ลงพื้นที่ติดตามปัญหาคูปอง และ ตรวจคุณภาพสัญญาณดิจิตอลทีวี ที่จังหวัดกาญจนบุรี

Summary of yesterday from a field trip in Kanchanaburi as explained below.
สรุปการลงพื้นที่ติดตามปัญหาคูปอง และ ตรวจคุณภาพสัญญาณดิจิตอลทีวี
ที่จังหวัดกาญจนบุรีในวันศุกร์ 10 กรกฎาคม 2558 ดังนี้ค่ะ

Following up the complaints on digital tv’s cash coupon (not) delivered by Post Office because of regular & irregular causes such as community leaders being accused of holding the cash coupon and literally forcing householders to take a particular brand of set-top boxes.

Then checking up digital tv signal, in the area where the networks are required in the 2nd year, by testing with technical devices & really checking in the houses there.
The result is great but with a must of higher antenna. More to advocate in the provinces nationwide why antenna is needed for households on accessing digital TV, after many have already set up satellite dishes. However, eventually it is a matter of choices people can take what they prefer; free-to-air terrestrial tv or pay TV (sat&cab). NBTC set DTT (48 channels of 12 public service, 12 commercial service – 12 community service 12 channels) as a basic infrastructure for Thai householders in Master Plan.

Still a long way to go for ASO & DSO.

ภาพรวมคูปองคงค้างในพื้นที่กาญจนบุรีก็คล้ายกับทั้งประเทศคือ ยังค้างอยู่ที่ทำการไปรษณีย์ราว 8-10 % เพราะบ้านไม่มีผู้รับจดหมายลงทะเบียน รอเจ้าบ้านมาใช้สิทธ์ที่ทำการ ปณ. ลงพื้นที่พร้อมกับตัวแทนไปรษณีย์ไทย และ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามาถึงปัญหาการแจกคูปอง โดยได้พูดคุยกับ 3 ฝ่าย คือ ตัวแทนผู้บริโภคที่ร้องเรียน ที่ทำการไปรษณีย์เอกชน และ ผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่ถูกร้องเรียน พบว่าทั้งสามฝ่ายให้ข้อมูลแตกต่างกัน

ฝั่งผู้บริโภคยืนยันว่า ทางไปรษณีย์เอกชน (ปณอ.) ในชุมชนไม่มาส่งคูปอง แต่มีผู้นำชุมชนให้ไปรับกล่องที่บ้านแทน แม้ทางผู้บริโภคจะขอคูปองเพื่อไปแลกกล่องรายอื่นก็ไม่ได้

ฝั่งตัวแทนไปรษณีย์ในระดับนโยบายยืนยันว่าไม่มีการให้ผู้นำชุมชนนำคูปองไปเก็บไว้ในลักษณะเช่นนั้น ส่วนพนักงานในพื้นที่ก็ยืนยันว่าไม่มีกรณีที่ผู้นำชุมชนมาขอคูปองไปแจกเองและไม่มีตัวแทนบริษัทขายกล่องมาติดต่อ

ฝั่งผู้นำชุมชนก็ปฏิเสธว่าไม่มีกรณีแบบนั้นเกิดขึ้น เป็นไปไม่ได้ มีแต่ชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับคูปองแล้วมาขอให้ช่วยนำคูปองไปแลกกล่องในเมืองให้ หรือเขาอาสาไปแลกให้แทน …

3 ฝ่าย 3 ข้อมูล ในกรณีไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปถ่ายหรือคลิปชัดเจน ก็ยากจะสรุปว่าสุดท้ายเป็นเช่นไรจริงๆ แต่ก็ได้ขอให้ทางไปรษณีย์จังหวัดตรวจสอบเอกสารการเซ็นรับคูปองของเจ้าบ้านดังกล่าว เพราะทางผู้ร้องเรียนยืนยันว่าไม่เคยมีการเซ็นรับคูปอง

ผลการตรวจสอบในกรณีนี้เป็นอย่างไรจะแจ้งต่อไป เพราะมีสื่อมวลชนลงพื้นที่ด้วย และ ได้มีการเจาะข่าวในเรื่องนี้ต่อ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนและห้ความเห็น ก็เสียสละมาก เพราะเปิดตัวร้องเรียน ส่วนคนถูกร้องเรียนก็อยู่ในพื้นที่ด้วย ก็เป็นห่วงสวัสดิภาพ คงต้องขอให้สื่อมวลชนช่วยระวังแหล่งข่าวด้วยความเหมาะสม แม้เจ้าตัวจะยินดีเปิดเผยตัว

