A summary from a field trip this weekend in Surat Thani on digital tv roadshow & more.
17 กันยายน 2559
สรุปภาพรวมทริปลงพื้นที่ ดิจิตอลทีวีสัญจร ที่ จ.สุราษฎร์ธานี โครงการดิจิตอลทีวีสัญจรเป็นหนึ่งในกิจกรรมสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจการเปลี่ยนผ่านจากระบบแอนะล็อกมาสู่ดิจิตอลตามนโยบาย กสทช. สำนักงานเดินสายรณรงค์ทำกิจกรรมเวทีพบผู้นำชุมชนในหลายจังหวัดใหญ่ๆทุกภูมิภาคตามนโยบายบอร์ด ดิฉันไม่ได้เข้าร่วมทุกครั้ง มาเฉพาะที่ว่างจากงานประชุม กิจกรรมหลักๆคือสนับสนุน ad ประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านทีวีแอนะล็อกสู่ดิจิตอลในสื่อต่างๆ เช่น สปอตทีวี นสพ.และอื่นๆ เสริมด้วยกิจกรรมดิจิตอลทีวีสัญจรในจังหวัดต่างๆ ผ่านกลไกระดับจังหวัด เทศบาล โดยเชิญกลุ่มผู้นำชุมชนเข้าร่วมเพื่อช่วยกระจายข่าวสารความเข้าใจ
ขอบคุณเครื่องมือสื่อสารอย่าง Line ที่ทำให้การนัดหมายกลุ่มผู้นำชุมชนง่ายขึ้นและขอให้ทางเครือข่ายสตรีช่วยทำความเข้าใจดิจิตอลทีวีผ่าน fb ด้วย บางท่านอาจจะเคยเห็น สปอตดิจิตอลทีวีกระจายทางช่องต่างๆ เป็นนโยบาย กสทช. ให้สนับสนุนสปอต PR ลงทุกช่องของฟรีทีวี เดือนหน้าจะปล่อย MV ลงทีวีเพิ่ม ส่วนใหญ่พื้นที่ใดที่ดิฉันลงไปด้วย ก็จะไปพบกับทางท่านผู้ว่าราชการ เพื่อขอความร่วมมือให้ส่วนราชการช่วยทำความเข้าใจเรื่องดิจิตอลทีวีและอื่นๆ รอบนี้มาสุราษฎร์ธานี ก็มีโอกาสได้พบทั้งท่านผู้ว่าฯที่จะเกษียณและท่านรองผู้ว่าฯที่เป็นว่าที่ผู้ว่าเพื่อแลกเปลี่ยนงานของ กสทช.ที่กระทบ ปชช. นอกจากเรื่องดิจิตอลทีวีแล้ว ยังมีเรื่องคลื่นวิทยุรบกวนที่ภาพรวมดีขึ้น โฆษณาผิด อย. และรวมไปถึงเรื่องสัญญาณ 2G 3G 4G และอื่นๆ
ได้ถือโอกาสฝากฝังตัวแทน สำนักงานเขต กสทช.เขต13 ที่จะขยายสำนักงานมาอยู่ที่จ.สุราษฎร์ธานีเพิ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกส่วนราชการและผู้รับใบอนุญาตด้วย ปัจจุบัน กสทช.มี 4 สำนักงานภูมิภาค 15เขต ในอนาคตจะขยาย สำนักงานเขต โดยเฉพาะที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่มจาก ระนอง นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต ชุมพร กสทช. ส่วนกลางมีแนวทางจะกระจายอำนาจบางส่วนมาที่ สำนักงานภาคและ สำนักงานเขตเพิ่มขึ้น เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน เช่นตอนนี้วิทยุคมนาคม ขออนุญาตที่เขต ต่อไปจะขยายงานต่อใบอนุญาตวิทยุคมนาคมให้กับเรือประมง มาไว้ที่ สำนักงานเขต ให้เจ้าของเรือมาขอที่จังหวัดใกล้เคียงได้เลย ไม่ต้องมาที่ซอยสายลม หนึ่งในสาเหตุที่เรือประมงไทย ไม่ผ่านมาตรฐาน คือวิทยุคมนาคมที่ใช้สื่อสารในเรือไม่ได้ผ่านการขอใบอนุญาตจาก กสทช. ตอนนี้เรือจอดสนิท ห้ามออกทะเล แต่ใบอนุญาตกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ยังเป็นอำนาจบอร์ด กสท./ กสทช. ไม่สามารถกระจายไปให้ทาง สำนักงานเขตได้ แต่ สำนักงานเขตและภาคจะช่วยอำนวยความสะดวก ตามกฎหมาย เครื่องมือสื่อสาร หรือวิทยุคมนาคมทุกประเภท ตั้งแต่ใช้ในเรือ บนบก จากมือถือถึงดาวเทียม ต้องขออนุญาตจาก กสทช.(บอร์ด หรือ สำนักงาน)
