ได้ใช้ดุลยพินิจในฐานะเป็นกรรมการองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระอย่างรอบคอบที่สุดแล้ว

Finally, I decided to vote NO to a project proposal by Govt (Water management & transportation) to borrow NBTC’s R&D Fund (for media & communication) because it is against the principles of the Fund & financial governance, also against my conscience as performing in this duty. Tho a minority voice but confident in my rationale in this regard, no matter what.

มติบอร์ดใหญ่เรื่องเห็นชอบให้คลังขอกู้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไปพัฒนาแผนการจัดการน้ำและระบบการขนส่งวันนี้ บอร์ดเสียงไม่แตกมาก แต่ไม่เอกฉันท์ 9:1

กลับบ้านมาพักใจ เป็นเสียงฝ่ายค้านโดดเดี่ยวรอบนี้ สวนกระแสสังคมอีกแล้ว แต่พิจารณาเห็นชอบให้ไม่ได้จริงๆค่ะ ด้วยเหตุผลคือมันขัดเจตนารมณ์กองทุน กสทช. และธรรมาภิบาลการใช้งบประมาณของภาครัฐ

ขนาดงบประมาณประจำปีของ กสทช. เอง 3-4 พันล้าน ไม่มีรายละเอียดการใช้งบประมาณที่ชัดเจน หรือ สัดส่วนงบไม่เหมาะสม ดิฉันยังไม่โหวตให้ผ่านเลย แต่นี่งบ 14,300 ล้านบาท ไม่มีเอกสารโครงการให้พิจารณาสักหน้า

บอร์ดได้รับเอกสารวาระเมื่อวาน วันนี้ถาม สนง.ในที่ประชุมถึงรายละเอียดโครงการจัดการน้ำและระบบขนส่ง เป็นอย่างไรบ้าง แต่ สนง.ไม่มีให้ บอกว่าเราไม่จำเป็นต้องพิจารณา เพราะ คณะรัฐมนตรี และ สำนักงบประมาณ เขาเห็นชอบมาแล้ว และผ่านบอร์ดกองทุน กทปส. มาแล้ว …เราไม่ต้องรู้ จริงหรือ?

ยอมรับว่าแม้จะทำใจได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของระบบราชการไทยจริงๆ บางเรื่องมันดูง่ายเสียจนไม่มีหลักยึดอะไรเลย

ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้สะท้อนภาพรวมการทำงานของระบบราชการในประเทศนี้ คงไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะใน กสทช. ที่เดียว แต่เป็นธรรมาภิบาลของระบบที่เบาหวิว

เงินกองทุนวิจัยและพัฒนาเป็นเงินแยกออกมาอีกก้อนที่ภาคเอกชนคือผู้รับใบอนุญาตทีวีและโทรคมนาคมต้องจ่ายเพิ่มเพื่อกลับมาพัฒนาวงการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม แยกจากเงินประมูลที่ต้องส่งเข้าคลังไปแล้ว

ผู้รับใบอนุญาตต้องจ่ายเงินให้รัฐ 3 ก้อน

  1. เงินค่าประมูลคลื่นที่ส่งเข้าคลัง
    2. เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตร้อยละ 2 เข้า สนง.กสทช.
    3. เงินร้อยละ 2 เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการสื่อและโทรคมนาคม
  2. เงินกองทุน กสทช. ดังกล่าวคือเงินก้อนที่เตรียมจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างบรอดแบนด์ให้คนในชนบทเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสารสนเทศและอินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึง หรือเรียกสั้นๆว่ากองทุน USO – Universal Service Obligation

เงินกองทุนฯ ที่ควรส่งเสริมให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านถนนสารสนเทศในยุคดิจิทัล  กลายมาเป็นการส่งเสริมการเข้าถึง ‘ถนน’ จริงๆ

ถ้าจะส่งเสริมการเข้าถึง ถนน มากขึ้น ควรจะไปเก็บเงินค่าธรรมเนียมคนที่ใช้รถมากขึ้น ไม่ตรงกว่ามาเก็บค่าธรรมเนียมที่มาจากรายได้ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือ

พรบ. กสทช. เขามีที่มาที่ไป ว่าทำไมเขาถึงต้องเก็บเงินจากคนทำทีวีและบริษัทมือถือเพิ่มอีกก้อนจากเงินค่าประมูลคลื่น เพื่อมาทำกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมและสิทธิ์การเข้าถึงสื่อของประชาชน ไม่ใช่จะนำไปใช้อะไรก็ได้

ถ้าจะกู้เงินไปพัฒนาระบบขนส่ง สมัยเมื่อดิฉันเป็นนักศึกษาไปออกค่าย อาจพอเข้าใจได้ แต่ยุคนี้ กองทุน กสทช. ควรไปพัฒนาถนนสู่สารสนเทศแล้ว

ถ้า กองทุน กสทช.เหลือจากการนำไปพัฒนาบรอดแบนด์ในชนบท
เหลือจากแจกกล่องและสายอากาศทีวีดิจิตอลให้ครัวเรือนทั่วถึง
เหลือจากการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตรายการในประเทศดีๆ
เหลือการการส่งเสริมองค์กรวิชาชีพ
เหลือการจากส่งเสริมการเข้าถึงคนพิการ
เหลือจากการคุ้มครองผู้บริโภค และ ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อแล้ว

ถ้า ครม. จะขอนำไปใช้เพื่อกิจการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ กสทช. ก็ยังพออนุโลมให้ได้

 

เวลานี้โครงการ USO เพื่อพัฒนาอินเทอร์เน็ตในชนบทก็ต้องชะลอไปก่อน จริงๆก็ถูกชะลอตั้งแต่ มีประกาศ คสช. สั่งระงับโครงการแล้ว การระงับโครงการ กองทุน กสทช. เพื่อตรวจสอบการใช้งบ อันนี้ยอมรับได้ แต่การจะให้เห็นชอบสนับสนุนงบโครงการใหม่ของรัฐบาล กสทช. ก็ควรต้องใช้ดุลยพินิจที่รอบคอบด้วย บนหลักธรรมาภิบาลการใช้งบประมาณ ไม่ได้บอกว่ารัฐไม่ควรพัฒนาระบบขนส่งเพิ่มเติม (เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดโครงการ) แต่ก็ไม่ควรใช้กองทุน กสทช. ส่วนโครงการจัดการน้ำ ไม่แน่ใจว่าใช่โครงการที่กลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนเคยวิจารณ์มาก่อนหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดโครงการเลย คงต้องดูว่าจะกระทบชาวบ้านไหม หมายถึงการจะสร้างเขื่อนเพิ่มอีกหรือไม่

ท่านใดที่พอมีข้อมูล รายละเอียดโครงการจัดการน้ำและระบบขนส่งที่ ครม. ขอกู้เงิน กสทช. จากกองทุนดังกล่าว รบกวนส่งให้ด้วยนะคะ

เมื่อ สนง. บอกว่า โครงการนี้ผ่านสำนักงบประมาณ ผ่าน ครม. และ ผ่านบอร์ดกองทุน กทปส. มาแล้ว ดังนั้น บอร์ด กสทช. มีหน้าที่เพียงลงมติเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ได้เท่านั้น

ดังนั้นดิฉันจึงลงมติไม่เห็นชอบ

เหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ดิฉันจะทำบันทึกเปิดเผยความเห็นในรายงานการประชุมต่อไป อ่านได้ที่หน้าเว็บ กสทช.ค่ะ

ทราบดีกว่า การแสดงจุดยืนครั้งนี้ โดยเฉพาะผ่าน Twitter คงเจอแรงเสียดทานหนักอีก
แต่ขอให้รับรู้ว่าดิฉันได้ใช้ดุลยพินิจในฐานะเป็นกรรมการองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระอย่างรอบคอบที่สุดแล้ว

ที่อินมาก ก็เพราะในอดีตมีส่วนร่างและผลักดันหลักการของกองทุนดังกล่าวใน พรบ.กสทช. ด้วย แต่วันนี้เจตนารมณ์มันถูกเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่า สนง.จะอ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะแม้ว่าใน พรบ. กสทช. จะไม่เปิดช่องไว้ให้ไปทำอย่างอื่น แต่ สนง.ก็อ้างถึง ประกาศ คสช. ฉบับที่ 80 ที่มาแก้ไขมาตรา 52 ของ พรบ.กสทช. ในส่วนของวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุน ดังนั้นถ้าอ้างว่าไม่ขัดหลักกฏหมาย เพราะเป็นกฏของอำนาจรัฏฐาธิปัตย์
แต่ในแง่เจตนารมณ์ และธรรมาภิบาล ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รู้ตัวเองดีว่า คงไม่ค่อยมีอนาคตในระบบราชการนัก วันเวลาที่เหลือก็จะทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มที่ที่สุด ดิฉันเชื่อเสมอมาว่า เมื่อเราปกป้องหลักการ หลักการก็จะปกป้องเรา

ความพยายามจึงเป็นเรื่องของมนุษย์ ที่เหลือคงเป็นลิขิตแห่งฟ้า

……

ก่อนนอนคืนนี้คงได้แต่ภาวนาว่า เงินกองทุน กสทช. 14,300 ล้านดังกล่าวจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าและโครงการจัดการน้ำดังกล่าว จะไม่ใช่แผนคืนชีพการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่กระทบระบบนิเวศ และ ชุมชนอีก

โปรดช่วยกันจับตาทั้ง ครม. และ กสทช. ค่ะ

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณาโดยทั่วกัน…