ในการประชุม กสท. ครั้งที่ ๓๕/๒๕๕๙ วันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้สงวนความเห็นมติ กสท. วาระ ๔.๑๖ พิจารณาแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด กรณีบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด แจ้งเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการแพ็กเกจ Z Pay TV ทางกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม GMM Z ในประเด็นเรื่องการพิจารณาเห็นชอบแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด กรณีที่ผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMM Z ไม่สามารถรับชมช่องรายการ Fox Thai และ Nat Geo Wild เนื่องจากเห็นว่า แผนการเยียวยาฯ ฉบับเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ผู้รับใบอนุญาตเสนอมายังเป็นมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑.นับตั้งแต่ การประชุม กสท. ครั้งที่ ๒๖/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่ประชุมมีมติให้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซทฯ จัดทำแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้เป็นธรรมและครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคภายใน ๗ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง ส่งผลให้ในเวลาต่อมาบริษัท จีเอ็มเอ็มฯ ได้จัดส่งผลแผนเยียวยาฯ ฉบับวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๙ ซึ่งแผนการเยียวยาฯ ฉบับดังกล่าวได้มีการพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ แล้วเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ โดยที่ประชุมมีมติว่า แผนการเยียวยาฯ ฉบับวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๙ ยังไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ต่อมา บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซทฯ ได้ส่งแผนการเยียวยา มายัง กรรมการ กสท. และลสทช. ฉบับวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๙ อันเป็นฉบับล่าสุดซึ่งใช้ประกอบการพิจารณาในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ ๓๕/๒๕๕๙ ทั้งนี้โดยสาระสำคัญในแผนการเยียวยาฯ ฉบับล่าสุดนี้ ดิฉัน เห็นว่า มิได้แตกต่างในสาระสำคัญจากฉบับที่เคยพิจารณาในที่ประชุมอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมากนัก ทั้งนี้อยู่บนกรอบการพิจารณาแนวทางการชดเชยที่ควรยืนอยู่บนหลักการที่ว่า ผู้บริโภคได้รับการชดเชยอย่างเป็นธรรมและได้รับความสะดวกรวดเร็วในขั้นตอนการเยียวยาชดเชยด้วย
๒. ในประเด็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกมาตรการชดเชยเยียวยา ที่ บริษัท จีเอ็มเอ็มแซทฯ ได้เสนอมาในแผนการเยียวยาฉบับล่าสุด โดยแบ่งออกเป็นสองกรณี ได้แก่
