กสทช.จำเป็นต้องรวมการเข้าถึงฟรีทีวีผ่านดาวเทียมว่าเป็นการรับชมดิจิตอลด้วยเพราะตามMust carryและเงื่อนไขใบอนุญาตฯ

28 ก.ค. 58

Summary from a focus group on an important issue related to an accurate ratio of license’s fees&viewers, analog vs. digital again. Tough.

สรุปงานวันนี้ ช่วงบ่ายมีเวที focus group เรื่องสัดส่วนการเข้าถึงโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลและการแจงรายได้ทีวีแอนะล็อกกับดิจิตอล

วันนี้ผู้แสดงความเห็นหลักก็คือช่องทีวีแอนะล็อกเดิมที่ประมูลใบอนุญาตดิจิตอลช่องธุรกิจ  (3-7-9) เพราะเป็นกลุ่มที่มีประเด็นการต้องแยกจ่ายค่าธรรมเนียม 2ใบอนุญาต2 ระบบ (ระบบแอนะล็อกได้รับการยกเว้นไว้แล้ว เหลือแต่ใบอนุญาตดิจิตอล)

โดยมีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายใหม่เข้าร่วมสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนด้วย รวมถึงภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นบริษัทสำรวจเรตติ้ง ผู้บริโภค

ประเด็นวันนี้ สำนักงาน กสทช.ใช้ความเห็นของที่ปรึกษา (consultant) โดยบริษัท Time Consulting เสนอว่าสัดส่วนการเข้าถึงฟรีทีวีดิจิตอลอยู่ที่ 73.4% ทั้งนี้การเข้าถึงฟรีทีวีดิจิตอลราว 73.4% นั้นรวมการรับชมผ่านช่องทางทีวีดาวเทียมและเคเบิลตามกฎ และการรับชมผ่านกล่องดิจิตอลภาคพื้นดินด้วย

เพราะการรับชมฟรีทีวีผ่านดาวเทียมตามกฎ MustCarry นั้น เป็นเงื่อนไขหนึ่งของใบอนุญาตในระบบดิจิตอล และ กสท.ยกเลิกทีวีแอนะล็อกบนดาวเทียมปีที่แล้ว ตัวเลข 73.4% นั้นยังมีที่มาจากข้อเท็จจริงที่อุตสาหกรรมใช้ในการลงโฆษณาในฟรีทีวีของมีเดียเอเจนซี่ ที่อิงผลการสำรวจโดยบริษัทนีลเส็นด้วย แต่วันนี้ผู้ประกอบการช่องแอนะล็อกมีความเห็นต่างชัดเจนกับความเห็นของที่ปรึกษา กสทช. ในเรื่องการกำหนดสัดส่วนการเข้าถึงอยู่ที่ 73.4%

เหตุผลของช่องแอนะล็อก (ที่ออกคู่ขนาน หรือ เนื้อหาที่เหมือนกันสองใบอนุญาตสองระบบ) ที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า กสทช.ไม่ควรนำการเข้าถึงบนดาวเทียมมาคำนวณสัดส่วนการเข้าถึง เพราะยังดูได้แบบ SD ไม่ใช่ HD เป็นต้น

อีกเหตุผลที่เขาค้านคือการใช้ผลสำรวจของบริษัทนีลเส็น อาจไม่สามารถจะชี้วัดการเข้าถึงหรือการรับชมได้อย่างแท้จริง รวมถึงปัจจัยอื่นๆที่แตกต่างอีก ทั้งนี้ทางตัวแทนบริษัทสำรวจเรตติ้งอย่างนีลเส็นที่มาร่วมในเวทีด้วยก็ยืนยันการวิธีการสำรวจของตนเอง และขอบคุณ กสทช. ที่ใช้ข้อมูลมาอ้างอิงด้วย

ประเด็นวันนี้จึงอยู่ที่ว่า ตัวเลขสัดส่วนการรับชมทีวีดิจิตอลระหว่าง *ตุ๊กตา* ของ สำนักงาน กสทช. (ที่อิงจากรายงานของที่ปรึกษา) และของช่องนั้นต่างกัน

