ว่าด้วยเรื่องการคืนคลื่นความถี่วิทยุของรัฐ และ ความคืบหน้าทีวีชุมชนดิจิตอล

**ว่าด้วยเรื่องการคืนคลื่นความถี่วิทยุของรัฐ และ ความคืบหน้าทีวีชุมชนดิจิตอล**
Summary from my work today : Q&A session at MCOT on Radio broadcasting Policy by NBTC to re-farm (or reform) the state-own frequencies & a roadmap to re-allocate FM/AM & allocate Digital Radio spectrum under NBTC Master Plan & licensing framework. Then a meeting with reps from ITU in BKK preparing for NBTC/ITU project on Community TV in Thailand. More to inform. Excited.

10 กย. 58

สรุปงานวันนี้ทั้งเช้าและบ่ายดังนี้ค่ะ

ช่วงเช้าไปร่วมเวทีพูดคุยในงานสัมมนาของสำนักวิทยุ อสมท. เพื่อให้ข้อมูลและตอบคำถามต่างๆเกี่ยวกับนโยบาย กสทช.เรื่องวิทยุกระจายเสียง ผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นตัวแทนที่ดูแลสถานีวิทยุของ อสมท. 62 แห่งทั่วประเทศแบ่งเป็นการถือครองคลื่น FM 60 และ AM 2 สถานี กสทช. เรียกวิทยุของรัฐ/รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายเดิม ที่รอการตรวจสอบสิทธิ์และเหตุแห่งความจำเป็นตามมาตรา 82 และ 83 ตาม พรบ.กสทช. กสทช.มีหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบข้อมูลการใช้คลื่นความถี่ พิจารณาความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่และตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาตทั้งในรูปแบบสัมปทาน สัญญา รวมทั้งกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทฯ

กสทช. ประกาศใช้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555 ) เมื่อ 4 เมษายน พ.ศ. 2555 โดยกำหนดยุทธศาสตร์การคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่และมีแนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงไว้ในสามกรณี คือ
1.คืนคลื่นเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน
2.คืนคลื่นเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามที่ได้รับอนุญาต
3. คืนคลื่นใน 5 ปี กรณีที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาใช้คลื่นไว้

สำหรับวิทยุกระจายเสียง ไม่ค่อยมีสัญญาสัมปทานยาวหรือสิ้นสุดไปแล้วทั้งสิ้น เวลานี้ส่วนใหญ่เป็นสัญญาแบบสั้นๆ รอการตรวจสอบสิทธิ์ในการถือครอง กรณีที่สามที่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยชอบด้วยกฎหมายที่มิได้กำหนดอายุการใช้คลื่นไว้ กสทช.จะกำหนดเวลาสิ้นสุดการใช้คลื่นไม่เกิน 5 ปี หรือภายใน ‪#‎3เมษายน2560 ตามที่ระบุไว้ในแผนแม่บทฯ ‪#‎ระยะเวลาการถือครองคลื่น ‪#‎วิทยุกระจายเสียงของรัฐ ‪#‎ประเภทที่สาม

จากขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่และเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ตามประกาศ กสทช. ฯ

ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และระยะเวลาการแจ้งรายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่และเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ฯ เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประกาศ 9 ตุลาคม 2555) มีส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐใช้คลื่นความถี่ฯ จากข้อมูลที่ กสทช.ตรวจสอบแล้วมีหน่วยงานรัฐทั้งหมดใช้คลื่นความถี่กิจการกระจายเสียง ระบบแอนะล็อก รวม 509 สถานี แบ่งเป็น FM 313 และAM196 สถานี ความคืบหน้าปัจจุบัน ในชั้นของอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ฯ ได้พิจารณาประเด็นความชอบด้านกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการถือครองคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงดังกล่าว โดยเร็วๆนี้จะเชิญหน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่น อาทิ กองทัพ กรมประชาสัมพันธ์ อสมท. และอื่นๆ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัดส่วนเนื้อหารายการ รวมถึงสัดส่วนการแบ่งเวลาให้ผู้อื่นเข้าร่วมดำเนินการและความซ้ำซ้อนของพื้นที่การให้บริการเพื่อให้เป็นข้อมูลการพิจารณาเรื่องความจำเป็นใช้คลื่น ทั้งนี้ได้จัดแบ่งหน่วยงานรัฐออกเป็น 6 กลุ่มได้แก่
ก) กลุ่มหน่วยงานเพื่อการศึกษา ประกอบด้วย 10 หน่วยงาน
ข) กลุ่มหน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม 5 หน่วยงาน
ค) กลุ่มหน่วยงานที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง 4 หน่วยงาน
ง) กลุ่มหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1 หน่วยงาน จ) กลุ่มหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 1 หน่วยงาน [บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน)]
ฉ) กลุ่มหน่วยงานเพื่อความมั่นคง 6 หน่วยงาน ‪#‎วิทยุกระจายเสียง

