สนช.รับหลักการ พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล
รับหลักการ พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งกมธ.วิสามัญ พิจารณาใน 60 วันก่อนเข้า สนช. อีกครั้ง เผยเนื้อหาดึงกลาโหมร่วมนั่งบอร์ดกำหนดแผนแม่บทดิจิทัลประเทศ ดึงเงิน กสทช. 25% ตั้งกองทุน
28 เม.ย. 2559 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสียงข้างมาก 159 ต่อ 4 คะแนน รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาในรายละเอียดจำนวน 23 คน ให้มีเวลาการทำงาน 60 วันก่อนส่งกลับไปมาให้ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบอีกครั้ง
ดาวน์โหลดร่าง พ.ร.บ.ที่ http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext52/52707_0001.PDF
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ การกำหนดให้มีนโยบายระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีเป้าหมายแนวทางอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1.การดำเนินการและพัฒนาให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้สามารถใช้ร่วมกันหรือเชื่อมโยงกันได้หรือวิธีอื่นใดที่เป็นการประหยัดทรัพยากรของชาติและเกิดความสะดวกต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องครอบคลุมโครงข่ายการติดต่อสื่อสารในทุกรูปแบบไม่ว่าจะอยู่ในภาคพื้นดิน พื้นน้ำ ในอากาศหรืออวกาศ
3.การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีระบบการให้บริการหรือแอปพลิเคชันสำหรับประยุกต์ใช้งานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
4.การส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกันเพื่อให้การทำงานระหว่างระหว่างระบบสามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้อย่างมีความมั่นคงปลอดภัย
5.การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลการพัฒนาให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหาผ่านทางสื่อที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศ
6.การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้เกิดความพร้อมและความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
7.การพัฒนาคลังข้อมูลและฐานข้อมูลดิจิทัล การบริหารจัดการความรู้ รวมทั้งการส่งเสริมเพื่อให้มีระบบที่เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้และให้บริการข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย
อีกทั้งกำหนดให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ 2.รองนายกฯที่นายกฯมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ 3.กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย รมว.กลาโหม รมว.คลัง รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.พาณิชย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รมว.ศึกษาธิการ รมว.สาธารณสุข รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน รวมทั้งมาตรการทางภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับหหรือเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ขณะเดียวกัน ให้มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล โดยสำนักงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการให้อุดหนุนหรือให้กู้ยืมเงินแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ได้แก่ (1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (2) เงินอุดหนนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (3) เงินที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยสำนักงาน กสทช.จัดสรรให้อัตรา 25% ของรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่ (4) เงินที่ได้รับการจัดสรรจากรายได้ของสำนักงาน กสทช. คือ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจกา และรายได้หรือผลระโยชน์อันได้มาจากการดําเนินงานตามอํานาจหน้าที่ของ กสทช.
(5)เงินที่ กสทช.โอนให้กองทุน ซึ่งเป็นเงินที่เรียกเก็บจากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม (6) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ (7) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมาย (8) ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินกิจการของสำนักงานหรือกองทุน รวมทั้งผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นของสำนักงานหรือกองทุน และ (9) ดอกผล ผลประโยชน์ หรือรายได้อื่นที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
วรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างของงบประมาณมีการขยายตัวในเรื่องรายจ่ายมากขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ไม่มากนัก เพราะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว ดังนั้น ส่วนตัวคาดหวังว่าหากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้แล้วจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น พร้อมกับมีการลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆรวมทั้งจำนวนของบุคคล เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะเน้นการสร้างระบบเป็นหลัก โดยใช้จำนวนคนไม่มากนัก จึงหวังว่าในอนาคตจะช่วยลดภาระงบประมาณให้กับประเทศได้ประมาณ 5% ต่อปี เพื่อไปเพิ่มงบลงทุนของประเทศจาก 20% เป็นระดับ 25%-30%
ตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนการให้มีกฎหมายฉบับนี้แต่มีความสงสัยว่าหากผ่านสภาไปแล้วจะมีผลบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้งรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีการส่งร่าง พ.ร.บ.เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ
อุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ชี้แจงว่า รัฐบาลมีแผนรองรับภายหลังกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร โดยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีการดำเนินการแบบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อน โดยเอกชนจะเข้ามามีบทบาท ส่วนรัฐจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเช่นเดียวกับการเตรียมเสนอกฎหมายปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรมเพื่อตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
ขอบคุณที่มาเวบประชาไท : http://prachatai.com/journal/2016/04/65507