การต้องถกเถียงตัวเลขสัดส่วนการเข้าถึงทีวีดิจิตอลดังกล่าวนั้น เพราะมีนัยยะสำคัญ 2 เรื่องคือ

1.อัตราค่าธรรมเนียมที่ช่องต้องจ่ายใบอนุญาตดิจิตอล

2. คือ ตัวเลขสัดส่วนเข้าถึงนี้จะเป็นฐานในการอ้างอิงของอุตสาหกรรมโฆษณา รวมทั้งของ กสทช.ในศาลด้วย เพราะมีกรณีที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่

กสทช.จำเป็นต้องรวมการเข้าถึงฟรีทีวีผ่านดาวเทียมว่าเป็นการรับชมดิจิตอลทีวีด้วย เพราะเป็นไปตามกฎ Must carry และเงื่อนไขใบอนุญาตดิจิตอล ถ้าไม่นับรวมการรับชมฟรีทีวีผ่านดาวเทียมตามกฎ Must carry ว่าเป็นการเข้าถึงฟรีทีวีดิจิตอลด้วย ก็จะก่อปัญหาให้ กสทช. และ อุตสาหกรรมมากทีเดียว

เพราะ กสทช. ทราบดีว่าในระหว่างการวางโครงข่ายภาคพื้นดินให้ครอบคลุมตามแผน95% ต้องใช้เวลา4 ปี ระหว่างนี้จึงบังคับให้ขึ้นดาวเทียมตามกฎ Must carry โดยสรุป ถ้า กสทช. และ ช่องแอนะล็อกยังมีตัวเลขสัดส่วนที่ต่างกันอยู่ มันก็จะสรุปยอดเงินที่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดิจิตอลยาก อาจต้องไปศาล

ทางช่องแอนะล็อกคงมีตัวเลขสัดส่วนที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมของตนเอง แต่ถ้า กสทช.ยอมตามตัวเลขนั้นโดยไม่มีเกณฑ์ ก็จะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์เอกชนได้ อย่างไรก็ดี ยังไม่รู้จะเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร เพราะคนตัดสินก็คือบอร์ด กสท. 5 คนต้องลงมติกัน อาจจะเอกฉันท์ หรือมีข้างมากข้างน้อยอีกก็ได้

วันนี้ สำนักงานมีตุ๊กตาตัวเลขสัดส่วนอยู่ที่73.4%แล้ว แต่ถ้าเข้า กสท.แล้วบอร์ดไม่เห็นด้วย เรื่องก็ยาว หรือถ้าเห็นด้วยแล้วเอกชนฟ้อง ก็ยาวเช่นกัน สุดท้ายอาจะมีผลต่อการเปลี่ยนผ่านเร็วหรือช้าด้วย ตามทฤษฏีคือ ถ้าอยู่แบบแอนะล็อกแล้วมีประโยชน์มากกว่าเช่นจ่ายค่าธรรมเนียมน้อย ก็คงไม่อยากยุติ

เรื่องนี้ควรจบลงด้วยการยอมปรับเข้าหากันทั้งสองฝ่าย แต่ กสทช. ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ในการอธิบายกับสังคมได้อย่างชัดเจน โปร่งใสด้วยว่าคิดเงินอย่างไร ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มันก็คือรายได้เข้ารัฐ การจะเก็บน้อยหรือมาก ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกฎหมายและอธิบายกับสังคมได้ตามข้อเท็จจริง ที่สำคัญถ้าทางผู้รับใบอนุญาตไม่เห็นด้วยกับการคำนวณสัดส่วน 73.4% ที่ สำนักงาน เสนอตามความเห็นที่ปรึกษาวันนี้ ก็สามารถเสนอวิธีการคิดแบบอื่นมาได้เช่นกัน ถ้าทางช่องแอนะล็อกสามารถคิดวิธีคำนวณรูปแบบอื่นๆที่อธิบายได้ มีฐานอ้างอิงของอุตสาหกรรม แล้วได้สัดส่วนตัวเลขแบบใหม่ กสทช.ก็ยินดีรับฟัง

