ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 12/2559 วันพุธที่ 20 เมษายน 2559 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้ตั้งข้อสังเกตและขอเปิดเผยความเห็นในการพิจารณาหลายวาระ ดังนี้
วาระ 4.5 การอนุมัติผังรายการ ประจำปี 2559 ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ แบบบอกรับสมาชิก เพิ่มเติม
วาระ 4.9 การโต้แย้งคัดค้านหนังสือสำนักงาน กสทช.และการกำหนดมาตรการทางปกครองกับบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กรณีนำช่องรายการที่ไม่ได้รับอนุญาตมาออกอากาศ
วาระ 4.16 แผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
“ดิฉันขอเปิดเผยความเห็นเพิ่มเติมในการพิจารณาวาระนี้ โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
- กรณีบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ขอเสนอแผนการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก โดยมีรายละเอียดว่าจะยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกและคืนคลื่นความถี่เมื่อสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกองทัพบกกับบริษัทฯ สิ้นสุดลงในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 โดยมีการกำหนดเงื่อนไขว่า หากในพื้นที่ใดไม่มีผู้รับชมโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกแล้วแม้แต่คนเดียว บริษัทยินดียุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกในพื้นที่นั้นๆ เป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ การพิจารณาว่า พื้นที่ใดมีผู้รับชมโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกหรือไม่ จะต้องเกิดจากข้อมูลที่เห็นชอบร่วมกันระหว่างบริษัทและสำนักงาน กสทช. ด้วย ต่อกรณีเงื่อนไขตามที่บริษัทฯ เสนอมานั้น ดิฉันเห็นว่าระยะเวลาในการยุติการรับส่งสัญญาณฯ ควรสอดคล้องกับระยะเวลาในการขยายโครงข่ายครอบคลุมครัวเรือนทั้งประเทศ ซึ่งในประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล พ.ศ.2556 ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายฯ มีสิทธิและหน้าที่ในการขยายโครงข่ายร้อยละ 50 ของจำนวนครัวเรือนภายใน 1 ปี ร้อยละ 80 ของจำนวนครัวเรือนภายใน 2 ปี ร้อยละ 90 ของจำนวนครัวเรือนภายใน 3 ปี และร้อยละ 95 ของจำนวนครัวเรือนภายใน 4 ปี นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต
- ดิฉันเห็นว่า สำนักงานฯ ควรนำเงื่อนไขในการอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของกองทัพบกโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก มาประกอบการพิจารณา ซึ่งที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 36/2556 วันที่ 30 กันยายน 2556 ได้เคยพิจารณาเรื่องดังกล่าวและมีมติให้กองทัพบกจัดทำแผนการดำเนินการยุติบทบาทการเป็นผู้ให้สัญญาหรือสัมปทานในการดำเนินการให้บริการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ภายใน 5 ปี ตามที่แจ้งความประสงค์ไว้กับคณะกรรมการโดยให้เสนอแผนต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบภายใน 2 ปี หลังจากได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ทั้งนี้เอกสารของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เรื่องการขอคืนคลื่นความถี่ในส่วนของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้เคยจัดส่งมายังประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556 เอกสารดังกล่าว ระบุว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก มีความยินดีคืนคลื่นความถี่ในส่วนของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ภายใน 5 ปี นับจากที่สถานีฯ ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลแล้ว
- ดิฉันเห็นว่า ในการพิจารณาความเห็นต่อแผนการยุติการรับส่งสัญญาณฯ ของทั้งสองบริษัท
ควรเชิญผู้รับสัญญาสัมปทานทั้งสองรายและเจ้าของสัญญาสัมปทานมาร่วมประชุมปรึกษาหารือกับ กรรมการ กสท.และสำนักงานฯ เพื่อวางแนวทางในเรื่องการรับส่งสัญญาณในระบบแอนะล็อกฯ อีกทั้งควรจะต้องจัดเตรียมมาตรการสำรองหากผู้รับสัญญาสัมปทานยังคงยืนกรานยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกตามข้อเสนอของบริษัทข้างต้น
ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเป็นไปตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 ดิฉันเห็นว่า กสท. ควรต้องจัดทำแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกให้เกิดความชัดเจนภายในวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน”
วาระ 4.28 บริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด (PSI) กำหนดเมนูแนะนำและตั้งค่าเริ่มต้นช่องสัญญาณของกล่องรับสัญญาณ