กสท.จ่อถก พักเวคอัพนิวส์ 7 วันอีกรอบ – จับตา วอยซ์ทีวี ยอมพักหรือสู้
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 29/2559 วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ สำนักงานตรวจสอบพบการออกอากาศ ช่อง Voice Tv รายการ Wake Up News เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 59 เวลาประมาณ 8.46 น. กรณีการสัมภาษณ์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ วิเคราะห์เหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้ และวันอังคารที่ 16 ส.ค. 59 เวลาประมาณ 7.41 น. นำเสนอกรณี “ไผ่ ดาวดิน อดอาหารวันที่ 9 อาการทรุดหนัก” และ กรณี “มีชัยชี้ สว. เลือกนายกฯได้ 5 ปี แต่เสนอได้ชื่อเดียว” ซึ่งสำนักงานพบว่าเป็นเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายคัดต่อประกาศคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/59 ฉบับที่ 97/57 ฉบับที่ 103/57 รวมทั้งขัดต่อมาตรา 37 แห่ง พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และอาจขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงที่บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ทำร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ทั้งนี้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการได้เชิญผู้แทนจากช่องวอยซ์ทีวี และ ผู้แทนคณะทำงานติดตามสื่อ ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย เข้าร่วมการประชุมและให้ความเห็นต่อกรณีการออกอากาศดังกล่าว คณะอนุกรรมการได้มีข้อเสนอให้ กสท. เตรียมพิจารณา มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศ Wake Up News เป็นเวลา 7 วัน โดยใช้อำนาจตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสท. เสียงข้างมากได้มีมติเห็นชอบการพักงานของผู้ดำเนินรายการสองคนของช่องวอยซ์ทีวีเป็นระยะเวลา 10 วันแล้ว ล่าสุดการพิจารณาวาระเข้าสู่บอร์ด กสท.ครั้งนี้เสนอให้พักรายการเวคอัพนิวส์ 7 วันอีกรอบ โดยอ้างอำนาจของประกาศ กสทช.ว่าด้วย “หลักเกณฑ์ใบอนุญาตฯ” ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่การกำหนดบทลงโทษของ กสทช. ที่แตกต่างจากกรณีก่อนหน้า อาจทำให้วงการสื่อตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการกำกับดูแลที่ไม่คงเส้นคงวา ต้องรอถกกันว่าวาระนี้บอร์ด กสท.ที่เหลือ 4 คนจะลงมติอย่างไร ที่น่าสนใจกว่าคือท่าทีของช่องวอยซ์ทีวี ต้องดูว่าวันจันทร์นี้เขาจะมายื่นหนังสือขอลงโทษตนเองแทนบทลงโทษทางกฎหมายอีกหรือไม่ และสุดท้ายถ้า กสท.มีมติให้ลงโทษพักรายการ 7 วัน ทางวอยซ์ทีวีจะไปฟ้องศาลปกครองตามสิทธิ์หรือไม่
“ส่วนตัวจะให้ความยุติธรรมกับช่องนี้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะการนำเสนอข่าวอดอาหารของ ไผ่ ดาวดิน ไม่ควรถูกทำให้เป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมายไปได้ เช่นเดียวกับบทสัมภาษณ์นักวิชาการเรื่องเหตุการณ์ระเบิดภาคใต้ก็เป็นเพียงมุมมองทางวิชาการของผู้เชี่ยวชาญ ตามหลักวารสารศาสตร์ที่สามารถทำได้ แต่ถ้าต่อมามีความเห็นแย้ง หรือข้อเท็จจริงของภาครัฐ ทางออกคือควรให้ทางช่องเสนอมุมมองนั้นเพิ่มเติมด้วย ดิฉันจึงเห็นว่า ถ้าภาครัฐไม่เห็นด้วยกับความเห็นที่ถูกนำเสนอในช่องวอยซ์ทีวี แล้ว ให้ กสทช.ใช้อำนาจสั่ง ก็ควรบอกให้เขาเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองจากฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ของเนื้อหาสาระในรายการมากกว่าการไปสั่งระงับรายการนั้นเลย เพราะตามหลักสากลแล้ว ทางออกเรื่องสื่อที่ดูไม่เป็นกลาง ไม่ใช่การปิดกั้นเขา แต่ควรทำให้เขาเป็นกลางมากขึ้น ย่อมดีกว่าการใช้อำนาจปิดกั้นสื่อที่สังคมมองว่าเป็นเสียงของฝ่ายค้าน ในยุคที่รัฐถืออำนาจสูงสุด เพราะปัจจุบันสังคมไทยไม่มีฝ่ายค้านในสภาทำหน้าที่แทน ถ้ารัฐไม่พอใจสื่อใดก็ควรใช้สิทธิ์โต้แย้งข้อมูลและความเห็นนั้น สังคมก็จะได้ใช้วิจารณญาณตัดสินเองว่าความเห็นใดถูกหรือผิด ส่วนข่าวที่ละเอียดอ่อนกระทบความมั่นคงอย่างข่าวการระเบิด ถ้าจะไม่ให้มีการวิเคราะห์เลยก็ต้องให้ทุกช่องงดทั้งหมด ซึ่งเป็นไปได้ยาก ถ้าจะแก้ปัญหาความสับสนควรทำแนวปฏิบัติให้ทุกช่องทุกสื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ” สุภิญญา กล่าว
วาระอื่นน่าจับตาได้แก่ สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. … วาระทบทวนงบประมาณรายจ่าย (กลางปี) สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ประจำปี 2559 วาระการปรับเปลี่ยนที่ตั้งและคุณลักษณะทางเทคนิคของสถานีเสริมในกลุ่ม A2 และ A3 ของกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลและกำหนดการขยายโครงข่าย วาระเพื่อทราบสถานะการดำเนินการตรวจสอบผลกระทบจากการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกระบบสำรองเป็นการชั่วคราวในการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และวาระอื่นๆ ติดตามได้ในการประชุมวันจันทร์นี้