สุภิญญา กลางณรงค์:สื่อกับเส้นด้ายในความมืด หากไม่มีเสรีภาพ แล้วจะมีความรับผิดชอบได้อย่างไร

แอมเนสตี้ มอบรางวัลสื่อเพื่อสิทธิ ‘สุภิญญา’ชี้หากสื่อไม่มีเสรีภาพ ก็ยากที่จะมีความรับผิดชอบ

สุภิญญา กล่าวปาฐกถาชี้ สื่อควรเป็นเส้นด้ายในความมืด ย้ำหากสื่อไม่มีเสรีภาพ จะมีความรับผิดชอบได้อย่างไร ด้านแอมเนสตี้ มอบรางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อยกย่องคนทำสื่อ ‘ฐาปณีย์’ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัล จากรายงานข่าว ชาวโรฮิงญา

28 ม.ค. 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัลผลงานสื่อมวลเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2558 เพื่อเป็นการยกย่อง และส่งเสริมให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น โดยในการมอบรางวัลครั้งนี้มีการ แบ่งประเภทการให้รางวัลทั้งหมด 5 ประเภท และมีสื่อมวลชนที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 13 ผลงาน (รายละเอียดอยู่ช่วงท้าย)

ขณะเดียวกันภายในงานได้มีการปาฐกถาในหัวข้อ “สื่อคือแสงสว่างในความมืด” โดยมีสุภิญญา กลางรณงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหนึ่งในองค์ปาฐกด้วย

สุภิญญา กลางณรงค์ : สื่อกับเส้นด้ายในความมืด หากไม่มีเสรีภาพ แล้วจะมีความรับผิดชอบได้อย่างไร

ธีมของวันนี้พูดถึงเรื่อง “แสงสว่างในความมืด” และมีก็มีไฟฉายเป็นสัญลักษณ์ให้เราฝ่าความมืดขึ้นมาถึงชั้นบน แต่ว่าดิฉันได้อ่านบทละครเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นแรงบรรดาลใจ และเทียบเคียงกับหัวข้อในวันนี้ได้ ก็ขออนุญาติอ้างถึงบทละครเรื่องหนึ่งซึ่งคือเรื่อง “เส้นด้ายในความมืด”(A Thread in the Dark) เป็นบทละครเวที ที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์ชาวเนเธอร์แลนด์ชื่อ Hlla Hasse

เขาได้เปรียบเทียบสัญลักษณ์ของการฝ่าฟันกับความมืด เพื่อที่จะออกไปเจอแสงสว่าง เขาไม่ได้ใช้ไฟฉาย แต่เขาเปรียบเทียบในบทละครที่เขียนว่า ในเมือง เมืองหนึ่ง ผู้ปกครองอยากที่จะปกครองคนที่อยู่ในเมืองนั้นให้อยู่ในความกลัว หากไม่ทำอย่างนั้นก็จะปกครองลำบาก จึงสร้างให้ปีศาจที่ชื่อว่า ‘มิโนทอร์’ ขึ้นมา โดยให้อยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง และมีอำนาจมีอิทธิฤทธิ์มาก และ ‘มิโนทอร์’ ถูกผู้มีอำนาจสร้างให้คนเข้าใจว่ามีอำนาจเหนือทุกสิ่ง เหนือครอบครัว การงาน และความคิด  มันเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เป็นทั้งการเริ่มต้นและจุดจบ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่ชาวเมืองครีตต่างกลัวความเงียบ กลัวการอยู่ตามลำพัง และกลัวการคิด การคิดเป็นอันตราย เพราะการคิดนำเป็นสู่การตั้งคำถาม งานรื่นเริงบรรเทิงไม่ทำให้คนคิด ครีตจึงมีงานเฉลิมฉลองตลอดเวลา

‘มิโนทอร์’ ถูกสร้างมาเพื่ออำนาจ อำนาจที่จัดการโลกให้อยู่ใต้อุ้มมือด้วยลมปาก และผู้คนก็ยอมรับสภาพเช่นนั้น และต่างลืมเลือนว่าพวกเขาสามารถที่จะคิดได้ พวกเขายอมแลกความคิดกับความฝันที่ไร้สาระ ความโป้ปดมดเท็จ ความรุ่งเรืองของแผ่นดินจึงอิงแอบอยู่กับความรุนแรงและความหลอกลวง

