ตัวอย่างเรื่องราวสุดโต่งที่พานพบ

25 พ.ค. 2559

วันนี้ไปร่วมงานเสวนาของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่องวิกฤตสื่อ ทางออกประเทศไทย ได้พูดความในใจออกไปลึกๆ รู้สึกว่าตนเองเริ่มตกผลึก(ปลง)กับงานที่ทำอยู่ รู้สึกว่าใกล้ถึงจุดอิ่มตัวจนต้องคิดหาประเด็นอื่นๆทำในอนาคตถ้าหมดภาระจากงานที่ กสทช.แล้ว ก่อนมาเป็น กสทช. ก็ว่าผ่านงานที่ดราม่ามากพอสมควรจนแข็งแกร่งแล้ว แต่กว่า 5 ปีที่มาทำงาน กสทช. ยิ่งได้เจอเรื่องราวสุดโต่งหลายอย่างในมิติ *เสรีภาพ* และ *ความรับผิดชอบ* จนบางครั้งที่เคยคิดว่าเข้าใจเรื่องงานปฏิรูปสื่อ และ สังคมการเมืองไทยมากพอควร แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับไม่รู้จักมันดีพอเลย (เราอาจไร้เดียงสาไปเอง) เหมือนรู้สึกเป็นคนแปลกหน้าอยู่เป็นระยะ

ตัวอย่างเรื่องราวสุดโต่งที่พานพบ

1. ก่อน 22 พ.ค. 2557 ทีวีดาวเทียมการเมืองไทยถ่ายทอดสดการชุมนุมทางการเมืองตลอด 24 ชั่วโมงยาวนานหลายเดือน เต็มไปด้วยถ้อยคำแห่งความเกลียดชังและยั่วยุ ตอนนั้น กสทช. ก็ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะสถานการณ์มวลชนไปเกินกว่าจะรับมือ โดนทุกฝ่ายรุมกดดัน …. อีกทั้งความเชื่อเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่อยู่ในสมองส่วนลึกๆในเวลานั้น เราก็ต้องปล่อยให้ออนแอร์ไป จนเลยลิมิตสุดๆ จนต้องนั่งทบทวนว่า ถ้าในอนาคตเราจะยอมให้ถ่ายทอดสดแบบนี้อีกได้หรือไม่

2. หลัง 22 พ.ค. 2557 เกิดรัฐประหารโดย คสช. สื่อที่เจื้อยแจ้ว ถ่ายทอดสดการเมืองทั้งหลายถูกปิดลง โดนควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จในชั่วข้ามคืน และ ถูกกำหราบเรื่อยมาจนเงียบกริบ สนิทจริงๆ ทีวีดาวเทียมที่เรตติ้งสูงพีควิจารณ์การเมืองในวันนั้น วันนี้กลับเงียบสงัด เพราะบรรยากาศแห่งอำนาจ ความกลัว หรือจะความยินยอมก็ตามที สมัยนั้นสื่อหลักเคยวิพากษ์ทีวีดาวเทียมการเมืองว่าไม่เป็นสื่อแท้ และ มองว่าการถ่ายทอดสดการชุมนุมยาวนานส่งผลกระทบต่อความเกลียดชังของสังคม วันนี้คลื่นลมการเมืองดูสงบลงกลายเป็นคลื่นใต้น้ำ เสรีภาพการสื่อสารถดถอยลงอย่างมีนัยยะสำคัญมาก สื่อถูกปิดกั้นเต็มไปหมด แต่สังคมก็รู้สึกว่าสื่อยังมีเสรีภาพมากเกินไป

คงเพราะสื่อกลัวคนมีอำนาจจึงไม่กล้าละเมิด แต่อาจไม่กลัวสังคมและคนไร้อำนาจมากนัก จึงมีเคสที่สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่แคร์ผลกระทบสังคมบ่อยครั้ง เวลาเราพูดถึงเสรีภาพ คนสองฝั่งจึงมักมองกันไปคนละมุม ฝ่ายหนึ่งบอกไม่มี ฝ่ายหนึ่งบอกมีมากเกินไป เป็นช่วงเวลาที่อึดอัด อึมครึม ตีบตัน

