ดีมากแล้วที่เรายังมีศาลปกครองเป็นคำตอบสุดท้ายตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ไม่ว่าผลสรุปสุดท้ายจะออกมาอย่างไร

A daily report on Friday 17 July, 2015: สรุปงานวันนี้จากมติบอร์ด กสท.นัดพิเศษ กรณีพีซทีวี รวมถึงเล่าสู่กันฟังประเด็นยุติทีวีแอนะล็อก และ อื่นๆจากทวิตเตอร์ค่ะ

Original plan was having work schedule & a field trip in Saraburi but gotta cancel it due to an urgent call for NBTC Broadcast Panel’s meeting re: to a case of PEACE TV after Admin Court ruled out temporarily in favor of PEACE TV to be back on the air while the trial is ongoing.

The result of meeting today, 3 Panel members voted to appeal the case to the Supreme Admin Court while 1 member is absent, 1 is abstained, who is me because I was merely a minority vote in the earlier decision, and I am not sued by the plaintiff in this case. It is also a legal right of my fellow commissioners & Office to defend the case till the end in court. However, I still reserved for the essence of the case & from the decision by Panel earlier. More to follow up then.

สรุปงานวันนี้มาเร็วหน่อยเพราะจะได้ทำอะไรอย่างอื่นที่พักสายตาช่วงดึกบ้าง ประกอบกับวันนี้จริงๆมีงานเวทีต้องไปเรื่องปัญหาโฆษณาอาหารและยาที่สระบุรีและลงพื้นที่ติดตามปัญหาคูปองและสัญญาณทีวีภาคพื้นดิน แต่ต้องยกเลิกเพราะประธานบอร์ด กสท. นัดประชุมด่วน (ขออภัยทาง สสจ. ปณท. องค์กรผู้บริโภค และทุกหน่วยงานในสระบุรี ที่ดิฉันต้องยกเลิกงานนี้)

เมื่อประชุมเสร็จช่วงบ่ายจึงว่าง มีเวลานั่งทำงานอื่น รวมทวิต โพสต์ fb และให้สัมภาษณ์ สรุปประเด็นประจำวันดังต่อไปนี้ค่ะ

17 กค. 58

ประชุมบอร์ด กสท.

เช้านี้จบแล้ว มีวาระเดียวคือเรื่องพีซทีวี PEACE TV หลังคำสั่งศาลปกครองให้ทุเลาคำสั่งหรือคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวานนี้ให้ช่องพีซทีวีกลับมาออนแอร์ระหว่างรอการพิจารณาคดี

วันนี้มีบอร์ด กสท.เข้าประชุม4ท่าน ขาดท่าน Thawatchai Jittrapanun เพราะติดภารกิจงาน กสทช. ที่เชียงใหม่ ผลการลงมติคือ 3เสียงให้อุทธรณ์คำสั่ง 1คนงดออกเสียงนั่นคือข้าพเจ้าเอง วันนี้ดิฉันงดออกเสียง เพราะไม่ได้ถูกฟ้องคดีนี้ด้วย และ เป็นสิทธิ์ของบอร์ด กสท.ข้างมากที่จะขออุทธรณ์ศาลสูงตามกระบวนการ แต่จะทำบันทึกประชุมไว้ย้ำจุดยืนต้นเรื่องไว้เช่นเดิมค่ะ

การที่ดิฉันไม่ได้ถูกฟ้องด้วยเพราะเป็นเสียงข้างน้อยในมติ ดังนั้นวันนี้ดิฉันจะลงมติหนุนหรือค้านการอุทธรณ์คดีของบอร์ด กสท.ข้างมากก็คงไม่ควร จะไม่เข้าประชุมก็ไม่ได้อีก

สรุป จึงงดออกเสียงในวาระนี้ไป แจ้งทุกท่านเพื่อทราบค่ะ เพราะปรกติดิฉันจะไม่งดออกเสียง โดยเฉพาะเรื่องสำคัญ แต่กรณีนี้เป็นการอุทธรณ์คดีของ กสท.ข้างมาก ก็ให้เขาว่าไปตามสิทธิ์

ในแง่กระบวนการ การสู้คดีถึงที่สุดเป็นสิทธิ์ของทุกฝ่ายทั้งรัฐและเอกชน แต่โดยเนื้อหาของคดี เมื่อเห็นต่างแต่ต้น ก็จำเป็นต้องยืนความเห็นต่างเดิม เนื่องเพราะคดีนี้มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดด้วยและอาจมีคดีอาญาตามมาอีก กรรมการแต่ละคนจึงจำเป็นต้องรอบคอบในการบันทึกความเห็นในที่ประชุม

จริงๆกรรมการทุกคนต้องเข้มงวดและรอบคอบในการบันทึกความเห็นไว้ในรายงานการประชุมอยู่แล้ว เพื่อการต่อสู้คดี โดยเฉพาะทางอาญาและแพ่งที่อาจมีมา แต่เมื่อเรื่องนี้ถึงศาลแล้ว และดิฉันก็เคยทวิตและเปิดเผยความเห็นต่างเป็นเอกสารกรณีนี้ไปหมดแล้ว คงไม่โพสซ้ำลงรายละเอียดอีก รอดูกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป