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของบทละคร เมื่อมีการสร้างปีศาจที่อยู่ในถ้ำนี้ออกมา และทุกๆ ปีจะต้องมีการส่งคนเข้าไปสังเวยปีศาจ มิเช่นนั้นปีศาจจะออกมาอาละวาด ทำให้ชาวเมืองอยู่กันไม่ได้ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งมีคนคิดที่จะทานอำนาจของปีศาจ ที่ถูกสร้างภาพว่าน่ากลัวอยู่ในถ้ำ และเนื่องจากถ้ำมันมืดมิดมาก ใครที่เข้าไปก็อาจจะหายตัวไป แต่อย่างไรก็ตามยังมีผู้กล้าที่จะเข้าไป และสิ่งที่ผู้กล้านำติดไปด้วย คือเส้นด้าย เพื่อที่จะทำให้หลุดรอดจากความมืดในถ้ำปีศาจ ตอนจบเป็นอย่างไรคงไม่เล่าในที่นี้

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบกับบทบาทสื่อในประเทศไทยในวันนี้ ที่อาจจะอยู่ในภาวะที่คลุมเครือ หรือหลายคนอาจจะเปรียบมันเหมือนกับอยู่ในความมืด สังคมเอง หรือภาคประชาสังคมก็อาจจะไม่ได้คาดหวังว่าสื่อ จะต้องเหมือนกับโคมไฟ หรือ สปอตไลท์ หรืออาจจะไม่ต้องเป็นถึงขึ้นไฟฉาย บางครั้งแค่เป็นเส้นด้ายสีขาว ในถ้ำอันมืดมิดก็สามารถที่จะเป็นตัวช่วยให้เราเดินไปแล้วก็มองหาทางออกได้

เพราะแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะไม่มีความหมาย ถ้าระหว่างถ้าที่จะไปสู่แสงสว่างนั้นมันมืดมิดเสียจนมองไม่เห็น เพียงเส้นด้ายสีขาวเส้นเดียวก็สามารถเปรียบเทียบได้ว่า เป็นสิ่งที่จะนำทางเราไปสู่จุดนั้นได้ เหมือนกับหน้าที่ของสื่อมวลชนในสังคม สังคมบางครั้งก็ไม่ได้คาดหวังว่า จะต้องหาสิ่งดีที่สุด ถูกที่สุด ใช่ที่สุด หรือความจริงที่สุดมานำเสนอ เพียงแต่ว่าถ้าสื่อทำตัวเป็นเสมือนเส้นด้ายในความมืด ที่อาจจะฉายประกายบางอย่างที่ทำให้คนมีความหวัง ที่พอจะเห็นทางเดินเล็กๆ ออกไปได้ สุดท้ายผู้คนในสังคมก็นำฝ่าความมืดมึด และหาทางออกได้ด้วยตัวเอง

ความคาดหวังเล็กน้อยแบบนี้ ในสถานการณ์แบบนี้ ท่ามกลางสภาวะที่สื่อเองก็มีเรื่องที่ต้องกังวล ในหมวกของ กสทช. ที่ต้องกำกับดูแลสื่อ  ก็จะมีเรื่องร้องเรียนจากสื่อมากมายว่า ทุกวันนี้ทำงานลำบาก ทั้งภาวะเศรษฐกิจเอง โฆษณาก็ไม่เข้า รายได้ก็ไม่มี ทั้งยังเจอกฎกติการมารยาทจาก กสทช. ประกาศของ คสช. จนทำอะไรไม่ได้แล้ว สังคมยังจะคาดหวังให้สื่อ ทำตัวเป็นเส้นด้ายในถ้ำอันมืดมิด สื่อจะทำได้อย่างไร สิ่งนี้ก็คงเป็นภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ตลอดเวลา และคงไม่เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น แน่นอนว่าทุกคนไม่สามารถที่จะมีข้อแก้ตัวได้ตลอด ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องทำภายใต้ข้อจำกัด