๒.๑. กรณีผู้ใช้บริการไม่ประสงค์คืนกล่องรับสัญญาณ GMMZ จะสามารถขอรับสิทธิชดเชยเยียวยาโดยขอรับค่าเสียโอกาสในการรับชมช่องรายการทั้งสองช่องดังกล่าว เป็นมูลค่า ๑๑๘.๘๐ บาท ดิฉันเห็นว่า วิธีการคำนวณที่ใช้การหาค่าเฉลี่ยค่าบริการไม่สะท้อนมูลค่าช่องรายการทั้งสองช่องที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับชม ทั้งนี้การคำนวณมูลค่าแพ็กเกจโกลด์ที่ทางบริษัทฯ คิดค่าบริการปีละ ๑,๔๙๙ บาท หารด้วยจำนวนช่องรายการ ๒๑ ช่อง และหารด้วยจำนวนเดือนที่สามารถรับชมชมช่องได้ ๑๒ เดือน โดยคิดมูลค่าช่องรายการละ ๕.๙๔ บาทและเมื่อมาคำนวณกับจำนวนเดือนที่ผู้ใช้บริการเสียโอกาสในการรับชมซึ่งทางบริษัทคิดว่าเป็นจำนวน ๑๐ เดือน ส่งผลให้ค่าเสียโอกาสในการรับชมช่องรายการอยู่ที่ช่องละ ๕๙.๔๐ บาทนั้น ดิฉันเห็นว่า มูลค่าของแต่ละช่องรายการมีความแตกต่างกัน ทั้งสองช่องรายการนี้มีแนวโน้มที่มีมูลค่าสูงและสร้างแรงดึงดูดใจให้กับลูกค้าจนกระทั่งถูกหยิบนำมาเป็นจุดโฆษณาสินค้าและบริการ ซึ่งย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของการผูกพันตามสัญญา ทั้งนี้การอ้างว่า ผู้บริโภคสามารถรับชมได้ฟรี นั้น แท้ที่จริงแล้วคือสิ่งที่เรียกว่า การจ่ายล่วงหน้า ( Up-Front Payment) ซึ่งผ่านการคำนวณมูลค่ากล่องรับสัญญาณหรือบริการแพ็กเกจที่ผู้บริโภคได้ชำระเงินไปล่วงหน้าแล้ว
๒.๒ กรณีผู้ใช้บริการประสงค์จะคืนกล่องรับสัญญาณ ทางบริษัทฯ ได้คิดค่าชดเชยกล่องรุ่น Smart มูลค่า ๑๐๐ บาท สำหรับรุ่น HD หรือ HD Lite มูลค่า ๑๕๐ บาท โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕- สิงหาคม ๒๕๕๗ เท่านั้น ประเด็นนี้ ดิฉันเห็นว่า ผู้รับใบอนุญาตควรต้องพิจารณาค่าชดเชยบนฐานของค่าเสื่อมราคาตามแต่ละรุ่น ตลอดจนพิจารณาการชดเชยกล่องรุ่นต่างๆ ที่มีความครอบคลุมผู้บริโภคที่ซื้อกล่องโดยได้รับโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่ายังสามารถรับชมสองช่องรายการดังกล่าว แบบ free to box ได้ ซึ่งประเด็นนี้ได้มีผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องระยะเวลาที่ทางบริษัทฯ ได้มีการโฆษณาภายหลังจากช่วงเวลาที่กำหนดดังกล่าวด้วย
๓. ในแง่ของความสะดวกรวดเร็วและขั้นตอนการรับสิทธิ์ชดเชยที่ไม่สร้างภาระซึ่งถือเป็นหัวใจในการเยียวยาแก่ผู้บริโภคนั้น ดังนั้นการกำหนดว่า ผู้ใช้บริการจะต้องแสดงใบเสร็จรับเงิน หรือสลิปบัตรเครดิตหรือหลักฐานการซื้อสินค้าอื่น ๆ ที่เชื่อถือได้ ซึ่งระบุวันที่และร้านค้าที่ซื้อกล่อง มาแสดงแก่บริษัทฯ นั้น ดิฉันเห็นว่า กรณีนี้ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคเสียสิทธิไม่สามารถที่จะขอรับการชดเชยด้วยข้อจำกัดในการจัดเก็บเอกสารหรือการเลือนหายของข้อมูลบนเอกสารนั้น ซึ่งกรณีนี้ ควรเสนอวิธีการอื่นๆ เช่น ใช้วิธีการแจ้งหมายเลขกล่องรับสัญญาณ (Serial number) เพื่อเป็นทางออกให้กับผู้บริโภค สำหรับช่องทางและระยะเวลาในการแสดงสิทธิ์รวมทั้งวิธีการส่งคืนเงินให้กับลูกค้า ที่ทางบริษัทฯ เสนอว่า ให้ผู้บริโภคมาแสดงความจำนงขอรับสิทธิ์ด้วยตนเองภายใน ๓๐ วัน ที่อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ขั้นตอนดังกล่าวเป็นการสร้างภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ผู้บริโภคเกินสมควร ทั้งผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภายใต้ระยะเวลาที่กระชั้นชิดเป็นอย่างยิ่ง
๔. นอกจากนี้ ดิฉันยังเห็นว่า ผู้รับใบอนุญาตควรต้องสร้างช่องทางการสื่อสารรูปแบบต่างๆ และพัฒนาช่องทางการสื่อสารเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลและสามารถสื่อสารเกี่ยวกับสิทธิ์การชดเชยดังกล่าวกับผู้รับใบอนุญาตได้ในทุกกรณี”