3. ช่วงเริ่มต้นทำงานที่ กสทช.มีเหตุเตือนภัยพิบัติสึนามิที่เกาะภูเก็ต แต่ฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องไม่กล้าตัดรายงานสดเพื่อเตือนภัยพิบัติ ด้วยความกังวลอะไรบางอย่างเกินกว่าเหตุ ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์จากสังคมแรงมาก จน กสทช. ต้องออกประกาศบังคับให้ฟรีทีวีทุกช่องมีหน้าที่ต้องเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุ ตัดสดได้เลยไม่ว่าผังเดิมจะเป็นอะไรก็ตาม …

4. ปีท้ายๆในการทำงานที่ กสทช. เจอเคสการถ่ายทอดสดล่าสุด 19 พ.ค. 59 ที่ทำให้รู้สึกช็อคและสะเทือนใจอีกรอบ อย่างที่เคยกล่าวไปแล้ว ถึงดุลยพินิจของฟรีทีวีช่องใหม่ๆในการถ่ายทอดสดภาพความรุนแรงที่กระทบเด็ก เยาวชน สังคม และ สิทธิของผู้ตกเป็นข่าวอย่างแรง เพราะการถ่ายทอดสดที่ยาวนาน และ เสมือนว่ากองบรรณาธิการไม่ได้ทำการบ้านที่รัดกุมพอ ทำตัวเหมือนคนใช้ social media ที่พร้อมจะหยิบกล้องมาถ่ายสดอะไรไปก่อน โดยการกลั่นกรองไว้คิดทีหลัง โยนภาระให้สังคม

เคสนี้สื่อหลักถูกสังคมตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณและความเป็นมืออาชีพ แรงสุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่ กสท. เห็นพ้องให้ สำนักงาน ส่งจดหมายเตือนกลางอากาศหลังถ่ายทอดสดไปแล้ว 5 ชั่วโมง จากที่ตนเองไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้มาตรา 37 พร่ำเพรื่อ แต่ในเคสนี้ก็ตัดสินใช้อำนาจในการสั่งเบรคกลางอากาศเป็นครั้งแรกด้วย ปวดหัวใจ ร้าวลึกๆ ทว่าช่องที่ถูกร้องเรียนกลับเห็นต่าง ไม่ยอมรับเลยว่าทำอะไรผิดและยังบอกว่าเป็นหน้าที่สื่อที่ต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในความรู้สึก มัน ‘ดาร์ก’ มากจริงๆ ไม่รู้ว่าเพราะเราเริ่ม ‘conservative’ โลกสวย หรือ ดัดจริตมากยิ่งขึ้นหรืออย่างไร จึงรับไม่ได้กับการถ่ายทอดสดครั้งนี้และการอธิบายให้เหตุผลแบบที่ได้ฟังมา รู้สึกช็อก ตามด้วยน้ำตาตกใน จนสับสน แต่จริงๆ คงตกผลึกมากขึ้นว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งเราคงต้องเบรคกับสิ่งที่เราทำงานมานานๆบ้าง (เพราะเราอาจมีอัตตาสะสมว่า ความคิดเรานั้นถูกต้องเสมอก็เป็นได้) แล้วไปหาอย่างอื่นทำบ้าง ชีวิตเมื่อทำงานนานๆก็ต้องหาแรงบันดาลใจใหม่ หาความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำกลับมาให้เราอีกครั้ง แบบมีอุเบกขา ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมามีความเห็นขัดแย้งกับใครเค้าไปทั่ว แม้แต่ล่าสุดกับคนในแวดวงวิชาชีพสื่อที่คิดว่าน่าจะใกล้ชิด เข้าใจกันมากที่สุดแล้ว จนรู้สึกว่า หรือเป็นเราที่มีปัญหาไปเอง โลกมันก็เป็นแบบนี้ รวมไปถึงในโลกการเมือง และ การทำงานภาพรวมที่ผ่านมาด้วย อาทิ เหลืองก็ไม่รัก แดงก็ด่า กลางๆก็เซ็ง  ผู้ประกอบการสื่อก็บ่น เบื่อ กลัว โกรธ เกลียด  ยิ่งทำงานไป เรายิ่งออกทีวีได้น้อยช่องลงเรื่อยๆเพราะมีข้อพิพาทกับเค้าไปทั่ว – -”