ฉะนั้นแล้วหากสื่อเองทำตัวเป็น สปอตไลท์ หรือไฟฉายไม่ได้ แค่ทำตัวเป็นเส้นด้าย ในมิติเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องนี้เอง การที่สื่อจะเป็นเส้นด้ายนำแสงสว่างให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สื่อเองก็ต้องเป็นแสงสว่างให้กับตัวเองก่อน เพื่อที่จะกล้าลุกขึ้นมา ไม่ยอมจำนนกับภาวะที่ถูกปิดตายโดยเฉพาะการจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลายรูปแบบ ทั้งผ่านกฎหมาย และการสร้างความกลัว

ในช่วงอุปสรรคสำคัญที่สุดของสื่อที่จะทำหน้าที่ในความมืดมิดก็คือ ความกลัว และบรรยากาศที่สร้างให้เกิดความกลัว บางครั้งก็ทำให้เราเองถอดใจที่จะลุกขึ้นมาแม้เพียงแค่ตั้งคำถาม

แต่ดิฉันก็ยังดีใจที่เห็นหลายสื่อ ยังคงทำงานภายใต้ข้อจำกัด โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ ช่องใหม่ๆ ที่ก้าวเข้ามาสู่การได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลในวันนี้ กล่าวได้ว่าเป็นสื่อที่มีผลงานในการส่งเสริมข่าวด้านสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยก็เป็นความหวังว่า ท่ามกลางการทำงานตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือแม้แต่กลไกอื่นๆ เชื่อว่าทำงานยากหมดในปัจจุบันนี้ แต่ก็ยังพยายามทำกันทั้งในเรื่องสิทธิของนักโทษทางการเมือง ผู้ต้องหาทางการเมือง นักกิจกรรมทางการเมือง หรือแม้แต่ผู้อพยพ คนเหล่านี้ยังต้องการปากเสียงให้สื่อต่างๆ เป็นตัวสะท้อนความทุกข์ความเจ็บปวดของเขา และสุดท้ายคนในสังคมจะตัดสินเองว่าเรื่องราว เรื่องจริงเป็นอย่างไร

ในส่วนของหน้าที่ต่างๆ ที่สื่อต้องทำในส่วนของกฎหมาย และตามหลักจรรยาบรรณ ก็คงต้องกล่าวเรื่องเส้นแบ่งตรงกลาง ตรงนี้ไว้เสมอ ในฐานะที่ทำงาน กสทช. พรุ่งนี้ก็จะมีเวทีเรื่อง จริยธรรมของสื่อ กับการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน วันนี้ก็พูดเรื่องสื่อ กับสิทธิเสรีภาพ ที่จะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มันยากทั้งสองด้าน แต่ถ้าเมื่อไหร่สื่อในประเทศไทยหาจุดที่สมดุลในการนำเสนอความจริง ความดี ความงาม โดยที่มีความกลัวน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็มีความละเอียดอ่อน มีความระมัดระวังที่จะไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่ไร้อำนาจ เมื่อนั้นจะให้สื่อเข้าสู่จุดสมดุล เพราะว่าสภาพการณ์ที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ อาจจะเห็นว่าสื่อ ไม่เกรงใจผู้มีอำนาจน้อย ไม่เกรงผู้ที่สถานะน้อยในสังคม แต่ถ้าหากเป็นผู้ที่มีอำนาจมาก สื่อก็อาจจะเกรงใจ ในทางกลับกัน ลองสลับ และหาจุดสมดุลดูว่า เราละเอียดอ่อน เราเกรงอกเกรงใจ คนที่อยู่ในภาวะที่อ่อนแอ คนที่ไม่มีอำนาจมาขึ้น คนเล็ก คนน้อย และไปเพิ่มความกล้าที่จะตรวจสอบ และนำเสนอเรื่องราวของคนที่มีอำนาจกระทบกับ การเมือง สังคม และเศรษฐกิจมากขึ้น มันอาจจะนำไปสู่จุดสมดุลได้ และสังคมเอง ก็จะเป็นเห็นสื่อเป็นแสงสว่างในความมืดขึ้นมา