หน่วยงานรัฐที่ได้แจ้งข้อมูลการถือครองคลื่นความถี่ฯและ กสทช.ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายแล้ว สามารถประกอบกิจการต่อไปจนกว่าถึงเวลาที่ต้องคืนคลื่น ระหว่างเวลาดังกล่าวนั้น กสทช.ก็จะกำกับดูแลตามประกาศที่เกี่ยวข้อง อาทิด้านเนื้อหารายการ มาตรฐานทางเทคนิค และการคุ้มครองผู้บริโภค

แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการกำกับเงื่อนไขตามลักษณะหรือประเภทการประกอบกิจการตาม พรบ.การประกอบกิจการฯพ.ศ. ๒๕๕๑ (ใบอนุญาตประเภทสาธารณะ-ธุรกิจ-ชุมชน) ขณะนี้ กสท. กสทช. อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรคลื่นความถี่และอนุญาตในกิจการวิทยุกระจายเสียงตามกฎหมาย โดยต้องสอดรับกับกระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่เดิม และ การประกาศ *ตารางคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงฉบับใหม่

สิ่งที่กำลังทำคือ
1. แผนพัฒนากิจการกระจายเสียง ซึ่งอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในส่วนกลางและภูมิภาค
2. แผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงในระบบ เอฟ.เอ็ม. เอ.เอ็ม.และระบบดิจิตอล รับฟังไปรอบหนึ่งแล้ว กำลังจัดทำร่าง
3. ศึกษาการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงในระบบดิจิตอล(โดยทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) บอร์ด กสท. พิจารณาผลการศึกษารอบแรกแล้ว

รายงานประเมินมูลค่าคลื่นความถี่(สำหรับประมูล)ในกิจการวิทยุดิจิตอล อยู่ในขั้นตอนจะนำผลการศึกษาไปรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องต่อไป

…….

ทวิตมายาวทั้งหมด สรุปคือ นับเวลาถอยหลังที่ กสท./กสทช. กำลังต้องพิจารณาสิทธิ์ในการถือครองคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงของหน่วยงานรัฐเดิม

ยังไม่ต้องพูดถึงหน่วยงานรัฐอื่นอย่าง อสมท. กองทัพบก หรือกรมประชาสัมพันธ์ แค่พูดถึงวิทยุ ปณ.ของ สนง.กสทช.ก่อน ก็เครียดแทน เวลาใกล้เข้ามาละ ตั้งแต่เดือนแรกๆที่ดิฉันเข้ามาทำงาน ก็ชงวาระเสนอให้บอร์ด กสท. เร่งให้ สนง.กสทช. คืนคลื่นความถี่วิทยุ 1ปณ. แต่ก็สู้เรื่องนี้ยังไม่สำเร็จ ส่วนตัวใช้ความพยายามมาหลายรอบแล้วที่จะกดดันให้ สนง.กสทช.คืนคลื่นความถี่วิทยุ 1 ปณ.ที่ถือครองให้คนอื่นเห็นเป็นแบบอย่าง แต่ยังไม่เห็นผล

ทั้งนี้เพราะ สนง. กสทช. มาอ้างสิทธิ์ระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่วิทยุตามแผนแม่บท 5 ปี เหมือนหน่วยงานรัฐอื่นๆบ้าง เมื่อ สนง. อ้างข้อกฎหมายเช่นนั้น เราในฐานะกรรมการคนหนึ่งก็อดทน บัดนี้เวลาก็ผ่านมาเรื่อยๆเกินครึ่งทางแล้ว เหลือไม่ถึงสองปี ต้องคืนคลื่น

ถ้าถึงเวลาที่กำหนดแล้ว สนง.กสทช.ไม่คืนคลื่นวิทยุ 1ปณ.ให้หน่วยงานรัฐอื่นได้เห็นเป็นแบบอย่าง แล้วใครจะฟังเรา และอาจมีคนไปฟ้องฐานละเว้นได้ แม้วันนี้จะเสียใจที่ผ่านมาจะ 4 ปีแล้ว ยังไม่อาจเรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุจากหน่วยงานรัฐไหนได้เลย แต่ก็ดีใจที่ผลักดันมีแผนแม่บทที่กำหนดเวลาคืนใน 5 ปี อย่างน้อยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วิทยุกระจายเสียงไทยตั้งแต่ปี 2473 ที่ กสทช.กำหนดเวลาการคืนคลื่นความถี่ในแผนแม่บทฯไว้เมื่อปี 2555

ถ้า กสทช. ชุดแรกนี้อยู่จนครบวาระพร้อมกับแผนแม่บทฉบับแรก ก็จะถึงกำหนดเวลาการพิจารณาคืนคลื่นความถี่วิทยุของหน่วยงานรัฐทั้งหมด 509 สถานี

……..