ทางการไปรษณีย์แจ้งว่า ถ้าพบว่ามีทางพนักงานไปรษณีย์ในพื้นที่ทำผิด ก็จะมีการตรวจสอบและลงโทษทางวินัยต่อไป

ส่วนฝั่ง กสทช. ก็จะให้ สำนักงาน ตรวจสอบบริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของกล่องดังกล่าวที่ผู้ร้องบอกว่าผู้นำชุมชนบังคับแลกด้วย ก็จะทำให้กระบวนการขึ้นเงินคูปอง เพื่อจ่ายกลับไปให้ภาคเอกชนที่ขายกล่องล่าช้าออกไปอีก ทุกวันนี้ก็ช้าอยู่แล้ว เพราะมีปัญหาลักษณะดังกล่าว ทาง สตง.จึงเสนอให้มีการตรวจสอบเอกสารทุกชิ้น

นี่คือต้นทุนมหาศาลที่สังคมต้องเสียไปจากระบบที่ไว้ใจกันไม่ได้ และ วัฒนธรรมที่พร้อมจะล้ำเส้นกฎกติกา หรืออาจมีการแสวงประโยชน์จากกลุ่มต่างๆ เมื่อมีเรื่องเงินทองมาเกี่ยวข้อง มุมหนึ่งก็สะท้อนวัฒนธรรมอุปถัมภ์ของไทย อีกมุมก็สะท้อนความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมาย อีกมุมบางเรื่องที่ไม่ปรกติแต่ก็ถูกทำให้เป็นสิ่งปรกติไปแล้ว

หลังจากนี้จะให้ สำนักงาน ขอนัดหารือกับทางกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือในการกำชับผู้นำชุมชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ในการไม่ทำสิ่งที่ขัดกฎ กติกาของ กสทช. ในเรื่องการแจกคูปอง คือต้องให้ไปรษณีย์ส่งคูปองถึงครัวเรือนประชาชน ไม่ควรมีคนมัดมือชกกักเก็บคูปองไว้ แต่ถ้าคูปองถึงมือประชาชนแล้ว จะมีใครช่วยทำการตลาดให้กับเอกชนผู้ขายกล่อง แล้วผู้บริโภคเต็มใจก็คงว่ากันไม่ได้ แต่ถ้าคูปองไม่ถึงมือ แต่ถ้ามีคนอื่นนำไปแจกแทนแบบบังคับแลกอีก ความรับผิดชอบก็ต้องอยู่ที่ไปรษณีย์ไทยด้วย

ลงพื้นที่มาหลายครั้ง ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาวังน้ำวนจริงๆ ระหว่าง กสทช. ไปรษณีย์ และ ผู้นำชุมชน ซึ่งพื้นที่ที่อยู่ในข่าวก็จะมีการติดตามต่อ แต่ ทั้งประเทศไทยก็กว้างใหญ่มาก ปัญหาเกิดขึ้นทุกที่ คงไม่สามารถตามติดไปทุกที่ได้ แต่ก็จะหาเวลาไปลงพื้นที่อีก อย่างน้อยก็ช่วยกระตุ้นการแก้ปัญหาของทุกฝ่ายได้

……

นอกจากไปติดตามเรื่องปัญหาคูปองแล้ว ยังได้โอกาสไปตรวจคุณภาพสัญญาณในบางพื้นที่ด้วย พบว่ามีสัญญาณในพื้นที่ของสถานีหลักที่กำหนดการวางโครงข่ายในปีที่สอง

การตรวจสัญญาณครั้งนี้ไม่มีตัวแทนจากผู้ให้บริการโครงข่ายฯ MUX แต่ใช้รถตรวจสัญญาณของ สำนักงาน กสทช. และใช้วิธีการตรวจแบบบ้านๆ คือเข้าไปดูในบ้านคนในชุมชนนั้นเลย ผลคือสัญญาณรับได้ครบทุกช่องในเขตชุมชนวังจาน แต่ต้องใช้สายอากาศระดับสูง เพราะไกลจากเสาส่ง จุดนี้เป็นจุดอ่อนที่ กสทช. ไม่ได้รณรงค์ให้ข้อมูลประชาชนว่าการดูทีวีดิจิตอลในระยะแรก นอกจากใช้กล่องเพื่อแปลงสัญญาณแล้ว ในการรับภาคพื้นดินต้องใช้สายอากาศด้วย แต่สายอากาศในระบบดิจิตอลจะเล็กและรกน้อยกว่าสายอากาศในระบบแอนาล็อก