ในฐานะคนที่เคยทำงานสื่อมาก่อน และเป็นคนที่กำกับดูแลสื่อในปัจจุบัน ก็ยังอยากจะให้กำลังใจสื่อทุกช่อง เข้าใจว่าในภาวะแบบนี้สื่อตกเป็นจำเลยสังคมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ร้องเรียกสิทธิเสรีภาพ ซึ่งรู้สึกว่าสื่อตกอยู่ภายใต้อำนาจ หรือว่าที่คิดว่าสื่อใช้เสรีภาพมากเกินไป ก็จะเหนื่อยหน่ายกับสือเช่นเดียวกัน ฉะนั้นทั้งขึ้นทั้งล่องก็ลงอยู่ที่สื่อทุกช่อง ทุกเล็ม ขอให้อดทน และพิสูจน์ตนเองที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัด

เสรีภาพกับความรับผิดชอบมาคู่กัน แต่ถ้าไม่มีเสรีภาพก็ยากที่สื่อจะมีความรับผิดชอบ

ดีเบตเรื่องเสรีภาพกับความรับผิดชอบ สิทธิมนุษยชนกับหน้าที่และกฎหมาย เป็นดีเบตคลาสสิคที่มีมาตลอดเวลา ล่าสุดเราก็ได้ยินผู้มีอำนาจทางการเมืองมักจะย้ำเสมอว่า เลิกพูดซะทีเรื่องเสรีภาพ เรื่องสิทธิ พูดเรื่องหน้าที่ พูดเรื่องความรับผิดชอบกันดีกว่า แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่า ถ้าสื่อใดไม่มีเสรีภาพ ก็ยากที่สื่อนั้นจะมีความรับผิดชอบ

เพราะหากไม่มีเสรีที่จะเสนอความจริง ความดี ความงาม ที่ครบถ้วนแล้ว ก็จะไม่สื่อที่แท้จริง และก็เป็นสื่อที่ปราศจากความรับผิดชอบ เป็นได้เพียงแค่เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจ รัฐ หรือทุนเท่านั้น ฉะนั้นคงไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าสิ่งใดจะมาก่อน ทั้งสองสิ่งต้องมาด้วยกัน แต่เสรีภาพต้องเริ่มก่อน ความรับผิดชอบจึงจะมาคู่กัน

ผลงานที่ได้รับรางวัล สื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2558

1.ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ มีผู้ได้รางวัลดีเด่น 2 รางวัล ได้แก่

-สารคดีเชิงข่าว “หมอชายแดน แสงสุดท้ายคนชายขอบ” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
-สารคดีเชิงข่าว “Military mind games play out under strict insecurity” หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

2.ข่าวและสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น

รางวัลดีเด่น
-ข่าวชุด “สิทธิชุมชนคนแม่เมาะ การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด” หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์

รางวัลชมเชย
-ข่าว “พลังมวลชน ต้าน! โรงไฟฟ้าชีวมวล” หนังสือพิมพ์ปักษ์ใต้ทูเดย์

3.ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่ออนไลน์

รางวัลดีเด่น
-“รายงานพิเศษเปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด” เว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์
รางวัลชมเชย
-“รายงานพิเศษเพราะประวัติศาสตร์ “ปาตานียุคใหม่” เริ่มต้นที่นี่? จึงต้องบูรณะบ้าน-สุเหร่า “หะยีสุหลง โต๊ะมีนา” เว็บไซด์ Deep South Watch
-“เอดส์…ที่ยืนของคนชายขอบ” เว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์

4.ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล

รางวัลดีเด่น
-”เรือมนุษย์โรฮิงญา” สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3https://www.youtube.com/watch?v=w3i_Ewm01R0 (นาทีที่ 2.52-7.26)

https://www.youtube.com/watch?v=1v4OW8tRcjw (นาทีที่ 13.40-16.57)

รางวัลชมเชย
-“สิทธิใต้บงการ เสรีภาพใต้ความกลัว” สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี

-”ผลกระทบเหมืองทองคำ” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

-”ปฏิบัติการกำจัดชาติพันธุ์โรฮิงญา” สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี

-”เหยื่อคดีอาญา” สถานีโทรทัศน์ช่อง ONE

5.ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบเคเบิลทีวี

รางวัลชมเชย
-“แสงสว่างในเงามืด” สถานีโทรทัศน์เสียงไทยแลนด์เคเบิลทีวี