ส่วนเรื่องวิทยุดิจิตอล ณ จุดนี้ ถ้าเป็นไปได้คือการให้มีทดลองทดสอบ แต่คงไม่ทันที่จะเริ่มต้นประมูลคลื่นจริงๆใน กสทช.ชุดแรกนี้ ‪#‎คสหต. ทิศทางของวิทยุดิจิตอลในประเทศไทย คงไม่ใช่เพื่อมาแทนที่วิทยุ FM แต่อาจพัฒนาเป็นตลาดเสริมเฉพาะกลุ่มเช่นระบบในรถยนต์เหมือนใน ตปท. ก็เป็นได้ ปัญหาที่ใหญ่ของ กสทช.ไม่ใช่เรื่องการประมูลคลื่นวิทยุระบบดิจิตอล แต่เป็นการประกาศ ตารางคลื่นความถี่วิทยุฉบับใหม่ที่ยากมาก ยังไม่เสร็จ

กสทช. จ้างองค์กรต่างประเทศศึกษาการวางตารางคลื่นความถี่วิทยุใหม่ทั้งหมด แต่รับฟังความเห็นไปแล้ว คนค้านอื้อ เพราะมันจะกระทบไปทั้งหน้าปัด วันนี้ไปฟัง อสมท.ก็ไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาตารางคลื่นความถี่วิทยุดังกล่าว ใน กสท.เองก็เห็นต่างกันเอง เพราะทฤษฎีกับของจริง มันสวนทางกันมาก เพราะการเปลี่ยนคลื่นความถี่ใหม่ก็จะกระทบกับหน่วยงานเดิมที่ใช้อยู่ และจะกระทบคนฟังที่ต้องไล่หาคลื่นใหม่ แต่ถ้าไม่มีตารางก็จัดสรรใหม่ไม่ได้ วิทยุกระจายเสียงจริงๆต้องเดินตามทีวี ที่เปลี่ยนจากระบบเก่าเป็นระบบใบอนุญาต ถ้าจะทำธุรกิจต้องประมูล แต่ตอนนี้ก็รอคืนคลื่นและตารางคลื่นใหม่ อนาคตของวิทยุของหน่วยงานรัฐเดิม กับ กลุ่มวิทยุทดลองประกอบกิจการฯ ก็คล้ายกัน คือรอตารางคลื่นใหม่ กับโรดแมปการคืนและจัดสรรคลื่นตามกติกาใหม่ ถ้ายังสรุปตารางคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงระดับชาติและท้องถิ่นไม่ได้ การจัดสรรใหม่ในระบบใบอนุญาตก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้สักที

ตามนั้นค่ะ ยาวหน่อย เรื่องวิทยุค่อนข้างซับซ้อน เพราะผู้เกี่ยวข้องมากราย แต่ก็ค่อยๆแกะค่อยๆทำไปตามกฎหมาย สักวันหนึ่งก็ต้องชัดเจนกว่านี้

วันนี้ก็ได้พูดกับชาววิทยุ อสทม.ว่าจุดยืนดิฉันคือการขอคืนคลื่นความถี่ของรัฐที่ไม่จำเป็นมาจัดสรรใหม่ ต้องขอบคุณที่ให้ไปพูดตรงๆแม้รู้จุดยืนกัน อย่างไรก็ตาม ทางวิทยุ อสมท. เขาก็ยืนยันความพร้อมของเขาในการจะพิสูจน์สิทธิ์ตามกฎหมาย กสทช. ว่าเขาประกอบการด้วยตนเองจริงๆ ไม่ได้ให้เช่าช่วง

ประเด็นนี้ก็ต้องว่าไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ตอนบอร์ด กสท. จะต้องลงมติพิจารณาความจำเป็นในการถือครองคลื่นวิทยุของรัฐในอนาคตอันใกล้นี้

….ว่าด้วยเรื่องทีวีชุมชนต่อสั้นๆก่อน ตามรูปภาพแผนงานที่ ITU มาเสนอกับดิฉันในวันนี้ค่ะ….

หลังจบงานช่วงเช้าที่ อสมท. ช่วงบ่ายมีการประชุมกับทีมสำนักงาน และตัวแทน @ITU เรื่องเตรียมการศึกษาความพร้อมทีวีชุมชนในระบบดิจิตอล ค่อยๆมีความคืบหน้า มีรายละเอียดเยอะ คงไม่ทวิตวันนี้ยาวๆ แต่มีเอกสารแผนงานของ ITU โดยย่อ ที่นำเสนอกับดิฉันวันนี้มาฝากไว้ก่อน จะเชิญหลายท่านที่ทำงานเรื่องมาเป็นทีมที่ปรึกษาให้ ITU และ กสทช. ด้วยค่ะ จะขอนัดหารือกันในเดือนนี้นอกรอบก่อนจะมีประชุมร่วมกับทีมจากต่างประเทศ และตามด้วยโฟกัสกรุ๊ปกับงานสัมมนาช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
ฝากช่วยเคลียร์วันให้ด้วยนะคะ ……