26 มิ.ย. 58
สรุปงานวันนี้ ได้รับเรื่องร้องเรียนละคร ร้อยเล่ห์เสน่ห์ร้ายช่อง ONE ที่มีฉากข่มขืน ผลิตซ้ำคติความรุนแรงแต่เช้า ต่อด้วยงานอบรมสื่อกับการทำหน้าที่เรื่องรายงานภัยพิบัติ โรคระบาด ต่อด้วยการหารือกับตัวแทน CASBAA และประชุมภายในกับ สำนักงานเรื่องแก้ปัญหาคูปอง ตามรายละเอียดข้างล่างค่ะ
A long summary of my work today in a training session with reps from media operators on knowledge & Code of Practice for disaster & emergency.
A meeting with rep from CASBAA on media landscape in Thailand and competition btw DTT & Pay TV industries. Then a meeting with Office staffs finding a way to solve issues over coupon for digital TV set-top boxes, such a headache indeed.
Call it a week but more to come!
เรื่องร้องเรียนละครช่อง One ส่งเรื่องให้ สำนักงานส่งต่อให้ช่องตรวจสอบแล้วค่อยส่งให้องค์กรวิชาชีพ ส่วนกระบวนการกฎหมายก็ต้องส่งให้ สำนักงาน ส่งต่ออนุเนื้อหาฯ เพื่อกลั่นกรองต่อไปเหมือนกรณีอื่นๆ ไว้มาอัพเดทเพื่อทราบต่อไปค่ะ
วันก่อนประชุมร่วมกับช่องทีวีแนะแนวเรื่องการจัดเรท ได้เสนอ สำนักงานทำเพจกลางและแอพฯ เพื่อให้คนดูร่วมตรวจสอบการจัดเรทละครทุกช่องด้วย รวมทั้งมีการจัดตั้ง Line กลุ่มของทีม
ตรวจสอบเนื้อหาหรือที่เรียกว่าฝ่ายเซ็นเซอร์ของทีวีทุกช่อง ในการสื่อสารแลกเปลี่ยนโต้แย้งกันด้วย
ระบบของกฎหมายคือ ให้แต่ละช่องกำกับการจัดเรทด้วยตนเอง ถ้ามีเรื่องร้องเรียน กสทช.จะตัดสิน แต่ให้ดีควรให้คนดูร่วมตรวจสอบอย่างมีส่วนร่วมด้วย อ่านประกาศ กสทช. และคู่มือแนวทางการจัดเรทความเหมาะสมรายการโทรทัศน์ได้ที่นี่ค่ะhttps://broadcast.nbtc.go.th/…/academ…/file/570500000001.pdf
วาระการประชุมบอร์ด กสท.จันทร์นี้มาแล้ว ไว้ค่อยมาสรุปประเด็นคืนวันอาทิตย์เช่นเดิมค่ะ แต่เรื่องใหญ่คงเป็นวาระเรื่องหุ้น SLC ใน NMG ที่ค้างคาจากมติที่คลุมเครือคราวก่อน รอบนี้บอร์ด กสท.คงพิจารณาได้ชัดขึ้นกระมัง ส่วนตัวก็คงยืนตามที่เคยลงมติไว้ว่าการถือหุ้นเกินร้อยละ10ในช่องข่าวขัดกฎ
ส่วนสรุปงานวันนี้ ช่วงเช้าเปิดงาน สัมมนาให้ความรู้สื่อเรื่องแนวทางการนำเสนอข่าวสารในภาวะภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน ซึ่งรวมการมีโรคระบาดด้วย ขอบคุณ กสทช.ประวิทย์(กทค.) ซึ่งเป็นนายแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด เมื่อเช้าให้เกียรติมาเป็น keynote ให้ความรู้และแนะนำการทำงานของสื่อด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื่อไวรัส MERS ซึ่งคุณหมอบอกว่าประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ดีระดับหนึ่ง (คือคุมได้ไวมากกว่าที่เกาหลีใต้) แม้ว่าไวรัสMERSจะมีความเสี่ยงต่อชีวิตสูง แต่อัตราการติดก็อยู่ระดับ 0.7
