คนสื่อถามหาพื้นที่ข่าวสิทธิมนุษยชน คนยากไร้ ยันปัจจุบันเหลือน้อยเต็มที
สุภิญญาชี้หากสื่อไร้เสรีภาพ-ความรับผิดชอบ เป็นได้แค่เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจ ขณะที่อดีตผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์จี้สื่อทำหน้าที่บอกสังคมใครถูกเอาเปรียบผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ระบุหากสื่ออ่อนแอ สังคมก็อ่อนแอ
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน(Media awards 2015) ประจำปี 2558 ภายในงานมีปาฐกถาในหัวข้อ “สื่อคือแสงสว่างในความมืด?” โดยนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนางสาวศุภรา จันทร์ชิดฟ้า อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ณ เดอะไฮว์ โคเวิร์กกิ้ง สเปช สุขุมวิท 49 กรุงเทพฯ
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า สื่อมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องเสรีภาพความเป็นสิทธิมนุษยชนโดยที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน แม้ในขณะนี้บทบาทของสื่อมวลชนจะอยู่ในภาวะที่อึมครึม ขณะที่สังคมและภาคประชาชนก็มองเห็นสื่อเป็นโคมไฟ หรือสปอร์ตไลท์ในการช่วยหาทางออกให้กับสังคม แต่สังคมก็ไม่ได้คาดหวังกับสื่อไปทั้งหมดแต่อย่างน้อยขอเพียงเป็นเส้นดายช่วยนำทาง สร้างความหวังให้เกิดขึ้น ในส่วนของกสทช.เองที่มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อนั้นที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนมาโดยตลอดถึงการทำหน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อมวลชน แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดเฉพาะสื่อมวลชนไทยเท่านั้น ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมสื่อมวลชนทั่วโลก
นางสาวสุภิญญา กล่าวด้วยว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญสื่อจะต้องไม่ลืมสร้างแสงสว่างให้กับตัวเอง ซึ่งก็เข้าใจว่าบางสถานการณ์สื่อก็อาจจะถูกจำกัดในเรื่องเสรีภาพ นอกจากนี้อุปสรรคสำคัญในเรื่องของความกลัวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำงานของสื่อเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่อย่างไรก็ตามสื่อจะต้องติดอาวุธในการทำงานภายใต้สถานการณ์ต่างๆเพื่อเสนอความจริง กล้าหาข้อยุติ อย่างละเอียดอ่อน เพื่อจะนำไปสู่จุดที่สมดุล
“หากสื่อจะเป็นแสงสว่างในสังคมเสรีภาพและความรับผิดชอบจะต้องมาพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสื่อไม่มีเสรีภาพแล้วก็ยากที่จะเกิดความรับผิดชอบ ดังนั้นทั้งสองอย่างจะต้องมาพร้อมกัน มิเช่นนั้น สื่อก็จะเป็นเพียงเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจ”
ขณะที่นางสาวศุภรา กล่าวว่า หากสื่อมวลชนเพิกเฉย ต่อความลำบากของคนยากจน คนไร้สิทธิ เมื่อนั้นสังคมก็มีแต่ความมืดมิด หากสื่อเป็นตะเกียง ก็เป็นตะเกียงที่มีแต่ควัน หากเป็นกระจกก็เป็นกระจกที่บิดเบี้ยว บางครั้งสื่อสารด้วยการเขียนความคิดเห็นไปรวมกับข้อเท็จจริง บางทีก็กลายเป็นหมาเฝ้าบ้านที่ไม่ทำหน้าที่ อยู่เพื่อเลียเจ้าของบ้านอย่างเดียว
นอกจากนี้พื้นที่ข่าวเรื่องสิทธิมนุษยชนในแต่ละสื่อก็มีค่อนข้างน้อย หากนำเหตุการณ์ปัจจุบันมาเปรียบเทียบถามว่า ข่าวลูกเทพกับข่าวทุบตีชาวบ้านที่หาดราไวย์แล้วสื่อมีพื้นที่จำกัดสื่อจะเลือกทำข่าวอะไร นอกเหนือจากพื้นที่ในการนำเสนอข่าวด้านสิทธิมนุษยชนจะมีอยู่อย่างจำกัดแล้ว นักข่าวด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรงก็ไม่มี บางครั้งนักข่าวเองก็มีอคติกับเรื่องเหล่านี้โดยที่ไม่เข้าใจคนในพื้นที่
อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่จะทำให้สื่อไม่ใช่แสงสว่างของสังคมอีกประการหนึ่งนั่นคือ นักข่าวไม่สามารถขายประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกับกองบรรณาธิการข่าวได้ เพราะไม่เข้าใจและคิดประเด็นไม่เป็น ดังนั้นการทำงานของสื่อมวลชนในวันนี้จะต้องมีความรับผิดชอบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และต้องมีหน้าที่บอกกับสังคมได้ว่าใครถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการถูกอุ้มหาย หรือกรณีกลุ่มผู้ประท้วง โดยอ้างอิงกฎหมาย
“เมื่อใดก็ตามที่สื่ออ่อนแอ สังคมก็จะอ่อนแอตามไปด้วย และก็จะไม่มีปากมีเสียงให้คนส่วนน้อย ฉะนั้นหากสื่อไม่ทำหน้าที่ในเรื่องสิทธิมนุษยชนเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบก็ยิ่งแผ่วลงไปอีก”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2558 มีผู้ได้รับรางวัลดังนี้
ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “หมอชายแดน แสงสุดท้าคนชายขอบ” จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวและสารคดีเชิงข่าว ประเภทหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น ได้แก่ ข่าวสิทธิชุมชนคนแม่เมาะ การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด จากหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์
ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ ได้แก่ ข่าวรายงานพิเศษเปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด จากเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ได้แก่ ข่าวเรือมนุษย์โรฮิงญา สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
ส่วนข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบเคเบิลท้องถิ่นไม่มีผู้ได้รับรางวัลขอบคุณที่มา : สำนักข่าวอิศรา