วันนั้นที่เราเป็นเสียงข้างน้อยในเรื่องนี้ที่เป็นประเด็นการเมืองละเอียดอ่อน ก็มีคนต่อว่าเราว่าเยอะ แต่วันนี้เราก็มีความเห็นตุลาการเป็นหลังพิง อย่างไรก็ตาม บอร์ด กสท.เสียงข้างมากยังสู้ต่อได้ถึงขั้นศาลปกครองสูงสุด เพราะคดียังไม่สิ้นสุด จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับศาลสูงจะพิจารณาต่อไป

‪#‎คหสต. ดีมากแล้วที่เรายังมีศาลปกครองเป็นคำตอบสุดท้ายตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน โดยเฉพาะในภาวะแบบนี้ ไม่ว่าผลสรุปสุดท้ายของคดีจะออกมาอย่างไร

ปล. สำนักงาน แจ้งว่าคำสั่งของตุลาการศาลปกครองกลางกรณีช่องพีซทีวีเมื่อวานนี้ออกมาเอกฉันท์ หัวหน้าองค์คณะตุลาการคือท่านที่พิจารณาคดีของ กสทช.หลายเคสสำคัญที่ผ่านมาด้วย

…………………….

กรณีไทยทีวี

จากคดีพีซทีวีมาถึงคดีไทยทีวีบ้าง วันอังคารหน้าศาลนัดคู่กรณีสองฝ่ายครั้งที่สอง  ดิฉันจะไปศาลเอง เพราะคดีไทยทีวี-ทีวีดิจิตอล ดิฉันถูกฟ้องด้วย ถ้าคดีใดเป็นคดีใหญ่แล้วตนเองถูกฟ้องด้วย ดิฉันจะไปศาลเอง โดยเฉพาะนัดสำคัญ ไม่อยากมอบอำนาจให้สำนักงาน เพราะเราเป็นคนลงมติ เราควรอธิบายต่อศาลเอง

วันอังคารหน้า ศาลปกครองนัดคู่กรณีไทยทีวี กับ กสทช. ส่วนในวันจันทร์บ่าย หลังประชุมบอร์ด ทาง สำนักงานได้เชิญตัวแทนไทยทีวีมาพูดคุยที่ สำนักงานก่อน ตามมติบอร์ด กสท.

คดีไทยทีวีซึ่งเป็นฟรีทีวีฟ้อง บอร์ด กสท. ก็ควรระมัดระวัง ทำกระบวนการให้ความเป็นธรรมตามขั้นตอนก่อน ถ้าเอะอะจะยึดแบงค์การันตี ศาลอาจคุ้มครองเอกชนก็ได้ เว้นแต่บอร์ด กสท. ให้โอกาสตามกระบวนการแล้ว แต่ทางเอกชนไม่พิจารณา หรือไม่ทำตามกฎกติกาใดๆเลย ก็จะเป็นเหตุผลที่ กสทช. สามารถใช้ชี้แจงต่อศาลได้

กระบวนการทางปกครองในการใช้อำนาจของ กสทช. มีความสำคัญมาก เพราะเราไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ที่จะใช้อำนาจเต็มที่ก็ใช้ได้เลย ถ้าพลาดขึ้นมาศาลก็อาจคุ้มครองเอกชนได้ และเราก็ถูกเอกชนฟ้องแพ่งและอาญาฐานละเมิดได้ด้วย ดังนั้นคดีกับบริษัทไทยทีวีที่ผ่านมา บอร์ด กสท.ยืนยันว่า เราไม่ได้ปักธงว่าจะยึดหลักประกันธนาคารไทยทีวีทั้งหมดในวันนี้พรุ่งนี้ ที่ผ่านมาบอร์ดจึงมีมติให้เวลาอีก 30 วัน รวมทั้งให้มีมาตรการแจ้งประชาชน และ การแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนคั่งค้างต่างๆ

คดีนี้ดิฉันไปศาลด้วยตนเองเพื่อจะอธิบายให้ศาลท่านฟังว่า เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีทางออกอื่นๆให้ผู้รับใบอนุญาต และ สุดท้ายก็ยินดีรับข้อแนะนำของศาลในการเจรจาในคดีที่ยังไม่สิ้นสุด ศาลท่านยังไม่ได้ตัดสินว่าใครถูกใครผิดในตัวเนื้อคดี เพราะต้องใช้เวลาในพิจารณาฟังความทุกฝ่ายอย่างรอบข้าง แต่เบื้องต้นศาลปกครองท่านจะดูกระบวนการใช้อำนาจของรัฐหรือ กสทช. ก่อนว่าชอบไหม

ดังนั้น *กระบวนการทางปกครอง* เรื่องการใช้อำนาจภายใน กสทช. ทั้งการลงมติของ กสท. และ การบังคับใช้ของ สำนักงาน จึงสำคัญไม่แพ้ผลการลงมติปลายทางถ้าเรื่องนั้นไปถึงศาลแล้ว

……….