ถ้าเป็นมาตรฐานทางเทคนิค (ที่ผ่านประกาศ กสทช.แล้ว) การอนุญาตรายวันเป็นของระดับ สำนักงาน จนท.ตาม กม.พิจารณาได้เลย เช่นมือถือ กล่อง อุปกรณ์ต่างๆ เช่นกรณีการอนุญาตมือถือรุ่นต่างๆ เป็นอำนาจของ สำนักงานทำได้เลย ไม่ต้องผ่านบอร์ด แต่การประมูลใช้คลื่นมือถือต้องผ่านบอร์ด กทค./กสทช. เป็นต้น เช่นเดียวกับอนุญาตการนำเข้ากล่อง settop boxes ทีวีรุ่นต่างๆ รวมถึงเครื่องส่งวิทยุ และ MUX ดิจิตอลทีวี ก็เป็นอำนาจ สำนักงานทำได้เลย ตามประกาศฯ
ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านผู้ว่าฯหลายประเด็น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจในสุราษฎร์ธานีที่แม้ภาพรวมฝืด แต่ที่นี่ยังพอไปได้ เพราะทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจในสุราษฎร์ธานี แม้ราคายางจะตก แต่ยังมีปาล์มและสวนผลไม้ อีกทั้งอาหารทะเล อุตสาหกรรมแปรรูปและแหล่งท่องเที่ยวที่ยังดึงดูดคนทั่วโลก นอกจากเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า เขาสกแล้ว อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองก็เป็นธรรมชาติล้ำค่า ที่ชีวิตหนึ่งควรไป (ตนเองอายจัง ยังไม่เคยไปเลย) ช่วงนี้เป็นเทศกาล Full moon ที่เกาะพงันพอดี ท่านผู้ว่าฯแจ้งว่า คนมามาก มีปัญหาสัญญาณมือถือติดขัด ฝาก กสทช. และ operators ช่วยเสริมจุดบอด ท่านผู้ว่าฯ เล่าว่า Super poll บอกว่า คนสุราษฎร์อันดับหนึ่งคนมีความสุขสุด แต่ภูเก็ตกลับรั้งท้าย เป็นข้อมูลน่าสนใจ
ที่จำความได้สมัยเด็กๆที่อยู่บ้านที่สุราษฎร์ เราก็มีชีวิตมีความสุขดี บ้านไม่รวย แต่ก็ไม่ลำบาก ชีวิตเรื่อยๆดี แต่เราก็เลือกจากบ้านมาบางกอก กว่า 30 ปีแล้วกระมัง ได้คุยกับท่านผู้ว่าฯเรื่องเหตุการณ์ระเบิดล่าสุดด้วยแต่อันนี้คงเล่าไม่ได้ เพราะมีข้อมูลละเอียดอ่อน แต่วันนี้ไปรณรงค์ดิจิตอลทีวีแถวใกล้จวนผู้ว่าฯ ริมแม่น้ำตาปี ที่เป็นจุดเกิดเหตุระเบิดล่าสุด
ขออย่าได้เกิดขึ้นอีกเลย สมัยเรายังเด็กมาก มีเหตุระเบิดศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีครั้งใหญ่ พ่อก็ทำงานในนั้นด้วย แต่โชคดีไม่เป็นไร ตอนนี้ที่เดิมเป็นศาลหลักเมืองแทน หลังเปิดงานที่โรงเรียนเทศบาล5วันนี้ก็มีโอกาสไปลงพื้นที่ฟัง feedback การเข้าถึงดิจิตอลทีวีจากชาวบ้านร้านตลาด ได้ข้อมูลดีๆ เป็นประโยชน์ต่องาน พบว่าคนส่วนใหญ่เข้าถึงดิจิตอลทีวีได้แล้วผ่านช่องทางต่างๆ วัดจากการดูช่องใหม่ๆจำชื่อช่องได้ แต่มีราว 5-10% ยังดูแบบแอนะล็อก 6 ช่อง คือเป้าหมายเรา ผู้ชมส่วนใหญ่ที่อายุ 50 อัพ ชื่นชอบการดูรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ซึ่งมีทุกช่อง ดูได้จุใจ เลยค้นพบว่า กสทช.คืนความสุขให้คนสูงวัยนี่เอง จริงที่ว่าวัยรุ่นดูทีวีน้อยลง แต่ผู้สูงวัยเหมือนจะดูมากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้มีรายการที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยในทีวีมากขึ้น สังเกตจากแม่กับพ่อเอง พ่อกับแม่ดูรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งแทบทุกช่อง ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาชอบมาก วันนี้เลยนั่งดูด้วย พบว่ามันมีเสน่ห์ของมัน ถูกจริตผู้สูงวัย ใน ตจว.
