ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/59 วันพุธที่ 12 ต.ค. 59 ได้มีการพิจารณาวาระที่ 5.3.1 เรื่อง การพิจารณาโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ โครงการประเภทที่ 2 ประจำปี 2558 (ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ ครั้งที่ 9/2559) ซึ่งที่ประชุมได้นำวาระที่ 5.4.1 เรื่อง การพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ โครงการประเภทที่ 2 ประจำปี 2558 (ครั้งที่ 1) มาร่วมพิจารณาและมีมติในคราวเดียวกัน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้ขอเปิดเผยความเห็นในการพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 รวมทั้งเป็นกรณีที่มีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดิฉันจึงให้เหตุผลประกอบการพิจารณาไว้ ดังนี้
“ดิฉันเห็นว่าในภาพรวมการพิจารณาโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ โครงการประเภทที่ 2 ประจำปี 2558 ของคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะในวาระนี้ ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การดำเนินงานในด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามแผนแม่บทฯ แต่อย่างไรก็ดีดิฉันมีข้อสังเกตและความเห็นเพิ่มเติมในรายโครงการ ดังนี้
- ข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อการเห็นชอบโครงการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ “ใต้หลังคา ฟ้ามีดาว” เพื่อการพัฒนาของเด็กปฐมวัย โดยมหาวิทยาลัยรังสิต จำนวนเงิน 5,246,023 บาท ดิฉันเห็นว่าเป็นกรณี ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2559 (8 กันยายน 2559) เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดสรรทุนอีกครั้งหนึ่งภายใต้วงเงินที่เหลือ ดิฉันเห็นว่ากรณีนี้มีการปรับปรุงหมวดงบประมาณอย่างรวบรัด จากเดิมที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน เป็นจำนวน 27,334,412.60 บาท ให้อยู่ภายใต้วงเงิน 5,246,023 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณ ที่เหลือพอจะจัดสรรให้ได้ จึงอาจทำให้การจัดหมวดหมู่งบประมาณใหม่ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน
อนึ่งรายการโทรทัศน์ตามขอบเขตของงานโครงการส่งเสริมการผลิตและออกอากาศรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่ง กสทช. เห็นชอบให้ได้รับการส่งเสริมและ
สนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ ภายใต้การดำเนินงานรวมสี่โครงการนี้
ถือเป็นทรัพย์สินของผู้ให้ทุนและผู้รับทุน และในบางโครงการระบุค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าเช่าเวลาในการนำรายการ
ไปออกอากาศช่องรายการทีวีดิจิตอล จึงควรกำหนดให้ผู้ได้รับทุนต้องรายงานรายละเอียดในการนำรายการดังกล่าวไปออกอากาศ เพื่อประโยชน์ในการสอบทานกรณีที่ช่องรายการทีวีดิจิตอลดังกล่าวนำมาขอลดหย่อนค่าธรรมเนียม
- กรณีที่ดิฉันมีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดยพิจารณาไม่เห็นชอบโครงการเพิ่มศักยภาพการรับสื่อสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลสำหรับประชาชนในพื้นที่ยากต่อการเข้าถึง ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ให้ความเห็นชอบการส่งเสริมและสนับสนุนเงินกองทุนให้แก่
บริษัท ไอพีเอส.เซลส์แอนด์เซอร์วิส จำกัด เป็นจำนวนเงิน 21,396,492.27 บาท แต่ด้วยเหตุที่โครงการ
มีลักษณะเป็นการจ้างทำของ อีกทั้งหากเฉลี่ยราคาต่อหน่วยในการดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินในพื้นที่เป้าหมายร้อยละ 80 ของครัวเรือน หรือประมาณ 8,090 ครัวเรือนแล้ว พบว่าค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,644 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งดิฉันเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ราคาที่สูงเกินไป”