พาชมห้องส่งสัญญาณทีวีดิจิทัลในกรุงเทพมหานคร ณ อาคารใบหยก 2 กับ กสทช. และ ไทยพีบีเอส
เมื่อวานนี้ กสทช. ได้จัดงาน กสทช. พบ Blogger และชาวเน็ต ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลของโครงการทีวีดิจิทัลในประเทศไทยที่ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง โดยไฮไลต์สำคัญภายในงานนี้ คือการเข้าเยี่ยมชมห้องส่งสัญญาณกลางของทางไทยพีบีเอส ณ โรงแรมใบหยกสกาย (อาคารใบหยก 2) ถนนราชปรารภ ซึ่งผู้ให้บริการสัญญาณทุกเจ้าต้องเชื่อมสัญญาณจากตัวรวมสัญญาณหรือ MUX เข้าห้องนี้ ก่อนนำขึ้นเสาส่งสัญญาณที่ชั้น 85 ของโรงแรมต่อไป
ภายในการเยี่ยมชม ผมได้รับเกียรติจากคุณแมว ธนกร สุขใส ผู้จัดการฝ่ายข้อมูลและวางแผนวิศวกรรม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้ข้อมูลประกอบในครั้งนี้ครับ
คุณแมว ธนกร สุขใส ผู้ให้ข้อมูลในครั้งนี้
สถานที่ตั้งเสาส่งสัญญาณภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น จะมีอยู่ทั้งหมดสองสถานี คือ ชั้น 84 และ 85 ของโรงแรมใบหยกสกาย โดยชั้น 84 (ชั้นดาดฟ้าพื้นหมุน) จะเป็นที่ตั้งของห้องควบคุมกลาง และห้องวางชุดอุปกรณ์รวมสัญญาณ (แต่ละผู้ให้บริการจะใช้ห้องแยกกัน) และชั้น 85 (ชั้นดาดฟ้าของอาคาร) จะเป็นที่ตั้งเสาสัญญาณขนาดใหญ่ความสูง 25 เมตร ซึ่งมีการลากท่อนำสัญญาณขึ้นมาจากห้องควบคุมกลาง และท่อหล่อเย็นขึ้นมาพร้อมกัน และอีกแห่งคือสถานีย่อยที่ย่านศาลาแดง เขตบางรัก ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ
ภายในห้องควบคุมกลางของไทยพีบีเอสจะมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอยู่หลายตัวซึ่งแบ่งออกได้ตามนี้ครับ
อุปกรณ์รวมสัญญาณ (Multiplexer)
เริ่มต้นที่ตัวแรกคือชุดรวมสัญญาณหรือ Multiplexer ซึ่งแต่ละผู้ให้บริการจะต้องติดตั้งไว้ทั้งหมดสองชุด คือชุดใช้งานจริงหนึ่งชุด และชุดสำรองหนึ่งชุดในกรณีที่ระบบหลักล่ม อุปกรณ์ตัวนี้จะทำหน้าที่รวบสัญญาณที่แต่ละช่องส่งเข้ามาแล้วมัดเป็นสัญญาณวิทยุเพื่อส่งต่อเข้าอุปกรณ์แยกสัญญาณหรือ Combiner
สัญญาณขาเข้า Multiplexer จะรับสัญญาณมาจากดาวเทียมไทยคมเป็นหลัก ซึ่งเจ้าของช่องต้องเข้ารหัสและนำมาให้ทางผู้ให้บริการทำการปลดล็อกและส่งสัญญาณเข้าระบบให้ แต่ในกรณีที่ดาวเทียมล่ม Multiplexer ก็จะมีคุณสมบัติในการสลับสัญญาณขาเข้าเป็นช่องทางอื่นได้ในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งช่องทางสำรองที่เตรียมไว้คือใช้สายไฟเบอร์ออพติคส่งตรงจากสถานี และใช้สัญญาณไมโครเวฟแทน
อุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม อันนี้ไทยพีบีเอสประยุกต์ใช้ของเดิมที่มีอยู่แล้วและนำมาใช้งานต่อ
อุปกรณ์รับสัญญาณไมโครเวฟ