องค์การอนามัยโลกยังไม่นับเป็นโรคที่ฉุกเฉินเหมือนอีโบล่าและอื่นๆ อย่างไรก็ตามประเทศไทยเน้นการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์(Mediacal Hub) ที่คนทั่วโลกนิยมบินมารักษา ดังนั้นเราก็มีความเสี่ยงกับภาวะโรคติดต่อข้ามชาติ
หลักการสำคัญในการป้องกันตนเองพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขย้ำก็คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ก็ควรทำให้เป็นนิสัยคนไทย แม้ไม่มีโรคระบาด ส่วนใครที่รู้ตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้ามีอาการก็ต้องพบแพทย์ทันที ส่วนแพทย์และบุคคลากรในโรงพยาบาลกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องระวังมากกว่าคนทั่วไป
หลักสำคัญในการทำหน้าที่ของสื่อก็คือ ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบคอบจริงๆ ไม่กระพือข่าวลือ และเน้นให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของคน
นอกนั้นสื่อก็ควรทำการบ้านค้นหาความรู้ เช่นรู้ว่าแหล่งโรคจากไหน เชิงซ้อนทางไหน ติดอย่างไร โดยการสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญที่มีหน้าที่จริงๆ
คุณหมอบอกว่าข่าวที่ส่งต่อเล่นกันใน Line ว่าถ้าไม่หายใจก็ไม่ติด ซึ่งก็ไม่ใช่ เพราะจริงๆมันติดกันทางสารคัดหลั่ง ทางมือ เยื่อเมือก เป็นต้น
การระบาดต่อของไทยน่าจะคุมได้เร็ว เพราะหมอ พยาบาลเรารู้ตัวเร็ว มีการกักตัวกันแพร่ระบาด ต่างจากเกาหลีใต้ที่รู้ช้า หมอ พยาบาลติดกันเพียบ จากระยะเวลาฟักเชื้อ 14 วัน จากนี้เหลืออีก 5 วัน ถ้าไม่มีผู้ติดเชื้อต่อจากรายแรกที่พบในไทย ก็น่าจะเบาใจได้ในระดับหนึ่ง ก็ฝากสื่อให้ความรู้กับสังคมด้วย
วันนี้ขอบคุณ คุณหมอประวิทย์ กสทช. ด้านโทรคมนาคม (กทค.) ที่เรียนด้านเวชศาสตร์โรคติดต่อมาพอดี ที่มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับสื่อด้วยค่ะ
จากนั้นก็ต่อด้วยทีมใหญ่จากกรมอุตุนิยมวิทยา วันนี้ระดับรองอธิบดีทั้ง 2 ท่านและผู้อำนวยการสำนัก มาบรรยายให้ข้อมูลเชิงลึกกับสื่อ ที่ กสทช. เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการรายงานข่าวเรื่องแผ่นดินไหว การเตือนภัยสึนามิ และ การพยากรณ์อากาศต่างๆ หวังว่าสื่อจะได้ความเข้าใจมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานเช่นการเรียกขนาดของแผ่นดินไหว
ซึ่งทาง สำนักงานกสทช.จะทำจดหมายเวียนให้เรียกขานถูกต้อง คือใช้ว่า *ขนาด …* (ไม่มีริกเตอร์ต่อ) รวมไปถึงความเข้าใจในคำศัพท์เฉพาะต่างๆเช่น *ลมพัดสอบ *รอยเลื่อนมีพลัง *ฝนตกน้อย *ปานกลาง *มาก เพื่อจะได้อธิบายคนรับสื่อต่อได้เข้าใจมากขึ้น
แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องภัยพิบัติเช่นแผ่นดินไหว แต่ทางการให้อำนาจทางกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นคนออกข่าวก่อน หน่วยอื่นลงจุดแยกย่อย