มีรายการหนึ่งช่องหนึ่งเปิดรับสมัครคนประกวดร้องเพลงอายุถึง 100 ปี แม่จะให้พ่อไปสมัคร เราเลยบอกว่า รอให้ลูกหมดวาระ กสทช.ก่อน LoL เนื่องจากสังคมไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงวัยหรือ aging society ดังนั้นการที่ช่องฟรีทีวีแข่งขันทำเนื้อหาตอบโจทย์ผู้สูงวัย ทีวีจึงยังไม่ตายแน่ๆ ความย้อนแย้งคือ กสทช.ตั้งใจให้มีทีวีช่องเด็กและบังคับทุกช่องมีรายการเด็ก แต่เหมือนยังไม่ลงตัว แต่กลายเป็นว่าเราได้ทีวีเพื่อผู้สูงวัยมากขึ้น ในมิติทางสังคม การมีสื่อโทรทัศน์ที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะคนสูงอายุมักน้อยใจว่าถูกสังคมลืม ฝากภาควิชาการศึกษามุมนี้ ยกตัวอย่างการรับชมทีวีของพ่อแม่ ขอเอ่ยชื่อช่องให้เห็นภาพ แต่ช่องที่ไม่เอ่ย ไม่ต้องน้อยใจนะคะ ทุกช่องมีคนดู ยืนยันได้ ไว้มาเล่าเพิ่มเติมค่ะ พ่อดูข่าวช่องเนชั่นกับไทยรัฐ ดูละครกับแม่ช่อง7สลับ3ต่อด้วยข่าว3มิติ แต่ดูวาไรตี้เพลงช่อง Workpoint/ช่อง8/ช่องONE/ช่อง9 ดึกๆดูหนังช่อง Mono เวลานี้ก็ยังนั่งดูทีวีกับพ่อ เขากดดูสลับไปเรื่อยๆพบรายการที่ชอบดูได้แบบต่อเนื่อง บ้านเราไม่ค่อยเน้นกีฬา เขาเลยข้ามช่องกีฬา เน้นข่าว+วาไรตี้
ทีวีทุกช่องมีคนดูและมีทุกเวลา ทาง TV Direct เคยเล่าให้ฟังว่า คนดูตอบรับรายการแนะนำสินค้าที่ออนแอร์ตอนตี 4 ช่อง 7 เรตติ้งดีสุด ช่องใหม่ก็โอเค ไม่น่าเชื่อว่า รายการแนะนำสินค้าที่ออนแอร์ช่วงดึกมากถึงค่อนรุ่ง ก็ยังมีคนดูมาก และ โทรซื้อของด้วย เช่นตี4 (กลุ่มนี้ยังไม่ไปสั่งซื้อออนไลน์) ทาง สำนักงาน กสทช.กำลังศึกษาแนวทางการกำกับช่องและรายการแนะนำสินค้าอยู่ ให้เกิดการแข่งขันเป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค ไว้มีอะไรคืบหน้าค่อยมาอัพเดทค่ะ รวมทั้งเก็บตกประเด็นอื่นๆอีกมากมายด้วย…