จับตา กสทช. ถกงบกองทุน กทปส. หนุนสื่อเยาวชน ทีวีชุมชน คนพิการ
กสท.ผ่านแผน GMMz ชดเชยเงินช่องหายให้สมาชิก สุภิญญาติงแผนไม่เป็นธรรม แต่จี้เอกชนเร่งแจ้งสิทธิ์ผู้บริโภค เคลียร์เรื่องร้องเรียน
วันนี้(11 ต.ค. 59) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 12 ต.ค. 59 มีการประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งที่ 9/2559 มีวาระการประชุมน่าจับตาได้แก่ การพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) ประเภทที่ 2 ประจำปี 2558 (ครั้งที่1) ซึ่งมีโครงการเป็นการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชน ในรูปแบบการจัดตั้งสถานีโดยชุมชนและจัดหาเงินอุดหนุนการผลิตรายการจากชุมชน ทั้งนี้มีการระบุตัวชี้วัดต้นแบบสถานีเพิ่มเติมจากโครงการ ด้วยการให้มีการออกอากาศแบบสดอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และออกอากาศแบบบันทึกเทปและรีรันอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ได้แก่ โครงการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี หน่วยงานมูลนิธิสื่อสร้างสุข 3,494,160 บาท โครงการวิจัยและพัฒนาสถานีโทรทัศน์ชุมชน “พะเยาทีวี” หน่วยงานสมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา 3,389,050 บาท โครงการทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง หน่วยงานมูลนิธิรักษ์ไทย วงเงิน 3,927,000 บาท
รวมทั้งพิจารณาอนุมัติโครงการอื่นๆ อีกได้แก่ โครงการศูนย์การเรียนรู้ ICT จิตอาสาแบ่งปันความรู้สู่โรงเรียนห่างไกลในถิ่นทุรกันดารผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วงเงิน 9,421,500 บาท โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดทำบริการคำบรรยายแทนเสียงในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับเวลาออกอากาศ(Near Real-time Captioning) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย วงเงิน 11,510,204 บาท โครงการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ “ใต้หลังคา ฟ้ามีดาว” เพื่อการพัฒนาของเด็กปฐมวัย มหาวิทยาลัยรังสิต วงเงิน 5,246,023 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการที่ผ่านเกณฑ์ความเหมาะสมทางเทคนิคและการเจรจาต่อรองงบประมาณ 6 ราย วงเงิน 36,987,937 บาท (สามสิบหกล้านเก้าแสนแปดหมื่นเจ็ดพันเก้าร้อยสามสิบเจ็ดบาทถ้วน)
นอกจากนี้ ที่ประชุมเตรียมพิจารณาโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ประเภทที่ 2 ประจำปี 2558 (ครั้งที่1) จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการติดตั้งระบบ ICT และการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi ในเขตพื้นที่สาธารณะของวัด สถาบันอาศรมศิลป์ วงเงิน 9,245,728.05 บาท โครงการสร้างความเข้าใจของคนพิการและบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจการโทรทัศน์ดิจิตอล มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งประเทศไทย วงเงิน 4,437,322.10 บาท โครงการเพิ่มศักยภาพการรับสื่อสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลสำหรับประชาชนในพื้นที่ยากต่อการเข้าถึง บริษัท ไอพีเอส.เซลส์แอนด์เซอร์วิส จำกัด วงเงิน 21,396,492.27 บาท และโครงการส่งเสริมการผลิตและออกอากาศรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว วงเงินรวมไม่เกิน 3,000,000 บาท
“โครงการที่ผ่านบอร์ดกองทุน กทปส.มารอบนี้ มีความน่าสนใจ และ ตอบสนองงานตามยุทธศาสตร์ กสทช.มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เช่นการส่งเสริมรายการเพื่อเด็กเยาวชน สื่อโทรทัศน์ชุมชน การเข้าถึงสื่อของคนพิการ การส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ยังขาดไปคือการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้บริโภคในการเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม คงต้องรอดูว่าผลการพิจารณาโดย กสทช.จะผ่านให้ทุกโครงการหรือไม่ สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเมื่อโครงการผ่านแล้ว สำนักงานคงต้องมีการติดตามตรวจสอบ ประเมินผลของการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพต่อไป” สุภิญญา กล่าว
นอกจากนี้ นางสาวสุภิญญา กล่าวถึงมติบอร์ด กสท. การประชุมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ได้ประชุมวานนี้(10 ต.ค. 59) ถึงพิจารณาแผนเยียวยาลูกค้าของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMM Z กรณี บริษัทิ จีเอ็มเอ็ม บีฯ ยุติบริการช่องรายการ Fox Thai และ Nat Geo Wild ที่ยุติการออกอากาศไปตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 59 นั้น เมื่อวานนี้ กสท. มีมติลงโทษปรับทางปกครอง ต่อบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ที่ไม่ได้เสนอมาตรการเยียวยาที่เป็นธรรมและครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบเพิ่มเติมภายในระยะเวลา 7 วันตามมติ กสท. ครั้งที่ 26/2559 เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 59 ในอัตราวันละ 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. - 9 ก.ย. 59 และบอร์ดเสียงข้างมากเห็นชอบกับแผนเยียวยาที่บริษัทฯส่งมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้ใช้บริการ หรือลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะคืนกล่องรับสัญญาณสามารถรับสิทธิชดเชยเยียวยา จะได้รับค่าเสียโอกาสในการรับชมช่องรายการ Fox Thai และ Nat Geo wild เป็นเงิน 118.80 บาท แต่หากผู้บริโภคต้องการคืนกล่องรับสัญญาณด้วย จะได้รับสิทธิ์ชดเชยเยียวยาค่าเสียโอกาสในการรับชม 2 ช่องดังกล่าว และค่ากล่องรับสัญญาณ GMMz สำหรับรุ่น Smart เป็นเงิน 100 บาท ส่วนรุ่น HD หรือรุ่น HD lite มูลค่า 150 บาท ทั้งนี้กล่องที่ซื้อต้องอยู่ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2555 – สิงหาคม 2557 เท่านั้น และผู้ใช้บริการต้องแสดงใบเสร็จรับเงินหรือสลิปบัตรเครดิต หรือหลักฐานการซื้อสินค้าที่เชื่อถือได้ว่าซื้อในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถยื่นขอใช้สิทธิ์ได้ด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นก็ได้
“ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ส่งแผนเยียวยามาให้อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง แต่มีหลายประเด็นที่ดิฉันและอนุกรรมการฯ เห็นว่าแผนที่ส่งมายังไม่เป็นธรรมและไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่เห็นชอบต่อแผนดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทฯได้ส่งแผนเยียวยามาใหม่อีกครั้ง และนำเรื่องเข้าบอร์ดพิจารณาตามรายละเอียดข้างต้น ซึ่งดิฉันยังคงไม่เห็นชอบกับแผนดังกล่าวเพราะมีเงื่อนไขในการขอรับสิทธิชดเชยเยียวยาที่ซับซ้อน ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยไม่สะดวกที่ใช้สิทธิ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อ กสท. เสียงข้างมากเห็นชอบแผนเยียวยาไปแล้ว ทาง GMMz ก็ควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับรู้สิทธิ์โดยด่วนที่สุด ภายใน 30 วันนับแต่ที่บริษัทประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบ และ เร่งแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนคั่งค้างทั้งหมด ” สุภิญญากล่าว…