กรณีการยุติทีวีแอนะล็อก

ตอนนี้แผนการยุติแอนะล็อกในปี 2561 จะประสบความสำเร็จจริงๆหรือไม่ ปัจจัยหนึ่งขึ้นอยู่กับความยินยอมพร้อมใจของช่อง 3 และ ช่อง 7 ด้วย เวลานี้ฟรีทีวีของรัฐทั้ง 4 ช่อง คือ 5 – 9 – 11 และไทยพีบีเอส (โดยเฉพาะที่เป็นผู้ถือสัญญาสัมปทานเอกชน เช่นกองทัพบกและ อสมท.) มีข้อตกลงกับ กสทช.แล้วจะพร้อมใจกันยุติในปี 2561

จากนี้ กสทช. ก็รอเพียงเอกชนคู่สัมปทานทางช่อง 3 และช่อง 7 ยื่นแผนการยุติทีวีแอนะล็อกเข้ามาสมทบตามกระบวนการ และขอฝากให้กองทัพบก และ อสมท.คุยกับคู่สัญญาสัมปทานด้วย จะได้แผนของทั้ง 6 ช่องพร้อมเพรียงกัน

วันจันทร์ที่ 27 ก.ค. 2558 ประธาน กสท.งดประชุมบอร์ด กสท. แต่ สำนักงานจะจัดเวทีเชิญทางช่องแอนะล็อกมาหารือ เรื่องอัตราการคิดค่าธรรมเนียมทีวีในระบบแอนะล็อก กรณีการคิดอัตราสัดส่วนค่าธรรมเนียม2%ที่ช่องแอนะล็อกเอกชนต้องจ่ายรายปีให้ กสทช. อาจมีผลต่อทิศทางการตัดสินใจยุติทีวีแอนะล็อกของช่องเดิมเช่นกัน

ปัจจุบันนี้บางช่องแอนะล็อกที่เป็นเอกชนเดิม (ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2%) แจ้งสัดส่วนคนที่รับชมในระบบแอนะล็อกล้วนๆว่ายังสูงอยู่มาก ซึ่งอาจขัดข้อเท็จจริง เพราะการรับชมฟรีทีวีช่องเดิมผ่านระบบดาวเทียมและเคเบิลตามกฎ Must Carry ของ กสทช. ถือว่าเป็นสัดส่วนการรับชมผ่านระบบดิจิตอล (ใบอนุญาต กสทช.ใหม่แล้ว) ไม่ใช่ระบบสัมปทานเดิมที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม

แต่ประเด็นพิพาทคือการคำนวณสัดส่วนอัตราการรับชมผ่านแอนะล็อก/ดิจิตอลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เรื่องนี้บอร์ด กสท.ยังมีแนวทางที่ต่างกันอยู่ แต่ข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริงที่เราต้องหาตัวชี้วัดกันว่าคนดูทีวีส่วนใหญ่ผ่าน platform ไหนมากกว่าคงจะได้ถกร่วมกันใน focus group ที่ สำนักงานจัด

ตั้งแต่เรื่องสัดส่วนค่าธรรมเนียมที่สัมพันธ์กับการรับชมและเกี่ยวพันกับแผนยุติแอนะล็อกของทุกช่อง รายละเอียดเพิ่ม รอฟังความเห็นจาก ดร. ธวัชชัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมค่ะ

ปีก่อน กสทช. ให้ยุติทีวีแอนะล็อกบนช่องดาวเทียมไปแล้ว ทดแทนด้วยการออกคู่ขนาน และ กฎ Must carry ที่ให้ช่องฟรีทีวีทั้งหมดไปออกบนดาวเทียมได้โดยโฆษณา 10 – 12 นาที ในขณะที่ดาวเทียม เคเบิล โฆษณาได้ 6 นาที
ส่วนต่อจากนี้คือแผนการนับถอยหลังการยุติทีวีแอนะล็อกภาคพื้นดิน

การยุติทีวีแอนะล็อกภาคพื้นดินนั้น ทำได้ช้ากว่าการยุติทีวีแอนะล็อกผ่านดาวเทียม  เพราะต้องรอให้โครงข่ายเสาส่งภาคพื้น (MUX) ครอบคลุม95% ตามแผน 4 ปี ตอนนี้ผ่านมาปีที่ 2 แล้ว ยังต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป

หมายเหตุ : วันนี้ 17 ก.ค.แล้ว ต้องให้ สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการโครงข่าย MUX ทั้ง 3 รายวางโครงข่าย 6 สถานีเสริมที่ตกค้างตามเฟสปีที่ 2 เสร็จทัน 15 ก.ค.ไหม ตามคำสั่งบอร์ด กสท.ไหม ถ้าไม่ทันผู้ให้บริการโครงข่ายก็ต้องโดนปรับเป็นรายวันจนกว่าเสร็จทั้ง 3 รายคือ กองทัพบก อสมท. และ ไทยพีบีเอส

ไว้มาอัพเดทกันต่อ ขอให้ทุกท่านได้พักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ กลับมารายงานจับตาวาระประชุมบอร์ด กสท. ใหม่คืนวันอาทิตย์ค่ะ

More soon. Have a nice weekend.