กสทช. ออกแนวทางการทำหน้าที่ของสื่อในภาวะภัยพิบัติไว้แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตยึดตามแนวทางนั้น หลักๆคืออ้างแหล่งข่าวทางการและเป็นวิทยาศาสตร์
ทาง สำนักงาน กสทช.จะทำบันทึกเวียนถึงทุกช่องเช่นกันให้ระมัดระวังการกระพือข่าวลือเกี่ยวกับภัยพิบัติ หมอดูเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ขอให้อิงวิทยาศาสตร์
ส่วนการรายงานข่าวพยากรณ์อากาศของทีวีดิจิตอล ที่แข่งขันกันมีสีสันมากขึ้น ทางกรมอุตุฯ ไม่ได้ติดใจการใส่สีสัน แต่ขอให้ยึดข้อมูลถูกต้องเป็นสำคัญ
สรุป ขอให้สื่อใช้คำให้ถูกต้องแต่ย่อยให้เข้าใจง่ายแบบไม่บิดเบือน ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งทางการ เน้นวิทยาศาสตร์ไม่กระจายข่าวลือ
วันนี้ขอขอบคุณทางคณะผู้บริหารกรมอุตินิยมวิทยา ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนกับตัวแทนผู้รับใบอนุญาตสื่อที่ กสทช.จะมีเวทีซักซ้อมความเข้าใจเป็นระยะ
ช่วงบ่าย เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของสื่อกันเองนำโดยทีมจาก @ThaiPBS ดิฉันไม่ได้อยู่ฟังตลอด ก็ขอบคุณเช่นกันที่ให้เวลามาแนะแนวสื่ออื่นค่ะ อ่านประกาศ กสทช. ว่าด้วยแนวทางการทำงานของสื่อในภาวะภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินได้ที่นี่ค่ะ https://broadcast.nbtc.go.th/…/…/law/doc/th/560400000014.pdf
ประกาศเยอะแยะไปหมด ส่วนใหญ่ใช้กับทีวีดิจิตอลด้วย เห็นใจเหมือนกัน แต่เพราะเป็นฟรีทีวี ภาระเยอะกว่าเพย์ทีวีในประเด็นประโยชน์สาธารณะ#สู้ๆ
อย่างไรก็ตามถ้าเป็นการนำเสนอข่าวสารภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน สื่อวิทยุ ทีวีอื่นๆที่ไม่ใช่ฟรีทีวี ก็ต้องมีแนวปฏิบัติเคร่งครัดเช่นเดียวกัน กรณีโฆษณาอาหารและยา กสทช. ก็จะอิงกฎหมายของ อย. กรณีภัยพิบัติ กสทช. จะอิงหน่วยงานราชการอาทิ กรมอุตินิยมวิทยา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นต้นค่ะ
กสทช. มีอำนาจกำกับการประกอบกิจการสื่อ แต่เราไม่มีอำนาจตาม กม.เฉพาะด้าน ดังนั้นก็ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่กำกับดูแลด้านต่างๆ ในมิติด้านสังคม ผู้บริโภค ประโยชน์สาธารณะ ดิฉันจะให้ สำนักงานจัดเวทีแลกเปลี่ยนซักซ้อมความเข้าใจต่อประกาศและแนวปฏิบัติต่างๆกับผู้รับใบอนุญาตเป็นระยะ
……
บ่าย มีประชุมนอกรอบกับทีมสำนักงานเพื่อฟังแนวทางการแก้ปัญหาคูปองแลกกล่องที่ถูกรุมเร้าหลายมิติ สำนักงานมาขายไอเดียใหม่เรื่องอีคูปอง(e-coupon) ฟังหลักการเบื้องต้นก็พอเข้าใจได้ แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องเคลียร์กัน ถ้า สำนักงานจะเสนอแนวทางใหม่ในการแจกคูปองให้บอร์ดพิจารณาก็ต้องถกกันยาว
สำนักงานเสนอแนวทางการใช้ e-couponเพื่อบอกว่าจะแก้ปัญหาคูปองไม่ถึงมือประชาชนและการจ่ายเงินให้เอกชนล่าช้า แต่ก็ต้องระวังปัญหาใหม่ที่อาจเกิดด้วย
ดิฉันเสนอให้ สำนักงานนำแนวคิดการจะทำ e-coupon เข้าคณะทำงานร่วม 5 สายเพื่อถกเถียง กลั่นกรองร่วมกันก่อนที่จะเสนอบอร์ด กสท. ลงมติ
