เสนอเปลี่ยนที่มา กสทช. สรรหาโดยศาลและองค์กรอิสระ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

เสนอเปลี่ยนที่มา กสทช. สรรหาโดยศาลและองค์กรอิสระ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

ที่มา iLaw

ไฟล์แนบ ขนาดไฟล์
NBTC Law draft.PDF 1.5 MB
ความเห็นแย้งของนายแพทย์ประวิทย์และสุภิญญา.pdf 2.14 MB
ผลงานขององค์กรอิสระอย่าง กสทช. คงไม่ค่อยเข้าตาหลายคน รัฐบาล คสช. เลยเสนอแก้กฎหมาย รื้อระบบใหม่หมด ให้ศาลและองค์กรอิสระสรรหา กสทช. จากข้าราชการระดับสูง ทหารยศพันโท หรือผู้บริหารเอกชนยักษ์ใหญ่ ตัดช่องทางเสนอชื่อโดยภาคประชาสังคม และตีกรอบให้ทำงานภายใต้แผนนโยบายดิจิทัล
กสทช. มีชื่อเต็มๆ ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2554 มีหน้าที่จัดสรรและบริหารการใช้งานคลื่นความถี่ สำหรับทั้งกิจการวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ทุกประเภทที่สื่อสารกันผ่านคลื่นความถี่ กสทช. จึงเป็นองค์กรที่มีบทบาทมากในยุคสมัยของเทคโนโลยีและการสื่อสาร
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง กสทช. นั้นเกิดขึ้นในช่วงการปฏิรูปสื่อ โดยมีความคาดหวังว่า กสทช. จะเป็นองค์กรอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองและการเงิน เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะให้ถูกนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ตกไปอยู่ในมือของนายทุนรายใหญ่ กลุ่มการเมือง หรือหน่วยงานของรัฐมากจนเกินไป ช่วยให้สื่อไม่ถูกผูกขาดในมือผู้มีอำนาจ
กฎหมายหลายฉบับ ก็มีความคาดหวังกับกสทช. มาก โดยให้อำนาจกสทช. เป็นผู้รับผิดชอบหลายอย่าง ทั้งเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 3G 4G การจัดสรรท่องทีวีดิจิทัล การจัดสรรคลื่นให้วิทยุชุมชน รวมถึงการควบคุมเนื้อหาต้องห้ามในสื่อวิทยุโทรทัศน์ด้วย ที่ผ่านมาเราก็จะเคยได้ยินผลงาน กสทช. ที่ขู่จะแบนซีรีย์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น”  สั่งแบนการ์ตูนเรื่อง “หมัดดาวเหนือ” เพราะขัดต่อศีลธรรม และยังมีการลงโทษสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาทางการเมืองอีกหลายครั้ง รวมถึง กรณีกรรมการกสทช. ดำเนินคดีกับสื่อและนักวิชาการที่วิจารณ์การทำงาน 
หลังจากผ่านมา 5 ปี เป้าหมายในการทำงานของ กสทช.ก็ยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในตอนแรก
คณะกรรมการ กสทช. 11 คน ปัจจุบันมีโควต้าแบ่งตามความเชี่่ยวชาญประเด็นต่างๆ ชัดเจน
คณะกรรมการ กสทช. มีอยู่ 11 คน มีที่มาตามพ.ร.บ. กสทช. ฉบับปี 2553 ซึ่งกำหนดโควต้าาที่นั่งของกรรมการทั้ง 11 คนไว้ชัดเจน ว่าจะต้องมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านใดบ้าง เพื่อรับประกันความหลากหลายของกรรมการ กสทช. ดังนี้ ตาม พ.ร.บ. กสทช. 2553 ได้กำหนดที่มาของคณะกรรมการ กสทช. ไว้อย่างชัดเจน โดยคณะกรรมการประกอบด้วย 11 คน ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง 1 คน
2) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการโทรทัศน์ 1 คน
3) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านกิจการโทรคมนาคม 2 คน
4) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านกฎหมาย 2 คน
5) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ 2 คน
6) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 1 คน
7) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม 1 คน
8) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา วัฒนธรรมหรือการพัฒนาสังคม 1 คน
คณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย กรรมการทั้งหมด 10 คน ดังนี้
1. พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ผู้เชี่ยวชายด้านกิจการกระจายเสียง
2. พันเอก นที ศุกลรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการโทรคมนาคม
3. พันเอก รองศาสตราจารย์ ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการโทรคมนาคม
4. พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย (อายุเกิน 70 ปี จึงขาดคุณสมบัติ)
5. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการโทรทัศน์
6. รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์
8. สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค
9.นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค
10. พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา
11. สุทธิพล ทวีชัยการ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย (ลาออกไปเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน)
คณะกรรมการชุดนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า หลายคนไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสื่อจริง และหลายคนเป็นอดีตทหารและตำรวจ ทำให้ภารกิจที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ให้อยู่ในมือประชาชนยังไปไม่ถึงไหน และผลงาน กสทช. ที่ผ่านมากลับเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงให้ประชาชนจดจำในด้านลบเสียมาก เช่น การใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาทในการไปดูงานต่างประเทศการบริจาคเงิน 88 ล้านให้อุทยานราชภักดิ์การเปิดประมูลคลื่น 3G โดยกำหนดกติกาเอื้อสามบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยมีกรรมการ 2 จาก 10 คน คือ นายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ สุภิญญา กลางณรงค์ ที่คุ้นเคยทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาสังคมกลายเป็นเสียงข้างน้อยในการลงมติเรื่องต่างๆ
ซึ่งนายแพทย์ประวิทย์ เป็นกรรมการที่ได้ที่นั่งตามโควต้าเนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ส่วนสุภิญญา เป็นกรรมการที่ได้ที่นั่งตามโควต้าเนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จากประสบการณ์เคยเป็นประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ
กว่าจะได้เป็นกรรมการ กสทช. ต้องสรรหาจากภาคประชาชนและให้ส.ว.ตัดสินใจ
ตามพ.ร.บ. กสทช. ปัจจุบัน วิธีการกว่าจะได้มาซึ่งกรรมการ กสทช. ค่อนข้างซับซ้อน โดยมีที่มาจากสองแนวทาง คือ วิธีการคัดเลือกกันเองขององค์กรภาคประชาสังคม และวิธีการสรรหาโดยคณะกรรมการ
วิธีการคัดเลือกกันเอง เริ่มจากให้สมาคมวิชาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม, มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านการสื่อสาร การโทรคมนาคม นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และ เอ็นจีโอด้านผู้บริโภค สิทธิเสรีภาพ การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ ที่ทำงานมาไม่น้อยกว่า 5 ปี มีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นกรรมการ กสทช. ในด้านที่เกี่ยวข้องกับงานของตัวเอง เสนอได้องค์กรละ 2 คน และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดประชุมเพื่อให้ผู้ถูกเสนอชื่อทั้งหมดคัดเลือกกันเอง ให้เหลือสองเท่าของจำนวนกรรมการที่จะต้องเลือก
วิธีการสรรหา เริ่มจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเปิดรับสมัครให้ผู้ที่มีคุณสมบัติมาเสนอตัวเอง และให้มีคณะกรรมการสรรหา ทำหน้าที่คัดเลือกให้เหลือสองเท่าของจำนวนกรรมการที่จะต้องเลือก คณะกรรมการสรรหาชุดนี้มี  15 คน ประกอบไปด้วย
(1) ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(2) ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(3) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
(4) ปลัดกระทรวงกลาโหม
(5) ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(6) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
(7) นายกสภาวิศวกร
(8) ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
(9) นายกสมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
(10) นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
(11) ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
(12) ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
(13) ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
(14) ประธานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
(15) ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
ซึ่งพอจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการสรรหาตามข้อ (1) – (6) มาจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายประเด็น ส่วน (7) – (15) เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับวิทยุโทรทัศน์ และการสื่อสารโทรคมนาคม
และเมื่อได้รายชื่อจากทั้งการคัดเลือกกันเอง และการสรรหา แล้ว ก็วุฒิสภาเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย คัดเลือกรายชื่อทั้งหมดให้เหลือ 11 คน คือ ผู้ที่จะเป็นกรรมการ กสทช. จริงๆ
คสช. เสนอการสรรหาแบบใหม่ เตรียมกินรวบ ปิดช่องทางประชาชนมีส่วนร่วม
แม้กระบวนการได้มาของกรรมการ กสทช. ตามกฎหมายปี 2553 จะค่อนข้างซับซ้อน เปิดช่องให้คนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการสื่อสารจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่กรรมการชุดแรกก็ยังถูกข้อครหาทั้งในด้านความรู้ความสามารถและผลงาน ข้อเสนอเรื่องการแก้ไขที่มาของกรรมการ กสทช. จึงยังเป็นข้อถกเถียงที่มีอยู่เรื่อยมา
26 เมษายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในหนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ให้สนช. พิจารณาออกเป็นกฎหมาย หนึ่งในประเด็นที่โดดเด่นของการเสนอแก้ไขครั้งนี้ คือ การเสนอระบบการคัดเลือกกรรมการ กสทช. ขึ้นใหม่ ดังนี้
1. ลดจำนวนกรรมการ กสทช. จาก 11 คน เหลือ 7 คน
2. เปลี่ยนอายุของกรรมการ จากเดิมที่ต้องมีอายุระหว่าง 35 – 70 ปี เป็น 45-65 ปี
3. ยกเลิกวิธีการคัดเลือกกันเองของภาคประชาสังคม เหลือเพียงวิธีการสรรหา
4. เพิ่มคุณสมบัติของกรรมการ ต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตำแหน่งหัวหน้ากรมขึ้นไป หรือ มีตำแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หรือ มียศพลโทขึ้นไป หรือเป็นผู้บริหารบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านบาท หรือมีประสบการณ์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคไม่น้อยกว่าสิบปี
5. เปลี่ยนคณะกรรมการสรรหาให้เหลือ 7 คน ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานป.ป.ช. ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
6. ยกเลิกระบบโควต้าที่นั่งตามความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่กำหนดรวมๆ เพียงว่า ให้แต่งตั้งกรรมการจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และคุ้มครองผู้บริโภค อย่างละกี่คนก็ได้
ระบบการคัดเลือกกรรมการ กสทช. ที่รัฐบาล คสช. เสนอขึ้นใหม่ ยังคงเริ่มจากการเปิดให้คนที่มีคุณสมบัติสมัครเข้ามาเอง โดยคนตัดสินสุดท้ายเป็นวุฒิสภาเช่นเดิม แต่มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการสรรหาทั้ง 7 คนตามระบบใหม่ เป็นตัวแทนจากศาลและองค์กรอิสระ ซึ่งองค์กรอิสระตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็มาจากสรรหาโดยคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนของศาล และเห็นชอบโดยวุฒิสภา วนกลับไปมาอยู่ในวงจรเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน จะหมดวาระลงในเดือนตุลาคม 2560 จึงเป็นไปได้ว่า ผู้มีอำนาจคัดเลือกกรรมการ กสทช. ชุดต่อไป อาจเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง คสช. แต่งตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา หรือไม่ก็เป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดต่อไป ซึ่งจะมาจากการคัดเลือกของ คสช. ทั้งหมดอีกเช่นกัน ดังนั้น คสช. จึงจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการได้มาซึ่งกรรมการ กสทช. ตามระบบใหม่ที่เสนอขึ้นนี้
ส่วนช่องทางที่ภาคประชาสังคม ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวิทยุโทรทัศน์และการสื่อสารโทรคมนาคม จะมีส่วนร่วมในการเลือกกรรมการ กสทช. ได้ถูกตัดออกหมดแล้ว
ประวิทย์-สุภิญญา ค้าน ให้ศาลเป็นกรรมการสรรหาทั้งที่ไม่เข้าใจงานกสทช. 
22 สิงหาคม 2559 นายแพทย์ประวิทย์ และสุภิญญา สองกรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อย ส่งจดหมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คัดค้านข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ โดยระบุว่า การกำหนดโควต้าที่นั่งตามความรู้ความเชี่ยวชาญยังจำเป็น เพื่อให้มีหลักประกันว่าจะได้กรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญครบทุกด้าน
จดหมายของสองกรรมการ กสทช. ระบุด้วยว่า คณะกรรมการสรรหา 7 คน ที่ประกอบไปด้วยศาลและองค์กรอิสระไม่ใช่ผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือมีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมสื่อ จึงไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่าจะคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมได้ การให้องค์กรอิสระเป็นผู้คัดเลือกจะขัดแย้งกับบทบาทหลักที่องค์กรอิสระต้องตรวจสอบการทำงานของกสทช. อยู่แล้ว และการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการ กสทช. เพิ่มเติมให้ต้องเป็นข้าราชการระดับสูง ไม่สะท้อนความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฎิบัติหน้าที่ของ กสทช.
