ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 24/2558 วันที่ 20 ก.ค. 58 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้ตั้งข้อสังเกตและขอเปิดเผยความเห็นเพื่อบันทึกในรายงานการประชุม หลายวาระ ดังนี้
วาระ 3.13 รายงานผลการแจกคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทีวีและแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค
วาระ 4.9 แผนปรับเปลี่ยนการประกอบกิจการโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11
“ดิฉันขอเปิดเผยความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ และขอยืนยันความเห็นตามบันทึกข้อความที่ สทช. 1003.9/134 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2557 เรื่องขอเปิดเผยความเห็นและมติที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 22/2557 (วันที่ 2 มิถุนายน 2557) วาระที่ 4.8 เรื่อง แผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และบันทึกข้อความที่ สทช. 1003.9/81 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2556 เรื่องขอเปิดเผยความเห็นและมติที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 12/2556 (วันที่ 25 มีนาคม 2556) วาระที่ 4.7 เรื่อง แนวทางการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะ
รวมทั้งบันทึกข้อความที่ สทช. 1003.9/207 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เรื่องขอเปิดเผยความเห็นและ มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2556 (วันที่ 17 กรกฎาคม 2556) วาระที่ 5.5 เรื่อง พิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของกิจการโทรทัศน์ โดยมีเหตุผลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ดังนี้
- “ดิฉันเห็นว่ากระบวนการพิจารณาเพื่อให้กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะหน่วยงานรัฐซึ่งประกอบกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์อยู่เดิม ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์นั้น นอกจากจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขการแจ้งรายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ รวมทั้งเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ฯ ตลอดจนให้ กสทช. กำกับดูแลปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎหมายอื่น และตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ตามมาตรา 82 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เป็นสำคัญแล้ว ยังจำเป็นต้องดำเนินการตามเงื่อนไขและขั้นตอน ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้อนุญาตกับกรมประชาสัมพันธ์ไว้เป็นการเฉพาะ กล่าวคือ เมื่อแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ใช้บังคับแล้ว ให้ กสทช. แจ้งลักษณะ ประเภท และขอบเขตการดำเนินกิจการของกรมประชาสัมพันธ์ตามที่กำหนดในแผนแม่บทฯ ให้รัฐมนตรีที่มีอำนาจกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ทราบเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ จากรูปแบบเดิมไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์บริการสาธารณะประเภทที่สาม ตามที่กรมประชาสัมพันธ์ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0220.02/713 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2558 เรื่อง ส่งแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์จากรูปแบบเดิมไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์บริการสาธารณะประเภทที่สาม โดยสาระในส่วนที่ 3 ความมุ่งหมายของแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการ ได้ระบุถึงขอบเขตการดำเนินกิจการตาม ข้อ 1. การดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ตามกฎหมายให้เกิดประสิทธิผลและสอดคล้องกับการประกอบกิจการโทรทัศน์บริการสาธารณะประเภทที่สาม ว่า “ด้วยภารกิจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยมีหน้าที่ดำเนินงานประชาสัมพันธ์โดยใช้วิทยุโทรทัศน์และเผยแพร่นโยบายของรัฐ ข่าวสาร และการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทางวิทยุโทรทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคง และเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข…” และ “ยังคงรักษาบทบาทของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติในการดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์” รวมถึง “คำนึงถึงกลุ่มคนพิการ คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์”
เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการประกอบกิจการโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ตามขอบเขตการดำเนินกิจการข้างต้น เปรียบเทียบกับมติที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 21/2558 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งเห็นชอบผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการโทรทัศน์ฯ ช่องรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา และอนุญาตให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล บริการสาธารณะประเภทที่สาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน หมายเลขลำดับการให้บริการ (10) โดยให้มีใบอนุญาต 4 ปี จึงเห็นได้ชัดเจนว่าทั้ง “สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา” และ “สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์” นั้นมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ในลักษณะเดียวกัน ตลอดจนมีขอบเขตการดำเนินการที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจเป็นผลให้มีการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะที่มีความซ้ำซ้อนกันขึ้นในอนาคต ซึ่งสะท้อนปัญหาเชิงหลักการเกี่ยวกับแนวทางการจัดหมวดหมู่และช่องรายการที่ชัดเจนในการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะ ตามที่ดิฉันได้เปิดเผยความเห็นและมติที่ประชุม กสท. ในบันทึกข้อความที่ สทช. 1003.9/81 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2556 เรื่องขอเปิดเผยความเห็น วาระที่ 4.7 เรื่อง แนวทางการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะ ไว้
- นอกจากนี้หากเปรียบเทียบกระบวนการให้อนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะ ระหว่างกรณีกรมประชาสัมพันธ์กับกองทัพบก ซึ่งมติที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 7/2556 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 กำหนดให้อยู่ภายใต้ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะ โดยต้องนำเสนอแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์จากรูปแบบเดิมไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์ บริการสาธารณะ ให้ กสท. พิจารณาภายใน 1 ปี เช่นเดียวกัน จึงยิ่งประจักษ์ชัดว่ามิได้เป็นกรณีที่นำเอาเงื่อนไขและขั้นตอนตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อกรมประชาสัมพันธ์เป็นการเฉพาะมาบังคับใช้ กล่าวคือ เมื่อแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ใช้บังคับ และ กสทช. แจ้งลักษณะ ประเภท และขอบเขตการดำเนินกิจการของกรมประชาสัมพันธ์ตามที่กำหนดในแผนแม่บทฯ ให้รัฐมนตรีที่มีอำนาจกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ทราบเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ แล้ว ย่อมสามารถนำไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะได้โดยเร็ว และระยะเวลาเริ่มให้อนุญาตอาจมีระยะเวลาสั้นกว่าที่กำหนดให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นความถี่ในระบบ แอนะล็อกตามที่กำหนดไว้ 5 ปี ได้ แต่อย่างไรก็ตามขั้นตอนการดำเนินการในข้างต้นขึ้นอยู่กับความประสงค์และความพร้อมของกรมประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการจัดหมวดหมู่และช่องรายการที่ชัดเจนภายใต้กระบวนการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทกิจการบริการสาธารณะ
ในกรณีนี้จึงเป็นประเด็นที่ตอกย้ำว่าองค์กรกำกับดูแลต้องคำนึงถึงหลักในการพิจารณาอนุญาตให้สอดคล้องกับที่กฎหมายบัญญัติ กล่าวคือ การพิจารณาอนุญาตให้มีการประกอบกิจการโทรทัศน์ ภายหลัง ที่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ตามมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ต้องเป็นการเริ่มต้นพิจารณาอนุญาตบนสัดส่วนการใช้คลื่นความถี่ใหม่ มิใช่เป็นการอนุญาตสืบเนื่องบนฐานของสิทธิในการถือครองคลื่นความถี่เดิม ตามที่ดิฉันได้เปิดเผยความเห็นและมติที่ประชุม กสทช. บันทึกข้อความที่ สทช. 1003.9/207 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เรื่องขอเปิดเผยความเห็นและมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2556 (วันที่ 17 กรกฎาคม 2556) วาระที่ 5.5 เรื่อง พิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของกิจการโทรทัศน์
- นอกจากนี้ภายใต้กระบวนการกำกับดูแลผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่ เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใสในการกำกับดูแลในภาพรวม โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ซึ่งรวมถึงกรมประชาสัมพันธ์และกองทัพบกด้วยนั้น กสทช.ควรต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ตามมาตรา 83 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งบัญญัติให้ “กสทช. กำกับดูแลให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่นั้นปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎหมายอื่น และตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ทั้งนี้ จนกว่าจะถึงกำหนดที่ต้องคืนคลื่นความถี่” ดังนั้น กสทช. ควรเร่งรัดกำกับดูแลผู้ที่ถือว่าได้รับอนุญาตตามมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ซึ่งกำหนดให้นำหมวด 2 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต และ หมวด 3 ว่าด้วยการกำกับดูแลการประกอบกิจการ มาบังใช้โดยอนุโลมในระหว่างนี้ โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานแสดงจำนวนผู้รับบริการ รายงานแสดงสถานะทางการเงินส่งให้สำนักงาน กสทช. ทุกสิ้นปีงบประมาณ รวมถึงกำหนดให้จัดทำบัญชีแยกรายได้ระหว่างช่องรายการที่ออกอากาศภายใต้ระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอลเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน”