11 June 58
Summary from a public forum today on the revision for immediate action towards the Roadmap for a transition of digital TV. Got many recommendations. A working group of all stakeholders is urged to set up soon.
More to act and follow up.
สรุปงานวันนี้ จริงๆมีสองงานใหญ่คือเวทีแก้ พรบ.กสทช. ฉบับใหม่และเวทีแก้ปัญหาดิจิตอล แต่ตนเองไปได้เวทีเดียวตามที่ข่าวออกไป วันนี้ขอเรียกว่าเป็นการประชุมแม่น้ำแม่น้ำ 5 สายเรื่องทีวีดิจิตอลก็ว่าได้ รวมตัวกันโดยนัดหมายคือ
รัฐ -โครงข่าย – กล่อง – ช่อง- ผู้บริโภค เวทีร้อนแรงแต่ได้เรื่องได้ราว
วันนี้ทุกฝ่ายเสนอให้ กสทช.จัดตั้งกลไกในนามคณะทำงานร่วมเพื่อบูรณาการแก้ปัญหาของแต่ละปม และมองไปข้างหน้าร่วมกัน
ข้อเสนอที่สรุปให้ กสทช.ทำงานต่อในเวทีคือ
1.ตั้งคณะทำงานร่วมแม่น้ำ 5 สาย
2.เร่งแผนการยุติอนาล็อก
3.ขยายสิทธิ์การเข้าถึงกล่องดิจิตอล
เรื่องคณะทำงานร่วมเป็นหน้าที่ สนง. กสทช. ต้องเซ็นแต่งตั้ง
เรื่องแผนยุติอนาล็อกเป็นงานของบอร์ด กสท.ต้องตัดสินใจ
เรื่องขยายสิทธิ์คนเข้าถึงคูปองหรือกล่องทีวีดิจิตอลเป็นอำนาจ คสช.ต้องอนุมัติให้ กสทช.ด้วย
ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันเร่งแก้ปัญหา มันก็จะคลายปมไปได้ ถือว่าแปรวิกฤตเป็นโอกาส ไม่ใช่แปรวิกฤตเป็นวิกฤต ทุกฝ่ายยังมีความหวังถึงทางออกดีๆร่วมกัน
ในวิกฤตมันก็มีข้อดีคือสร้าง momentum บีบให้ทุกฝ่ายตื่นตัวถึงหน้าที่ของตนเอง ถ้าไม่มีวิกฤตเลยจะดีมากที่สุด แต่ถ้ามีแล้วก็ต้องแปรมันเป็นโอกาสให้ได้
งานติดตามปัญหาคูปอง-กล่อง จริงๆเป็นหน้าที่ของสำนักงาน แต่ถ้าบอร์ดมีเวลา ดิฉันจะลงมาช่วยงานใกล้ชิดมากขึ้นในคณะทำงานที่จะจัดตั้ง แต่เราก็ต้องมีสมาธิในงานด้านนโยบายที่ต้องตัดสินใจหลายเรื่องด้วย
คือบอร์ดจะมาลงรายละเอียดงานรูทีนทุกวันคงไม่ได้ ยังมีปัญหาเชิงนโยบายที่ต้องคิด วิเคราะห์วางแผน และ ตัดสินใจอีกหลายเรื่อง แต่ก็ต้องช่วยกันทั้งบอร์ด และ สำนักงาน
อาทิ เรื่องราคาโครงข่าย แผนยุติอนาล็อก นโยบายมัสต์แครี่ เรียงช่องและอื่นๆอีกมากที่ยังต้องแก้ปมระดับนโยบาย ก็เป็นงานของบอร์ดต้องเร่งตัดสินใจ
วันนี้ได้ฟังตัวแทนของโครงข่ายดิจิตอลทีวี แม้เบาใจได้เรื่อง 39 สถานีหลักที่จะครบในเดือนนี้ แต่ก็มีเรื่องน่ากังวลต้องเร่งเคลียร์คือปัญหาการติดตั้งสถานีเสริม ที่ต้องเช่าเสาจากรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคม เช่น TOT/CAT ที่อาจมีประเด็นยุ่งยาก ทาง กสท. Thawatchai Jittrapanun รับปากจะช่วยลงไปประสานหารือให้ จะได้เร็วขึ้น
เพราะถ้าวางสถานีเสริมจุดบอดในอาคารได้ตามแผนโครงข่าย MUX สัญญาณทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินก็จะฉ่ำมากขึ้น และ พร้อมสำหรับการดูในจุดอับสัญญาณ ที่จะพัฒนาเป็นโมบายทีวี (Mobile TV) ได้ด้วย
ดิจิตอลทีวีอาจยังไม่ได้เป็นคำตอบในปัจจุบัน แต่ถ้าทำงานได้ตามแผนโรดแมป มันก็จะเป็นคำตอบในอนาคต คือฟรีทีวีเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทส แพลทฟอร์มทีวีอื่นที่เหลือจะเป็นเสริม
เปรียบได้แม้ว่าคนไทยจะมีทางเลือกเป็นสายการบินโลว์คอสมากขึ้นแล้ว แต่เราก็ต้องไม่ละเลยที่จะพัฒนารถไฟ เพราะมันเป็นปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่สำคัญ
เคยเปรียบไว้ว่า ทีวีดาวเทียมเหมือนสายการบินโลว์คอส เคเบิลทีวีเป็นรถทัวร์ ส่วนฟรีทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินคือรถไฟ อย่าทำให้ฟรีทีวีเฉาลงไปเหมือนรถไฟ
รถไฟไทยก็คล้ายทีวีอนาล็อก เป็นผลพวงจากอดีตในยุคสัมปทาน ถ้าเราไม่อยากพัฒนารถไฟไทยเพราะคิดว่าคนไทยมีทางเลือกเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ รถทัวร์ หรือ รถยนต์ส่วนตัวแล้ว มันก็จะเสียโอกาสในการพัฒนามาก
การพัฒนาฟรีทีวีดิจิตอลในเมืองไทย ก็คงไม่ถึงขั้นเปรียบการยกระดับรถไฟไทยเป็นรถไฟความเร็วสูงหัวกระสุน ขอแค่ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานก็ประเทศไทยก่อนก็พอ เน้นที่คุณภาพทั้งเทคโนโลยีและเนื้อหา เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก
เพราะทางเลือกอำนาจของผู้บริโภค
การเกิดขึ้นของฟรีทีวีดิจิตอล ก็ทำให้ทีวีดาวเทียม เคเบิล และทีวีรายเดิมต้องปรับตัวเองมาก อยู่เฉยๆแบบเดิมไม่ได้ กล่องดาวเทียวที่เคยหลักหลายพัน วันนี้กล่องที่ดูไฮเดฟ (HD) ได้ลงต่ำกว่าห้าร้อยบาทแล้วตามกลไกตลาดที่ถูกออกแบบมาให้เกิดการแข่งขัน
ยังมีงานอีกหลายเรื่องที่องค์กรกำกับต้องทำเพื่อให้เป็นไปตามโรดแมป แต่ก็ต้องปรับหลายอย่างหลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หวังว่ากลไกคณะทำงานแม่น้ำห้าสายนี้จะเป็นความหวังที่จะแก้วิกฤตร่วมกันค่ะ
พรุ่งนี้กลางวันมีประชุมภายในกับสำนักงาน เรื่องแผนยุติทีวีอนาล็อก
ช่วงเย็นมีประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. ร่วมกับบอร์ดกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ
แล้วจะมาอัพเดทต่อไปค่ะ….