ใน กสทช. เราก็ทำตัวทวนกระแสชาวบ้านตลอดเวลา ทำบรรยากาศให้ตึงเครียดเสมอ คนในวงการ นอกวงการ อื่นๆอีกมากมายที่ไม่พึงพอใจงานที่เราทำ ฯลฯ สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ เราก็ไม่รู้ว่างานปฏิรูปสื่อที่ทำกันมาในหลายบทบาท แทบทุกกิจกรรมแล้ว พูดจาก็ซ้ำซาก กว่า 2 ทศวรรษ สุดท้ายมันมีความหมายใดจริงหรือไม่ หรือเราเพียงแค่มอมเมาตัวเองให้มีความเชื่อมั่นบางอย่าง เพื่อให้มีพลังและมีความสุขกับงานที่ทำไปวันๆ เสรีภาพสื่อแบบที่อยากเห็น ในบางด้านมันก็ไม่มีเพราะอำนาจและความกลัวมากดทับบดบัง ส่วนความรับผิดชอบของสื่อที่อยากเห็นมันก็เป็นนามธรรมมาก จนจับต้องแทบไม่ได้เลย หลายคนโทษ กสทช. ว่าทำงานห่วย จนสื่อออกมาเละเทะแบบนี้ เราก็เสียใจแม้อยากบอกว่าก็ทำเต็มที่ของเราแล้ว มีอะไรที่เรายังไม่ได้ลงมือทำอีกและควรจะทำ ก็พยายามคิดอยู่ทุกวัน

ไฟมันก็มอดลงเรื่อยๆ … หลายครั้งอยากหยุดงานไปเฉยๆแล้วไปใช้ชีวิตสงบๆ สบายๆไม่ต้องหลับไปพร้อมความเครียด แล้วตื่นมาพร้อมความกังวลอยู่ตลอดเวลา แต่งานก็คือชีวิตเรา ไม่ได้ทำงานก็คงเหมือนชีวิตขาดวิญญาณ แต่ถ้าทำงานเพราะเป็นหน้าที่แต่ขาดศรัทธา หรือ ความเชื่อมั่น งานนั้นก็มีความสุขน้อยลง ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คิดเสียว่ามีงานดีๆแบบนี้ให้ทำก็ดีกว่าไม่มีอะไรให้ทำ ก็ทำมันไปแต่ละวันให้ดีที่สุดแบบ The show must go on. แล้วลดอุดมคติลง ยอมรับความเป็นจริงมากขึ้น สุขภาพกายใจคงไม่เครียดไปกว่านี้

อยากจะลาพักร้อนสัก 6 เดือนเพื่อชำระสิ่งหมักหมม แต่มันเป็นไปไม่ได้ รอจังหวะของชีวิตให้มากำหนดแล้วกัน เผลอๆ ร่าง พรบ. กสทช. ฉบับใหม่ ผ่าน สนช. เดือนกรกฎาคมนี้ อาจต้องตกงานก่อนกำหนดจริงก็ได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็ไม่เสียใจอะไรแล้ว คงดีใจด้วยซ้ำ เพราะจะได้พักจากงานที่คิด พูด ทำ วนไปเวียนมา จนเบื่อตัวเองแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนก็คงเบื่อเช่นกัน (ถ้าพูดกันตรงๆ)

ขอบคุณที่รับฟังค่ะ ไม่ได้นอยด์ ท้อถอยน้อยใจอะไรแบบนั้น แต่รู้สึกใกล้จะอิ่มตัวแล้ว (เหมือนคนวัย mid – life crisis ที่ทำงานแบบเดิมมายาวนานทั่วไปส่วนหนึ่ง) รอเวลาต้องแขวนหมวกใบนี้ ถ้าไม่ใช่ชะตาชีวิตลิขิต ก็ให้ชะตาประเทศ(การเมือง)นำพาไป ระหว่างนี้ก็ทำแต่ละวันให้ดีที่สุด แต่ถ้ายังทำไม่ดีพอก็ขออภัยทุกท่านที่ให้กำลังใจเสมอมา ควรจะต้องทำอะไรมากกว่านี้ก็ชี้แนะได้เช่นเดิม ขอให้กำลังใจทุกท่านที่ผิดหวัง อับเฉา และ ไฟมอดจากงานปฏิรูปสื่อด้วยเช่นกันค่ะ…