองคือสถาบันการศึกษา เป็นองค์กรสาธารณะสำคัญมากๆ ช่วงแรกที่การทำสื่อทีวีเป็นเรื่องเฉพาะ  มหาวิทยาลัยมีบุคลากร มีองค์ความรู้ เข้าใจวิชาชีพและมีเป้าหมายรับใช้ชุมชน และเจ้าของทีวีคือตัวเครือข่ายทางสังคม ต้องรู้สึกว่า เขาเป็นเจ้าของมาร่วมกันรับผิดชอบ  ไทยพีบีเอสเป็นเพียงสนามให้มาพบปะกัน  พัฒนาทักษะ  ซึ่งหากคิว่าทีวีชุมชนไม่ใช่ทีวี เป็นสถาบันทางสังคม ดังนั้นการมาพบปะและพัฒนาร่วมกันไม่เช่นนั้นจะมาแค่ผลิตรายการอย่างเดียว อันนี้เป็นจุดสำคัญ

สถาบันการศึกษาบทบาทสำคัญของพื้นที่

อาจารย์อังคณา พรมรักษา คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่าเป็นความท้าทายของวงวิชาการนิเทศศาสตร์ เพราะเราจะพบว่าในเชิงวิชาการเรามาช้าตลอด อันนี้เราจะเห็นว่าชุมชนเคลื่อน พื้นที่เคลื่อน แต่วิชาการก็จะตาม ในห้องนี้มีนักวิชาการหลายท่านที่คลุกคลีเรื่องทีวีชุมชน หรืออย่างหลายท่านอาจจะมาพร้อมกับคำถามว่าจะเกิดขึ้นได้จริงไหม บางท่านมาพร้อมความเชื่อหลังจากทำงานกับชุมชนมานานก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมาด้วยคำถามหรือจุดประสงค์อะไรเรามองว่าบทบาทของนักวิชาการนิเทศศาสตร์ เหมือนเรากำลังช่วยกันหาคำตอบและหาว่าในเรื่องของทีวีชุมชนบทบาทที่จะวางในประเทศไทยจะทำอย่างไร

“จากที่ได้ร่วมงานไม่ว่าจากไทยพีบีเอส หรือทางกสทช.มาโดยตลอด เราจะพบบทบาทของสถาบันวิชาการในศักยภาพที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นในกลุ่มนิเทศศาสตร์ที่มีอุปกรณ์ มีคน มีศัยกภาพหลายๆส่วนพร้อมที่จะเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องของทีวีชุมชนแต่ว่าจริงๆ แล้วเวลาเรามาที่เป็นชื่อสถาบันวิชาการเราค่อยข้างลำบากใจ ส่วนตัวคือเราเป็นอาจารย์ 1 ท่านและอาจจะพยายามชวนเพื่อนในภาควิชาเข้ามา แต่พอเราปรากฎตัวในที่สาธารณะเราจะบอกว่านี่คือสถาบันวิชาการ เพราะฉะนั้นจริงๆ บทบาทเราก็เหมือนกับเป็นตัวแทนของสถาบันวิชาการซึ่งพอเรากลับเข้าไป เราก็ต้องเอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สื่อสารในองค์กรเราเองเพื่อให้เข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร”

 

เครดิตภาพ : Suraphong Phanwong

อาจารย์อังคณา กล่าวว่า บทบาทของสถาบันวิชาการสำหรับทีวีชุมชน คือเราอาจจะไม่ได้ลุกขึ้นมาผลิตเองทุกอย่าง แต่ว่าเรามีบทบาทในเรื่องของการเชื่อมร้อยเครือข่ายและการให้ข้อมูล การพยายามสื่อสารข้อมูลในพื้นที่ในชุมชนอย่างเรื่องของการบอกสิทธิ ว่าทีวีชุมชนสามารถที่จะทำอะไรได้ ทีวีชุมชนมีสิทธิอย่างไรบ้างเรื่องของการสื่อสารตรงนี้ และรวมไปถึงข้อมูลส่วนอื่นๆที่ถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยนิเทศศาสตร์แต่ความรู้ในสถาบันการศึกษามีหลากหลาย เพราะหน้าที่ของความเป็นนิเทศศาสตร์เองการเชื่อมร้อยองค์ความรู้เหล่านี้ในการที่จะเอามาใช้ในเกิดประโยชน์ นอกจากนั้นเรื่องศักยภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิคอุปกรณ์และเรื่องของตัวคนอาจารย์ นิสิต นักศึกษาที่เข้ามามีบทบาทที่เป็นทั้งอาสาสมัครแต่เขาสามารถใช้พื้นที่เหล่านี้ในการที่จะฝึกประสบการณ์ในกับตัวเอง สิ่งที่สำคัญ