กรณีเรื่องร้องเรียน จนท.ปณท.กับผู้นำชุมชมเก็บคูปองไว้เอง วันนี้ได้ขอให้ สำนักงานช่วยเชิญตัวแทนไปรษณีย์ไทยมาแถลงการณ์ตรวจสอบสอบจากเคสจริงๆร่วมกัน รวมทั้งขอให้ทาง สำนักงานเขต กสทช.ช่วยลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย จากนั้น สำนักงานควรสรุปปัญหาแล้วดำเนินการทางกฎหมายหรือเสนอบอร์ดให้มีมติต่อไป
ดิฉันขอให้ สำนักงานประสานเพื่อขอไปพบกับผู้บริหารกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือผู้นำชุมชนไม่ทำสิ่งที่ขัดกฎหมายกรณีกักเก็บคูปองด้วย
สำนักงานจะมีฐานข้อมูลแบบ real time การแลกคูปองว่าเท่าไหร่ จุดไหน ตำบลใดแบบละเอียด ซึ่งบอร์ดไม่มี เราจะรับรู้จากข้อมูลสรุปให้ผู้บริหารเป็นหลัก
จริงๆงานบอร์ดนโยบาย กับ งานบริหารของสำนักงานก็แยกกัน บอร์ดก็ไม่ควรไปจุกจิกกับการทำงานรายวันของ สำนักงานมาก แต่ถ้ามีปัญหาก็ต้องช่วยแก้/กระตุ้น
หลายเรื่องก็ยอมรับว่า ดิฉันตามไปจุกจิกในการทำงานระดับสำนักงานมากพอดู แต่ก็เพราะหวังดี อยากติดตามงานให้เกิดผลอย่างที่สังคมคาดหวัง
จริงๆก็อยากลดงานจุกจิกลง ปล่อยให้ สำนักงานทำไป ตนเองจะได้มีเวลามาคิดเรื่องงานนโยบายภาพกว้าง และมองไปข้างหน้าให้มากขึ้น
ปัญหาคือฝั่ง กสท. ยังไม่มี รองเลขาธิการ ตัวจริงมาหลายปี จึงไม่มีใครทำงานบริหารแทนบอร์ด ที่ผ่านมา ให้ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายต้องมารักษาการ ซึ่งงานโหลดมาก ดังนั้นแทบทุกงานสำคัญบอร์ดต้องลงมาติดตามภาคปฏิบัติด้วยตัวเอง และ นั่งเป็นประธานการประชุมในระดับสำนักงานด้วยตนเองด้วย ไม่ทำก็ไม่ได้ กลัวงานหลุด
….
วันนี้ยังมีนัดคุยกับMr. John Medeiros ผู้บริหารด้านนโยบาย CASBAA ที่มาขอหารือดิฉัน และ กสทช.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ Thawatchai Jittrapanun เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสภาพการแข่งขันในตลาดกิจการโทรทัศน์ ทั้งในโทรทัศน์ระบบดิจิตอล และโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ในปัจจุบัน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ
เสร็จงานแล้ว ดีใจวันศุกร์เย็น พรุ่งนี้ขอพัก 1 วัน แล้ววันอาทิตย์ค่อยมาจับตาวาระ เตรียมการประชุมบอร์ด กสท.ของวันจันทร์นี้ค่ะ
……..
แจ้งข่าวงานสัปดาห์หน้าไว้เล็กน้อย เผื่อท่านใดสนใจ
วันที่ 30 มิ.ย. มีเวที focus group แผนเปลี่ยนผ่านสู่วิทยุดิจิตอล
วันที่ 2 ก.ค. มีเวทีพูดเรื่องกองทุน กสทช. เช้าเชิญคนที่เคยได้รับทุนแล้วมาเล่างานที่ต้องทำ ช่วงบ่ายเชิญคนที่พลาดหวังเรื่องทุนมาบ่น แล้วเสนอทางออกข้อเสนอแนะร่วมกัน
ส่วนวันศุกร์ที่ 3 ก.ค.สำนักงานกสทช. มีเวทีลงนามความร่วมมือMOUกับกองทัพบก ให้พี่ๆทหารช่วยลงพื้นที่ให้ความเข้าใจประชาชนเรื่องติดตั้งทีวีดิจิตอลเหมือนที่ทำโครงการกับทางสำนักงานอาชีวศึกษาจ้า…