คงต้องให้ สำนักงาน ย้ำและรณรงค์กับประชาชนต่อเนื่องว่า สิ่งสำคัญอันขาดไม่ได้ในการเข้าถึงทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินช่วงแรก คือ *สายอากาศ* จนกว่าสัญญาณในจุดเสริมจะครอบคลุมในบางพื้นที่แล้วไม่ต้องใช้สายอากาศ เพราะสัญญาณฉ่ำจนพัฒนาเป็นทีวีมือถือหรือ mobile TV ได้

แต่ในพื้นที่ห่างไกล ก็ยังต้องใช้สายอากาศอยู่ดี ประเด็นนี้คือสิ่งที่หายไปในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลกับประชาชน ซึ่งต้องทำมากขึ้นในปีนี้ เช่นจะมีโครงการร่วมกับอาชีวศึกษา และ กองทัพบก เพื่อลงพื้นที่เคาะประตูบ้านชี้แจงประชาชนแบบปูพรม รวมถึงการให้มีช่วงเทคนิคช่วยแนะนำและติดตั้งการจูนสัญญาณให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลด้วย

ปัญหาน่าเศร้าอีกอย่างหนึ่งคือ สำนักงาน แจกคูปองไปทั่วประเทศแล้ว (ส่วนตัวไม่เห็นด้วยให้แจกไปหมดแบบปูพรม แต่ค้านไม่สำเร็จ) แต่บางพื้นที่สัญญาโครงข่ายทีวีดิจิตอลยังไปไม่ถึง และ กสทช.ก็ไม่ได้ทำประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงว่าสัญญาณจะไปถึงเมื่อใด ดังนั้นประชาชนก็เคว้งคว้าง สับสน และเปิดช่องให้คนหาประโยชน์นอกกติกา ดังนั้นต้องมีการรณรงค์ทำความเข้าใจเชิงลึกให้ทั่วถึงมากกว่านี้

ต่อไปเราจะมีแคมเปญ ประกวดภาพถ่ายสายอากาศทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ให้คนดูแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าถึงและรับชม จะมีของที่ระลึกเล็กน้อย ในโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ดิจิตอลทีวีสำหรับทุกคน และ ทุกคนเพื่อดิจิตอลทีวี DigitalTV4All (Dtv4All) All4DigitalTV (All4Dtv) จะขอความร่วมมือจากผู้มีชื่อเสียงจากวงการต่างๆให้เป็น พูดถึงประสบการการรับชมดิจิตอลทีวีด้วย ทั้งในแง่เทคนิคยากง่าย คุณภาพความคมชัด และ เนื้อหาสาระที่มีทางเลือกมากกว่าเดิมหรือไม่อย่างไร เป็นต้น

อาจจะขอรบกวนเพื่อนในนี้ช่วยร่วมแคมเปญนี้ด้วยค่ะ เป็นการทำงานรณรงค์ที่จะใช้งบให้น้อยที่สุด แต่ได้ผลระดับหนึ่ง ไว้มีความคืบหน้าของกิจกรรมเพิ่มเติม จะมาอัพเดทต่อไปค่ะ

รอบนี้ทริปกาญจนบุรี ขอขอบคุณเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ที่ช่วยประสานงาน  ขอบคุณทางไปรษณีย์ไทย และ เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ขอบคุณทีมงานข้าพเจ้า ทีมจากสำนักด้านดิจิตอลทีวี และ สำนักประชาสัมพันธ์ กสทช.
ที่ประสานงานนี้กันเต็มที่และเหนื่อยกันพอควร แต่ก็เป็นหน้าที่เรานะ สู้ต่อไปค่ะ

รวมถึงขอบคุณทีมนักข่าวสื่อมวลชนทุกสำนักที่สนใจติดตามและเกาะติดการแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ ปกป้องสิทธิ์ผู้บริโภค และ กระตุ้นทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาให้ดีขึ้น

ส่วนการลงพื้นที่ครั้งหน้า จะรายงานต่อไปค่ะ

ปล. ยังพบข้อมูลว่าพื้นที่ในอำเภอไทรโยคบางส่วน ชาวบ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขามีสิทธิ์ได้รับคูปอง แต่ไม่มีทีวีดู เราจะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไรดี…