วันนี้ 24 มิถุนายน 2558 คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ โดยมีนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “1 ปี มาตรฐานสัญญากับการคุ้มครองผู้บริโภค” ภายหลังจากประกาศใช้มาตรฐานสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556
ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ตลอดปี 2557 จนถึงกลางปี 2558 พบว่ามีผู้บริโภคที่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสมาชิกของโทรทัศน์ในระบบบอกรับ ร้องเรียนเข้ามาประมาณ 200 กรณี ส่วนใหญ่พบประเด็นปัญหาที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบกิจการฯ อาจจะยังไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงนโยบายเป็นภาพรวม คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้สรุปเป็นประเด็นเรื่องร้องเรียนที่พบมาก ได้แก่ 1. มีการระงับสัญญาณโดยไม่แจ้งล่วงหน้า (ข้อ 30) พบมากในบริษัท บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) 2. คืนเงินค่าบริการหรือเงินอื่นใดค้างชำระ (ค่าประกันอุปกรณ์)เกินกว่ากำหนด (ข้อ 35) พบมากในบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) 3.การเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจการให้บริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือแจ้งไม่เป็นไปตามประกาศ (ข้อ 15) พบมากในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด 4. ไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบมาตรฐานสัญญา ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ (ข้อ 8) พบมากในบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) 5.ยังมีการเรียกเก็บค่าใช้บริการในระหว่างที่ถูกระงับสัญญาณ (ข้อ 27 ) พบมากในบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) 6. มีการเรียกเก็บค่าใช้บริการเกินที่ตกลงในสัญญา (ข้อ 24) พบมากในบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน หากได้รับความร่วมมือจากประกอบการและผู้ร้องในการส่งหลักฐานข้อมูล หรือชี้แจงในประเด็นที่มีการร้องเรียน จะสามารถยุติเรื่องร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว และหากบริษัทฯ นำเรื่องร้องเรียนต่างๆ เหล่านี้นำไปปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการกับผู้บริโภค น่าจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังมีเรื่องแบบสัญญามาตรฐานที่ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีต้องส่งสัญญาให้ กสท. ให้ความเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 จนถึงปัจจุบันยังมีบางรายยังอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข และบางรายยังไม่ส่งให้สำนักงานฯ อย่างไรก็ตามในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะพิจารณาเรื่องร้องเรียนยึดรายละเอียดหรือเนื้อหาตามแบบสัญญามาตรฐานที่แนบท้ายประกาศในกรณีที่ผู้ประกอบการรายใดยังไม่ยื่นสัญญามาให้ตรวจสอบ สำหรับมาตรฐานสัญญาดังกล่าวผู้ประกอบการต้องแจ้งรายละเอียดการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการอาทิ ที่ตั้งของสำนักงาน ลักษณะประเภทบริการ ช่องรายการ คุณภาพมาตรฐานการให้บริการ กล่องรับสัญญาณ อุปกรณ์ต่างๆ ขอบเขตการให้บริการในขณะเดียวกันแบบของสัญญาต้องเป็นข้อความภาษาไทย มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร มีจำนวนตัวอักษรไม่เกิน 11 ตัวในหนึ่งนิ้ว เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถอ่านได้ชัดเจนและถูกต้องนอกจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาการให้บริการต้องแจ้งแก่ผู้ใช้บริการล่วงหน้า 30 วัน ผู้ประกอบการต้องกำหนดเงื่อนไขในกรณีมีเหตุขัดข้องต้องแจ้งระยะเวลาแก้ไขปัญหาให้ผู้ใช้บริการทราบ รวมถึงมีช่องทางให้ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนในการใช้บริการ เป็นต้น