วันนี้ก็เป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม เพื่อที่ สำนักงานจะรวบรวมและทำบทวิเคราะห์เสนอบอร์ด กสท.ให้มีแนวทางเพื่อพิจารณาต่อไป แนวทางที่เป็นไปได้คือ สำนักงานยืนยันสัดส่วนตามข้อเสนอเดิมให้บอร์ดลงมติ หรือ สำนักงานเสนอแนวทางใหม่ หรือบอร์ดอาจให้ไปหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็ได้ ส่วนตัวแม้จะมีแนวทางวิเคราะห์ในใจมาแล้วบ้าง จากการฟังข้อมูลของที่ปรึกษาซึ่งทำการศึกษาวิเคราะห์มาให้ แต่ก็ยินดีรับฟังแนวทางอื่นๆเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม จุดยืนส่วนตัวของดิฉัน ต้องยืนยันว่าการรับชมผ่านดาวเทียมตามกฎ Must carry คือการรับชมฟรีทีวีดิจิตอลในเงื่อนไขใบอนุญาตใหม่แล้ว เพราะการรับชมทีวีแอนะล็อกคือการรับชม 6 ช่องเดิมผ่านหนวดกุ้ง ก้างปลาแบบแอนะล็อกเท่านั้น ที่ถือว่าได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต‪#‎คหสต.

การรับชมฟรีทีวีผ่านดาวเทียม ถือว่าเข้ากติกาใหม่หลังมี กสทช.เข้ามาจัดระเบียบการประกอบกิจการตามเงื่อนไขใบอนุญาต ที่ต่างจากระบบสัมปทานเดิม สรุป เรื่องนี้ก็คงยังต้องใช้เวลาอีกพอควร ดิฉันเสนอให้ สำนักงาน หาข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากมีเสียงโต้แย้งบางประเด็นวันนี้ แล้วเปิดเวทีรับฟังอีกรอบ

จากนั้นเมื่อฟังความครบถ้วนอีกครั้งแล้ว สำนักงานก็ต้องทำบทวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริงและกฎหมายที่มีอยู่เพื่อเสนอบอร์ด กสท.ให้ลงมติตัดสินในที่สุด ส่วนตัวไม่ได้ตั้งธงว่าจะต้องเก็บเงินค่าธรรมเนียมผู้ประกอบการให้ได้มากเข้าว่า แต่ต้องการเพียงให้เรามีเกณฑ์เปิดเผยโปร่งใสที่อธิบายต่อสังคมได้ มากไปกว่านั้นคือต้องการเห็นการเปลี่ยนผ่านทีวีไปสู่ระบบใบอนุญาตอย่างสมบูรณ์ในเวลาอันไม่นานนักที่วางไว้ตามแผน ซึ่งก็ผูกพันกับการยุติแอนะล็อก

ส่วนตัวก็ไม่ได้อยากใช้ไม้ซีกไปงัดไม้ซุง หรือหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะจากบทเรียนรู้ว่ามันสาหัสมาก จึงอยากให้ทุกฝ่ายใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จากนี้ก็ยินดีรับฟังเหตุผล ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและวิธีการคิดสัดส่วนทางเลือกใหม่เสมอ ฝากทุกช่องให้ส่งเป็นเอกสารเข้ามา ขอในราว 15 วันจากนี้

ปล. ทีวีดิจิตอลช่องใหม่ไม่มีปัญหานี้ เพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเต็มที่ตามสัดส่วนรายได้อยู่แล้ว แต่ช่องเดิมต้องแจงรายได้แยก 2 ระบบ ประเด็นข้อเห็นต่าง ก็มาจากการคำนวณสัดส่วนรายได้ที่แยก 2 ระบบดังกล่าวนั้นเองว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากใบอนุญาตไหน(ระบบไหน)มากว่ากัน รายละเอียดของงานเรื่องสัดส่วนและค่าธรรมเนียมวันนี้ คงต้องให้ กสทช.Thawatchai Jittrapanun อธิบายเพิ่มเติม เพราะเป็นงานด้านเศรษฐศาสตร์โดยตรง…