ตัว Multiplexer แต่ละชุด จะส่งสัญญาณขาออกที่กำลังไฟ 4 กิโลวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าระบบแอนาล็อกถึง 10 เท่า คุณแมวระบุว่านอกจากช่วยลดการใช้กำลังคนแล้ว ตัว Multiplexer ยังช่วยลดการใช้พลังงาน แถมยังช่วยลดค่าไฟจากเดือนละ เจ็ดแสนกว่าบาท เหลือเพียงเดือนละ เจ็ดหมื่นกว่าบาท ได้ด้วย
ท้ายที่สุดคุณแมวเผยว่า ในขั้นตอนการวางระบบ ไทยพีบีเอสได้วางระบบเบื้องต้นเอาไว้และสามารถรองรับได้ทั้งหมด 8 Multiplexer ซึ่งในอนาคตถ้ามีจำนวนช่องที่เพิ่มมากขึ้น หรือช่องทั้งหมดพร้อมเปลี่ยนเป็น HD ทั้งหมด ก็สามารถติดตั้ง MUX เพิ่มเพื่อขยายขอบเขตออกไปได้อีกด้วย
อุปกรณ์แยกสัญญาณ (Combiner)
อุปกรณ์ชุดที่สองคืออุปกรณ์แยกสัญญาณขาเข้าจาก Multiplexer ซึ่งผู้ให้บริการทุกเจ้า ต้องโยงท่อสัญญาณเข้าอุปกรณ์ตัวนี้ทั้งหมด ก่อนนำสัญญาณขึ้นไปปล่อยบนเสาสัญญาณต่อไป
ท่อนำสัญญาณจาก Multiplexer จะเป็นท่อสีขาว (ลูกศรสีน้ำเงิน) ส่วนท่อสีทองแดง (ลูกศรสีแดง) คือท่อที่ส่งต่อไปยังอุปกรณ์ส่งสัญญาณเพื่อลำเลียงสัญญาณขึ้นไปยังเสาส่ง
ภายในท่อนำสัญญาณจะประกอบไปด้วยท่อทองแดงสำหรับลำเลียงสัญญาณ และแผ่นทองแดงภายในที่ใช้ในการเพิ่มความเข้มข้นของสัญญาณ ซึ่งเมื่อได้ความเข้มข้นที่ต้องการแล้วก็จะนำส่งเข้าเครื่องส่งสัญญาณเพื่อยิงสัญญาณขึ้นเสาส่งต่อไป
ที่หน้าเครื่องส่งสัญญาณ จะมีตัวเลขแจ้งกำลังการส่งสัญญาณ ซึ่งหลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ระบบจะส่งสัญญาณทั้งหมดที่ประมาณห้าหมื่น-หกหมื่นวัตต์ โดยแบ่งออกเป็นทั้งหมดสองขา คือขา Upper Half (แทนด้วยสีขาวในเสาสัญญาณ) และขา Lower Half (แทนด้วยสีแดงในเสาสัญญาณ)
ภายในห้องควบคุมกลาง เราจะเห็นท่อนำสัญญาณจากแต่ละ Multiplexer เข้าเครื่องนี้ และท่อนำสัญญาณสองท่อทางด้านขวาของรูป คือท่อที่ยิงขึ้นเสาสัญญาณหลักที่ชั้น 85
อุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าส่วนเกินจากธรรมชาติ (Surge Protector)
อุปกรณ์ตัวสุดท้ายในห้องนี้ก็คือ ตัวตัดกระแสไฟฟ้าส่วนเกิน เนื่องจากการขึ้นเสาสูงนั้นมีผลต่อการเป็นตัวนำไฟฟ้าและอาจจะสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์และระบบทั้งหมดได้ ดังนั้นภายในห้องจึงต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์นี้เอาไว้ โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการก็มีฟ้าผ่าลงมาแล้ว 19 ครั้ง และถ้าอุปกรณ์นี้แสดงสัญญาณเป็น Fault เมื่อไหร่ก็ต้องเปลี่ยนทันที เพราะอาจจะมีผลเสียตามมาในอนาคต
เสาส่งสัญญาณ