“เด็กรุ่นหลังเขาจะมีทักษะในเรื่องของวิชาชีพในเรื่องเทคนิคอุปกรณ์ค่อยข้างเยอะแต่ในเรื่องของกระบวนคิดและวิธีคิดที่ตัวอาจารย์เองก็ต้องเปลี่ยนบทบาทเพราะgoogle เป็นเหมือนโค้ช เราน่าจะมาทำโค้ดชิ่งอีกที ซึ่งตรงนี้ถือว่าสำคัญอันนี้ก็เป็นอีกอันที่มีความท้าทายและเราคิดว่าตัวนิสิตนักศึกษาเองพร้อมที่จะเรียนรู้ไปตรงส่วนนี้”

อาจารย์อังคณา กล่าวว่า ทีวีชุมชนจุดเริ่มต้นก็จะไม่คล้ายกับวิทยุชุมชนเพราะว่าวิทยุชุมชนเราเริ่มจากความไม่รู้ ทีวีชุมชนเหมือนมีพี่เลี้ยงค่อยหลอมมาส่วนหนึ่งถอดบทเรียรมาจากวิทยุชุมชนแห่งประเทศไทยด้วย แต่ที่เราพบคือวิทยุชุมชนก็ยังอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นบทเรียนของวิทยุชุมชนบทเรียนที่ยังเป้นโจทย์ใหญ่คือเรื่องของการบริหารจัดการการระดมทุน ซึ่งเราคิดว่าตรงนี้องค์ความรู้ที่สถาบันการศึกษาสามารถที่จะระดมร่วมกันคือมันอาจจะไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัวมันน่าจะมีหลากหลายรูปแบบซึ่งน่าจะใช้หลากหลายองค์ความรู้เข้ามาเคลื่อนคิดว่าตรงจุดนี้เป็นจุดที่ท้าทายที่สถาบันการศึกษาในแต่ละสามารถที่จะเป็นส่วนกลางในการร่วมความมือร่วมมือตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นโดยบทบาทคือศักยภาพในการหนุนเสริมในการเป็นเทรนนิ่งเซ็นเตอร์

และสถาบันการศึกษามีหน้าที่ในการช่วยเหลือร่วมการประเมินหยิบเอาจุดดีและจุดที่ควรต้องให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการทำงานเพราะว่าถือว่าเราไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำเอง แต่ว่าเราสามารถที่จะไปมีส่วนร่วมในเรื่องของการประเมินในเรื่องของการศึกษาตรงจุดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าตัวสถาบันการศึกษาในแต่ละพื้นที่มีศักยภาพที่จะทำได้ คิดว่าตรงนี้จุดนี้จะทำให้เกิดเรื่องของกระบวนการทำงานได้นำเอาตัวทีวีชุมชนมาสร้างให้เกิดขึ้นจริงๆในประเทศไทยว่ามันจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลอะไร

“การเป็นสถาบันทางสังคมของทีวีชุมชนเราคิดว่าตัวนี้สำคัญ เมื่อเป็นสถาบันทางสังคมในเรื่องที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ในกับคนในชุมชนให้กับเยาวชนตัวเด็กที่อยุ่ในพื้นที่สำคัญเพราะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดเราไม่ได้สอบหรือสร้างนิสิตนักศึกษาเพื่อที่จะทำงานรับใช้กรุงเทพ แต่เรากำลังสร้างนิสิตนักศึกษาที่จะทำงานรับใช้ชุมชนและสังคมของเขาและทีวีชุมชนน่าจะเป็นสถาบันส่วนหนึ่งที่ช่วยกันหลวม และคิดว่าเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ในพื้นที่ของเขาคิดว่าเป็นส่วนสำคัญ  เช่นมีบทเรียนจากต่างๆประเทศอินโดนีเซีย ที่สามารถทำให้เป็นทีวีมหาวิทยาลัย น่าจะมาหนุนเสริม มองว่าแล้วแต่ความพร้อมของสถาบันการศึกษาในแต่ละพื้นที่”

อาจารย์อังคณา กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวที่ตอนนี้ได้ทำมาช่วงระยะเวลาหนึ่งเราพบว่าคำว่าสื่อชุมชนเป็นหัวใจที่สำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้งตัวคนในชุมชนเอง และคนที่เป้นนิสิตนักศึกษาในห้องเรียนของเรา ตลอดระยะเวลาการทำงานเราคิดว่ามันเกิดขึ้นและมองว่าทีวีชุมชนน่าจะเป็นตัวสถาบันหนึ่งที่จะทำให้เกิดขึ้น

ข้อสังเกตุผู้เชี่ยวชาญ

นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน ผู้มีส่วนทำงานวิจัยร่วมกับโครงการนี้ พูดถึงความเป็นไปได้ในการเกิดทีวีชุมชนประเทศไทยว่า 1.พื้นที่ออกอากาศ (platform)  จะใช้อะไร ขณะนี้มี platform ระดับชาติอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ระดับท้องถิ่น  ขณะที่กลุ่มคนที่มาทำลองทำก็พยายามหาช่องทางอื่นๆออกอยู่เช่นอินเตอร์เน็ต เคเบิล  แต่ว่าช่องทางออกอากาศภาคพื้นดินจะทำอย่างไร  ซึ่งโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ที่จะทำเป็นทีวีภูมิภาคได้  ที่เหลือของไทยพีบีเอส ช่อง 5 อสมท.  รวมทั้งเรื่องเงินที่จะใช้ในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางกสทช. ก็ต้องหาวิธีจัดการ เพราะบางอย่างเป็นเรื่องการตัดสินใจทางนโยบายด้วยไม่ใช่เฉพาะเรื่องการทำงานไปตามกระบวนการที่มีอยู่

2.ทุนดำเนินการ เพราะการหารายได้เป็นเรื่องลำบากไม่เฉพาะในประเทศไทยในหลายประเทศก็ประสบปัญหาเรื่องนี้ ข้อเสนอที่ผลการศึกษาระบุไว้ว่าใครที่เสนอของบประมาณสนับสนุนจำนวนน้อย ควรได้ก่อน เห็นว่าเป็นไอเดียที่ดี เพราะการของบประมาณสนับสนุนน้อยแสดงว่ามีการวางแผนและการบริหารจัดการที่ดี  ส่วนคนที่มาของบสนับสนุนมาก สะท้อนการไม่มีการวางแผนที่ดี ขณะที่ในส่วนของกสทช. ตนเห็นว่าจะต้องมีแผนงานเหมือนกันว่าจะสนับสนุนอย่างไร กี่ปี การที่จะให้ไปตลอดเรื่อยๆคงเป็นไปไม่ได้ อาจจะเป็นแค่กองทุนเริ่มต้น แต่จะให้กระบวนการนี้เติบโตไปอย่างไร

“สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้คุยกันตอนทำงานวิจัยและผมอยากขอเสนอตรงนี้คือ ถ้าหากว่าในชุมชนนั้นมีคนประมาณเท่าไหร่ที่นับว่าเป็นผู้ชมผู้ฟังของทีวีชุมชนนั้นๆ มีคล้ายๆ เป็นสภาผู้ชมผู้ฟังของทีวีชุมชน ที่มีการตั้งกลุ่มที่จะกำกับดูแล และคนเหล่านี้จะต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้ร่วมกันดูแล”

นายสมชัยยังกล่าวถึง การหารายได้ลักษณะอื่นเพื่อให้เป็นทุนในการบริหารกิจการเช่น มีส่วนการบริจาคซึ่งก็ต้องมีการควบคุมไม่ให้ใครบริจาคเกินสัดส่วนที่กำหนดเพราะจะมามีอิทธิพลในการชี้นำ  นอกจากนี้แล้วก็ต้องมีระบบการตลาด การหาเงินเข้าองค์กรด้วยลักษณะสปอนเซอร์ ที่สนับสนุนโดยมีขอบเขต มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นต้น รวมถึงเสนอให้ขายเวลาออกอากาศได้ ลักษณะประกาศให้บริการชุมชน  งานบวช งานแต่ง งานศพ ซึ่งจุดนี้ไม่แน่ใจว่าจะไปขัดกับกฎหมายหรือระเบียบของกสทช.ไหม แต่นี้เป็นการบริการชุมชน ที่คนมาบริหารจัดการหรือทำทีวีชุมชนต้องมีแนวคิดทางด้านการตลาดด้วย

นายสมชัยยังกล่าวด้วยว่า เพื่อที่จะให้การตั้งไข่ทีวีชุมชนอยู่ได้ กสทช.ต้องสนับสนุน โดย 1.ตั้งหน่วยสนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้น เป็นทีมที่มีเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาต ติดตาม หรือการศึกษาด้านโครงข่าย ผู้ชี้แนะด้านแนวปฏิบัติต่างๆ  มาอยู่ในทีมเดียวกัน  2.ต้องมีศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาทักษะอย่างเป็นระบบ ขณะนี้ไทยพีบีเอสให้การสนับสนุนฝึกอย่างเป็นกัลยาณมิตรกัน แต่กสทช.ควรทำ 3. มีห้องสมุดกลางที่มีฐานข้อมูลและเนื้อหาที่จะช่วยลดต้นทุนและสนับสนุนเนื้อหาให้กับเครือข่าย

อาจารย์เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กล่าวโดยสรุปว่า  ระหว่างการนำร่องดำเนินการต้นแบบใน 3 พื้นที่ ผู้ที่สนใจศึกษาและเริ่มต้นควรจะได้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และการเกิดขึ้นของสื่อของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องร่วมกันผลักดัน และเห็นว่าการจะให้เกิดทีวีชุมชน กสทช. ควรสนับสนุนการจ่ายค่าโครงข่ายแก่ภาคประชาชน เพราะแม้จะมีการผลิตที่ดีแต่จะเกิดไม่ได้หากต้องแบกรับค่าโครงข่าย…