ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 5/2559 วันที่ 21 มิถุนายน 2559 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้เปิดเผยความเห็น เรื่อง รายงานการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช.ประจำปี 2558 ของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ดังนี้
“ดิฉันเห็นว่าข้อสังเกตและข้อเสนอแนะหลายประการในรายงานการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช.ประจำปี 2558 ของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นประโยชน์ต่อการนำไปปรับปรุงการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ดังต่อไปนี้
- การจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงาน กสทช. รายงานนี้นำเสนอว่าสำนักงานฯ มีวิธีการจัดหาโครงการดำเนินการต่าง ๆ แบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ 1. ประเภทวิธีซื้อและวิธีจ้าง 2.วิธีจ้างที่ปรึกษา และมีข้อสังเกต
ในเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและวงเงิน ทั้งนี้จากการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภายหลังการออกระเบียบ กสทช.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2558 (ระหว่างเดือนกันยายน –ธันวาคม 2558) พบว่า วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างสูงกว่าวิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม การที่ระเบียบ กสทช. พ.ศ.2558 ไม่ระบุวิธีและวงเงินที่ชัดเจน รวมทั้งการให้ กสทช.มีอำนาจยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กสทช.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2558 (ข้อ 5) นั้น อาจไม่เหมาะสมตามหลักธรรมาภิบาล จึงมีข้อเสนอแนะให้ กสทช.ปรับปรุงแก้ไขระเบียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและวงเงิน ตลอดรวมถึงเสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ให้เป็นปัจจุบันและครบถ้วนด้วย - การประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของ กสทช. เนื่องจากรายงานฉบับนี้ได้จัดทำแบบสอบถามเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 4 ภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1600 ตัวอย่าง เพื่อวัดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลและการรับชม ผลการสำรวจพบปัญหาที่เกิดขึ้นทางด้านเทคนิคที่ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกล่องรับสัญญาณ รวมทั้งการรับ-ส่งสัญญาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ สาเหตุจากความไม่พร้อมในการขยายโครงข่าย และการให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคของเจ้าหน้าที่ กสทช. นอกจากนี้ยังเห็นว่า สำนักงานฯ ขาดการวางแผนประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบตามขั้นตอนของทั้งกระบวนการดำเนินงาน และมีข้อเสนอแนะว่า ควรประชาสัมพันธ์ในลักษณะสื่อสารสองทาง เพื่อให้ตรงกับปัญหาอุปสรรคและความต้องการของประชาชนที่แท้จริง โดยในระยะสั้น ควรให้ความสำคัญกับประเด็นของผลกระทบที่มีต่อประชาชน อันเนื่องมาจากการยุติการส่งสัญญาณระบบแอนะล็อก
- 3.การประเมินการคุ้มครองผู้บริโภคจากการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ ภารกิจดังกล่าวพบว่า มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เนื่องจากกระบวนการรับข้อร้องเรียนจำแนกตามประเภทของกิจการ ได้แก่ กิจการกระจายเสียงฯดำเนินการโดย บส., กิจการโทรคมนาคม ดำเนินการโดย รท. และสำนักบริหารข้อมูลกลาง (บภ.) หรือ Call Center 1200 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจัดตามประเภทของภารกิจหน้าที่ แต่ยังขาดการบูรณาการระหว่างกันในส่วนข้อมูลการสอบถามและการร้องเรียนที่เน้นผู้บริโภคเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าเนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้การสื่อสารผ่านช่องทางที่หลอมรวมกัน ส่งผลต่อการเอาเปรียบในบริการแบบหลอมรวม ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าความผิดดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทของกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลหรือไม่
- การติดตามผลการดำเนินการด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามแผนแม่บท ข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำแผนดำเนินการนำไปสู่การปฏิบัติโดยจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ประเภทบริการชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดทำโครงนำร่องเกี่ยวกับการทดสอบการออกอากาศเพื่อให้บริการทีวีชุมชน ควรจัดทำแผนดำเนินการเกี่ยวกับวิทยุชุมชน และทีวีชุมชนระยะสั้นและระยะยาวในช่วง 3 – 5 ปี พร้อมทั้งกำหนดแหล่งที่มาของเงินทุนและวงเงินสนับสนุนในการดำเนินการให้ชัดเจน ตลอดจนแผนการเตรียมความพร้อมของทีวีชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม และเสนอว่า สำนักงาน กสทช. ควรเพิ่มจุดให้บริการหรือกระจายอำนาจการยื่นใบอนุญาตสู่ภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงในต่างจังหวัด
- การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. กรณี การบริหารสถานีวิทยุ 1 ปณ.และการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงของสำนักงาน กสทช. รายงานฉบับนี้มีข้อสังเกตกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนในฐานะที่ กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแล แต่กลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการ ซึ่งทำให้ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีของหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้ง กสทช. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการประกวดราคาหรือเปิดประมูลดังกล่าวกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างรวมทั้งข้อมูลสัญญาที่ทำไว้กับภาคเอกชนที่รับช่วงการจัดรายการ ซึ่งต้องให้สาธารณชนได้รับทราบตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการและภายใต้มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า กสทช.ควรดำเนินการเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อทำการคืนคลื่นความถี่ให้ กสทช.ดำเนินการจัดสรรใหม่ ซึ่งในระหว่างรอความพร้อมของการจัดสรรคลื่นใหม่ สำนักงานฯ ควรปรับการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ.ให้อยู่ในรูปแบบการให้บริการสาธารณะหรือบริการชุมชน”