มีข้อสังเกตว่า เนื่องจากทั้งนายแพทย์ประวิทย์ และสุภิญญา ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช. ตามโควต้าความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงเป็นไปได้ว่า การยกเลิกระบบบังคับให้มีตัวแทนความรู้ความเชี่ยวชาญต่างๆ ตามโควต้าที่นั่ง อาจทำให้คนที่ใกล้ชิดกับภาคประชาชนอย่าง นายแพทย์ประวิทย์และสุภิญญา มีโอกาสน้อยลงที่จะได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็นกรรมการ กสทช. และการกำหนดอายุของกรรมการอย่างน้อย 45 ปี จะทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกรรมการ กสทช. ไม่ได้อีก ซึ่ง สุภิญญา เป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการตอนอายุ 38 ปี
แก้อีกหลายประเด็น ทั้งจำกัดอำนาจใต้นโยบายดิจิทัล เลิกระบบตรวจสอบจากภายนอก 
นอกจากการเสนอระบบคัดเลือกกรรมการ กสทช. ชุดใหม่แล้ว ร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ ยังเสนอแก้ประเด็นสำคัญๆ อีกหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น
1. ยกเลิกความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. 
ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในกรณีที่มีปัญหาว่าการทำงานของ กสทช. สอดคล้องกับแผนระดับชาติดังกล่าวหรือไม่ ให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้วินิจฉัย เท่ากับว่า กสทช. จะไม่ใช่องค์กรที่ดำเนินงานโดยอิสระอีกต่อไป การบริหารจัดสรรคลื่นความถี่ยังคงต้องทำตามแผนระดับชาติดังกล่าว ซึ่งยังไม่เห็นว่าจะเขียนออกมาโดยมุ่งจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไร
2. การประมูลคลื่นความถี่ ด้วยหลักเกณฑ์อื่นที่ไม่ใช่จำนวนเงินเพียงอย่างเดียว
ตามกฎหมายปัจจุบัน การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการทางธุรกิจ กสทช. ต้องคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตโดยการประมูล ผู้ที่เสนอจ่ายเงินให้รัฐเป็นจำนวนมากที่สุดจะได้รับอนุญาตให้ใช้ช่องความถี่ต่างๆ แต่ร่างแก้ไขพ.ร.บ. กสทช. กำหนดเรื่องนี้ใหม่ว่า การคัดเลือกให้ทำโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ แต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ ซึ่งอาจเปิดช่องให้กรรมการ กสทช. ในอนาคต มีดุลพินิจเลือกผู้ได้รับอนุญาตที่ตนเองถูกใจได้
3. ยกเลิกระบบตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ
ตามกฎหมายปัจจุบันมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการทำงานของ กสทช. หรือที่เรียกว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ คอยทำติดตามตรวจสอบการทำงานและทำรายงานประเมินผลอยู่ ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. เสนอให้ยกเลิกคณะกรรมการชุดนี้ แล้วให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัล, สำนักงบประมาณ, สำนักงานปปช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ยกเลิกการรายงานกรรมการเป็นรายบุคคล และยกเลิกการเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ
ฯลฯ
มีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ ประเด็นสำคัญที่ กสทช. ถูกวิจารณ์จากสังคมมาโดยตลอด คือ การใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยและทำงานล่าช้า แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ที่ คสช. เสนอขึ้นมานี้ กลับไม่ได้สร้างกลไกลเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาเดิม และพัฒนาองค์กร กสทช. ให้ไปในทิศทางการปฏิรูปสื่อตามความคาดหวังตั้งต้น โดยทำงานได้รวดเร็วขึ้นและตรวจสอบได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้ามกับมีแต่ข้อเสนอที่ทำให้ กสทช. มีอิสระน้อยลงและตรวจสอบได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดสรรคลื่นความถี่ออกไปแทบจะทั้งหมด