เสาส่งสัญญาณต้นนี้เป็นเสาส่งที่ทางไทยพีบีเอสใช้ของเดิมที่ติดตั้งอยู่แล้ว โดยเพิ่มตัวส่งสัญญาณภาคดิจิทัลเข้าไปทั้งหมด 48 ตัว ตามที่บอกไปว่าตัวเสาส่งสัญญาณ จะแบ่งออกเป็นทั้งหมดสองชุด คือขา Upper Half และขา Lower Half ทั้งสองขาจะแทนที่ด้วยสีที่ปรากฎทางด้านบนสุดของภาพ
ในกรณีที่ขาใดขาหนึ่งขัดข้อง อีกหนึ่งขาหนึ่งจะยังคงส่งสัญญาณได้ตามปกติ แต่พื้นที่การรับชมจะแคบเข้ามาเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การรับชมดิจิทัลทีวีจะไม่เหมือนระบบแอนาล็อกที่ถ้าระบบมีปัญหา ภาพที่ได้ก็จะมีปัญหาตามไปด้วย เพราะดิจิทัลทีวีมีเพียงแค่รับได้กับไม่ได้เท่านั้น
คุณแมวเล่าว่า เดิมที อสมท เสนอให้ใช้เสาสัญญาณขนาดเล็กวางล้อมรอบชั้นดาดฟ้าของอาคารใบหยก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำมาใช้งานจริง เนื่องจากต้องวางระบบกันใหม่ทั้งหมด เสานี้จึงถูกใช้งานเพียงการทดสอบสัญญาณของ อสมท เท่านั้น ก่อนนำสัญญาณกลับมาใช้ร่วมกับ ไทยพีบีเอสในห้องส่งสัญญาณจริง
แผนสำรองกรณีเกิดเหตุไฟดับทั่วกรุงเทพมหานคร
ผมลองสอบถามกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงแบบเดียวกับที่ส่งผลต่อการให้บริการรถไฟฟ้า นั่นก็คือกรณีที่เกิดเหตุ Blackout ทั่วกรุงเทพมหานคร คุณแมวตอบคำถามนี้ว่า ไทยพีบีเอส ได้ใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมที่ได้วางเอาไว้สมัยที่ทำระบบแอนาล็อก ซึ่งแต่เดิมอาคารใบหยก 2 มีเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าสำรองไว้ให้ที่ชั้น 52 ของอาคาร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุ เครื่องดังกล่าวก็จะทำงานทันที โดยตัวเครื่องสามารถเลี้ยงไฟให้ระบบอยู่ได้อย่างน้อย 3 วัน ซึ่งถ้าเกินจาก 3 วันก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะระหว่างนั้นก็จะนำเชื้อเพลิงมาเติมให้ระบบอย่างสม่ำเสมอครับ
แผนงานในอนาคต
ในอนาคตทางไทยพีบีเอสอยู่ในระหว่างการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นอาคารซุปเปอร์ทาวเวอร์ แอท แกรนด์พระราม 9 ความสูง 125 ชั้น เนื่องจากมีความสูงที่สูงกว่าเป็นหนึ่งเท่าของอาคารใบหยก 2 (อาคารใบหยก 2 สูง 309 เมตร ส่วนอาคารพระราม 9 สูง 615 เมตร) เลยทำให้พื้นที่ตั้งแต่โซนพระราม 9 เป็นต้นไป กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการรับชม เพราะถึงแม้ว่าสัญญาณ OFDM ที่ระบบ DVB-T ใช้งานนั้นจะเป็นสัญญาณที่สามารถกระเด้งและกระจายไปตามอาคารได้ แต่กรณีที่มีอาคารสูงกว่าเสาส่งขึ้นนั้น ก็มีปัญหาต่อการรับชมเช่นกัน โดยเบื้องต้นทางไทยพีบีเอสได้เตรียมแผนสำรองเอาไว้สองแผน คือการตั้งสถานีย่อยในพื้นที่ หรือย้ายสถานีส่งหลักจากอาคารใบหยกเป็นอาคารพระราม 9 แทน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของเจ้าของพื้นที่ด้วยนั่นเองครับ